เงินเฟ้อ ม.ค.2564 ลบ 0.34% | เชื่อมั่นธุรกิจต่ำหลุดระดับ 50 | ธอส.อั้นดอกเบี้ยบ้านตลอดปีนี้

เงินเฟ้อ ม.ค.2564 ลบ 0.34%

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2564 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใช้ปีฐานใหม่ปี 2562 และเพิ่มรายการสินค้าในตะกร้าเป็น 430 รายการ จากเดิม 422 รายการ ลดลง 0.34% เทียบมกราคม 2563 มาจาก 3 ปัจจัยหลักทำให้เงินเฟ้อลดลง คือ ราคาพลังงานยังต่ำกว่าปีก่อนหรือลดลง 4.82% แม้เดือนธันวาคมราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรลง 15.32 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่เมษายน 2564 และข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว มีราคาลดลง ทั้งนี้ เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน) เดือนมกราคม 2564 เพิ่มขึ้น 0.21% เทียบมกราคมปีก่อน

 

จ่อแบล๊กลิสต์โซลาร์สูบน้ำฉาว

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้เงินโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในภาคเกษตร (โซลาร์สูบน้ำ) จากกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2562 ภายหลังมีกระแสวิจารณ์ความผิดปกติในบางโครงการ ว่า ล่าสุดได้สั่งการให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยคณะทำงานกำกับติดตามผลการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ มีนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการโซลาร์สูบน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนตั้งแต่ปี 2558-2562 พลังงานจังหวัดจะดูฐานข้อมูลว่ามีหน่วยงานใดได้งบฯ ตั้งอยู่ที่ไหน จะนำมาพิจารณา เอามาสรุป วิเคราะห์ว่าจะเป็นอย่างไร หากสร้างไม่เสร็จตามกำหนดให้นำโครงการกลับมาดู ถ้าถูกร้องเรียน ไม่ชอบมาพากล จะถูกขึ้นบัญชีดำ หรือแบล๊กลิสต์ จะถูกเรียกเงินคืน ไม่ให้เงินอีก แต่กรณีโครงการเสร็จแต่ใช้การไม่ได้ กระทรวงจะแก้ไขให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์

เชื่อมั่นธุรกิจต่ำหลุดระดับ 50

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนมกราคม 2564 ลดลงจากระดับ 46.8 ในเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 44.2 และเป็นการปรับลดลงทุกองค์ประกอบ ซึ่งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคที่มิใช่การผลิต ลดลงมากกว่าภาคการผลิต เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากกว่า ทั้งนี้ ดัชนีของภาคที่มิใช่การผลิต ลดลงมากและอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ในทุกธุรกิจ ยกเว้นบริการทางการเงิน โดยความเชื่อมั่นกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร ขนส่งผู้โดยสาร รวมถึงภาคค้าปลีก ลดลงไประดับใกล้เคียงกับช่วงมีนาคม 2563 ที่มีโควิด-19 ระบาดรอบแรก ขณะที่ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ สะท้อนต้นทุนเฉลี่ยต่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากราคาน้ำมันสูงขึ้นและจำนวนผู้โดยสารลดลงมาก สำหรับภาคการผลิตความเชื่อมั่นลดลงจากกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์และกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ

 

ธอส.อั้นดอกเบี้ยบ้านตลอดปีนี้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ยังไม่มีนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านตลอดทั้งปีนี้ และน่าจะคงในระดับต่ำมากต่อไปอย่างน้อย 2-3 ปี ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับคนต้องการมีบ้านที่จะหาซื้อที่อยู่อาศัยของตัวเอง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งราคาที่อยู่อาศัยยังไม่แพง โดยเฉพาะบ้านใหม่ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะระบายออกมา โดยแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยนั้น เชื่อว่ายังไม่ปรับตัวขึ้น เพราะราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังใช้ราคาประเมินเดิม ประกอบกับมีการจำหน่ายเพื่อระบายที่อยู่อาศัยในระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเภทคอนโดมิเนียม อาคารชุดในแถบชานเมืองที่มีราคาน่าสนใจ เพราะปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้าไปถึงแล้ว และราคายังต่ำกว่าคอนโดมิเนียมในเมืองประมาณครึ่งหนึ่ง

 

ปี ’63 อีวีวิ่งบนถนนพุ่ง 2,000 คัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คาดว่าระหว่างปี 2564-2566 มีแนวโน้มที่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเติบโตแบบก้าวกระโดดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.รถยนต์มีให้เลือกมากขึ้นและราคาถูกลง 2.สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 3.รัฐสนับสนุน สอดรับกับทิศทางของยานยนต์โลก และย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมายานยนต์ไฟฟ้ารถนั่งไม่เกิน 7 คนในปี 2561 มียอดขายแค่ 600 คัน ปี 2562 อยู่ที่ 802 คัน และปี 2563 มียอดขายเพิ่มเป็น 2,079 คัน ส่วนปี 2564 เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องจากการส่งเสริมของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม แม้อีวีจะมาแรงแต่ปริมาณยังน้อยเมื่อเทียบกับยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันในไทย ที่ผ่านมาผู้ใช้อีวีจึงเป็นกลุ่มคนมีฐานะเพราะชอบเทคโนโลยี

แต่คาดว่าอนาคตราคาจะถูกลง โดยปี 2563 การผลิตอีวีของไทยอยู่ที่ 1,277 คัน