พายเรือในอ่าง–เหนื่อย / หลังลับแลมีอรุณรุ่ง ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

พายเรือในอ่าง–เหนื่อย

 

สักยี่สิบปีเศษมาแล้วเห็นจะได้

ผมเดินทางไปเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าเป็นครั้งแรก

ระหว่างเส้นทางจากสนามบินไปโรงแรมที่พัก ข้าราชการไทยที่รับราชการอยู่ในสถานทูตที่เมืองนั้นผู้กรุณามารับที่สนามบินได้อธิบายถนนหนทางและสถานที่ต่างๆ สองข้างทางไปเรื่อยตามธรรมเนียมของเจ้าถิ่นที่ดี

ช่วงหนึ่งขณะที่รถของเราวิ่งผ่านหน้าบริเวณมหาวิทยาลัย คุณเจ้าถิ่นก็บอกว่านี่คือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของพม่า

ผมเองเวลานั้นยังทำงานอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เหลียวซ้ายแลขวาเป็นการใหญ่ นึกเปรียบเทียบกับละแวกสามย่านของเราว่าของใครจะครึกครื้นตื่นเต้นกว่ากัน

เมื่อกวาดสายตาไปทั่วแล้วกลับรู้สึกว่าช่างเงียบเหงาเสียเหลือเกิน นิสิต-นักศึกษาหายไปไหนหมดก็ไม่รู้ ผมจึงออกปากถามเขาว่าทำไมคนน้อยเหลือเกิน

คุณเจ้าหน้าที่บอกว่าตอนนี้เขาปิดเทอม

ผมให้อยากรู้ต่อไปอีกว่าเทอมเขาเปิดเดือนไหนปิดเดือนไหน และปิดภาคเรียนแต่ละครั้งยาวนานแค่ไหน ก็เลยถามว่าแล้วนี่ปิดเทอมมานานเท่าไหร่แล้ว

คำตอบที่ได้รับคือ ปิดมานานหลายปีแล้วและยังไม่มีกำหนดเปิด

หัวเราะก็ไม่ได้ ร้องไห้ก็ไม่ออกกันเลยทีเดียว

 

สงสัยมหาวิทยาลัยเมืองพม่าเวลานี้ใกล้จะปิดเทอมแบบที่ว่าอีกแล้วกระมังครับ การรัฐประหารในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิดติดกันกับเราครั้งนี้ เป็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่จับตามองของชาวโลกรวมทั้งพวกเราชาวไทยด้วย

ผมไม่ได้มีความสันทัดกรณีในเรื่องการเมืองของประเทศพม่าสักเท่าไหร่

ขนาดเรื่องการเมืองของไทยเราเองผมยังไม่ค่อยรู้เลยครับ ฮา!

ขณะที่เขียนหนังสืออยู่นี้ เป็นเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2564 เป็นกำหนดครบรอบสามสิบปีของรัฐประหารครั้งหนึ่งในจำนวนหลายครั้งที่ผมเคยพบเห็นมาในชีวิต

เรามาทบทวนประวัติศาสตร์กันไหมครับ ว่าชีวิต 60 ปีเศษของผม ผมได้เห็นการพายเรือในอ่างกันมากี่รอบแล้ว

 

การรัฐประหารครั้งแรกที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผมน่าจะเป็นการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ในเวลานั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

เวลานั้นผมยังเป็นเด็กมาก อายุแค่ประมาณสามขวบ จึงไม่รู้สี่รู้ห้าอะไรกับใครเขา รู้แต่ว่าเมื่อจำความได้จอมพลสฤษดิ์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ และต่อตามด้วยจอมพลถนอม กิตติขจร มาอีกยาวนาน

จนกระทั่งถึงพุทธศักราช 2514 ผมจึงรู้จักกับการรัฐประหารแบบจับต้องได้จริงๆ

ใช่ครับ ผมหมายถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ที่มีจอมพลถนอมเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ เข้ายึดอำนาจจากจอมพลถนอม คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี

เวลานั้นผมยังเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยม ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรมากนักเกี่ยวกับเรื่องการเมืองของเมืองไทย ระหว่างนั้นก็งงๆ ไปก่อนก็แล้วกัน

ต่อมาผมได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาตามลำดับเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้วปีปฏิทินก็หมุนผ่านไปจนถึงปี 2519 เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคมของปีนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน

เวลาค่ำวันเดียวกันนั้น การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งก็เกิดขึ้น โดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งเรียกชื่อให้ไพเราะเพราะพริ้งว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

ถัดมาเพียงไม่กี่วัน คณะปฏิรูปฯ ได้จัดการให้อาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้นอีกเพียงแค่ปีเดียว ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 รัฐบาลของอาจารย์ธานินทร์ก็ถูกรัฐประหารตกจากเก้าอี้ โดย พล.ร.อ.สงัดเจ้าเดิมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (อีกแล้วครับท่าน!)

การรัฐประหารสองรอบที่ว่านี้ เกิดขึ้นในเวลาที่ผมเป็นนิสิตชั้นปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย และมีฐานะเป็นบัณฑิตจบการศึกษามาหมาดๆ ตามลำดับ ความรู้และหูตาก็ยังไม่ได้กว้างไกลเท่าไหร่นัก

ส่วนได้ส่วนเสียหรือความสามารถที่จะไปวิเคราะห์วิจารณ์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดีหรือไม่ดีอย่างไร จึงออกจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินตัวผมอยู่ไม่ใช่น้อย

ผมจึงอยู่ในฐานะผู้ดูหรือผู้สังเกตการณ์เสียมากกว่า

 

หลังจากการรัฐประหารในเดือนตุลาคม ปี 2520 แล้ว เมืองไทยของเราเว้นว่างการทำรัฐประหารที่ประสบผลสำเร็จมาเป็นเวลาถึง 14 ปี

แม้ว่าระหว่างนั้นจะมีความพยายามทำรัฐประหารแบบโกลาหลอึกทึกอยู่สองครั้ง ที่คนรุ่นผมเรียกว่า เมษาฮาวายคราวหนึ่ง และเก้ากันยาไม่มาตามนัดอีกคราวหนึ่ง แต่ทั้งสองครั้งก็ได้มีฐานะเป็นกบฏไปอย่างเต็มภาคภูมิ

ย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองแบบดีแล้วจึงกล่าวได้ว่า ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2520 จนถึงต้นปี 2534 เป็นเวลานานถึงสิบสี่ปี ประเทศไทยของเราไม่มีการทำรัฐประหารที่ประสบผลสำเร็จเลย

ต้องถือว่าเป็นเวลาที่นานโขครับ ที่กลไกการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นครึ่งใบค่อนใบหรืออะไรก็แล้วแต่ ตามที่เรียกขานกันอยู่ในเวลานั้น ได้เดินไปต่อเนื่องโดยไม่สะดุดหยุดลง

จากชีวิตการเป็นนิสิตนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ มาถึงปี 2534 ผมเป็นอาจารย์มาได้สิบเอ็ดปีแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้อิ่มเอมเปรมใจกับสภาพการเมืองไทยเวลานั้นในทุกเรื่อง แต่ผมก็มีความรู้สึกดีใจอยู่ลึกๆ ว่า การเมืองบ้านเราจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่รูปแบบที่เราคาดหวังในความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยลำดับ

ไม่ใช่เดินหน้าสองก้าวแล้วถอยหลังไปสามก้าวอย่างที่เคยเป็นมาแล้วเมื่อตอนผมเป็นเด็ก

ยังจำได้ว่าวันที่มีการยึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะบุคคลที่เรียกชื่อตัวเองว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนสายๆ กว่าจะเป็นที่รู้กันทั่วไปก็ตกบ่ายแล้ว

ผมกำลังพานิสิตคณะนิเทศศาสตร์ไปทัศนศึกษาวิชาวัฒนธรรมไทยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังเดินดูวัดสุวรรณดารารามอยู่เพลิดเพลินทีเดียว

พอมีคนมาแจ้งข่าวให้ทราบก็รู้สึกง่อยเปลี้ยเสียขาขึ้นมาเสียอย่างนั้น หัวใจมันหมองลงไปโดยกะทันหัน ได้แต่ถามตัวเองว่า

“เอาอีกแล้วหรือ?”

การบรรยายช่วงบ่ายหลังจากนั้นช่างจืดชืดเสียนี่กระไร

 

หนึ่งปีเต็มหลังจากวันนั้น วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2535 ผมกำลังทำวิจัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ผมได้รับเชิญจากสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นให้ไปบรรยายพิเศษให้นักเรียนไทยทั้งหลายฟังที่กรุงโตเกียว ผู้เชิญอนุญาตให้ผมคิดหัวข้อเองได้ตามใจชอบ

ผมยังจำได้ดีว่าผมใช้หัวข้อบรรยายวันนั้นว่า “บ้านเมืองก็ของเรา”

เพราะผมเห็นว่า เมืองไทยเป็นของเราทุกคน ไม่ใช่ของคนหมู่ใดกลุ่มใดจะมามีสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอื่น เราพึงรับผิดชอบในอนาคตของบ้านเมืองร่วมกัน เสมอกัน

นักเรียนนักศึกษาที่ฟังผมพูดวันนั้นจะรู้สึกอย่างไรผมตอบไม่ได้

แต่สำหรับคนพูดแล้วรู้สึกโล่งอกที่ได้พูดอะไรที่กลัดกลุ้มรำคาญใจออกไปเสียบ้าง

 

ถัดจากปี 2534 ไปอีกสิบห้าปี การปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 วันเกิดเหตุยึดอำนาจ ที่เมืองไทยเป็นเวลาค่ำแล้ว เวลานั้นผมรับราชการเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศเพื่อไปบรรยายพิเศษ เรื่องการจัดการกับปัญหากฎหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ ให้ที่ประชุมของเนติบัณฑิตยสภาแห่งสหรัฐอเมริกา ที่นครชิคาโกเขาฟัง

ตื่นมาตอนเช้าประมาณ 7 โมงที่โรงแรม ผมเปิดโทรทัศน์ดูข่าวสารบ้านเมือง เห็นภาพข่าวจากบ้านเรามีรถถังวิ่งไปมาพร้อมกับข่าวว่ากองทัพทำรัฐประหารแล้ว

อาการเซ็งก็เข้ามาจับหัวใจตามเคย

ตลอดชีวิตของผม ผมเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้องใช้เวลาในการพัฒนา และก้าวเดินไปข้างหน้า

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยพบว่า การกระทำรัฐประหารสามารถแก้ปัญหาอะไรได้อย่างจริงจัง

มิหนำซ้ำ ยังอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เพิ่มหนักขึ้นด้วย

สายวันนั้นผมออกจากโรงแรมไปยังที่ประชุม ด้วยใบหน้าซีดเซียวและหัวใจที่แห้งแล้ง

นักกฎหมายชาวอเมริกันและจากอีกหลายประเทศเข้ามาสอบถามข่าวคราวเมืองไทยของเราด้วยความเป็นห่วง

ผมผู้อยู่ห่างไกลบ้านก็ได้แต่พูดอะไรอ้อมๆ แอ้มๆ ไปเท่านั้น

 

สังเกตไหมครับว่า ถ้าเรียงลำดับการเกิดรัฐประหารในประเทศไทยที่ผมผ่านพบมาหลายครั้งเต็มที แต่ละครั้งผมพบว่าผมเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จากฐานะนิสิตปีสี่ มาเป็นบัณฑิต เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในระบบราชการตามลำดับ

ขณะที่ผมเปลี่ยนฐานะและเพิ่มพูนประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมยังไม่สามารถทำใจให้คุ้นเคยกับการรัฐประหารได้สักที ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารที่ประเทศไหนก็ตาม

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ครบรอบ 30 ปีบริบูรณ์นับตั้งแต่อาการเซ็งในหัวใจของผมเกิดขึ้นที่วัดสุวรรณดารารามคราวนั้น

สำหรับคนอายุเลยวัยเกษียณมาหลายปีแล้ว สุขภาพกายสุขภาพใจทำให้รู้ว่าการพายเรือในอ่างนี้เหนื่อยน่าดู แต่ก็แปลกที่ยังมีคนชอบพายแบบที่ว่าอยู่เสมอ

มีคนบอกว่านายพลที่เมืองพม่าชอบพายเรือเหมือนกันเนอะ