เมื่อผลไม้พิษออกฤทธิ์อีกครั้ง พปชร.จับมือ ส.ว.ปกป้อง รธน. เกมยื้อเตรียมเรียกแขกคัมแบ๊ก / บทความพิเศษในประเทศ

บทความพิเศษในประเทศ

 

เมื่อผลไม้พิษออกฤทธิ์อีกครั้ง

พปชร.จับมือ ส.ว.ปกป้อง รธน.

เกมยื้อเตรียมเรียกแขกคัมแบ๊ก

ลงมติเป็นที่เรียบร้อยกับญัตติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ ด้วยมติเห็นด้วย 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 316 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง โดยเป็นการใช้เสียงกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมที่มีอยู่ทั้งหมด

โดยองค์ประชุมในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีผู้แสดงตน 697 คน ซึ่งกึ่งหนึ่งขององค์ประชุมคือ 349 คน ซึ่งมติ 366 เป็นการเฉือนฝ่ายไม่เห็นด้วยไปเพียง 17 เสียง ไม่นับพวกที่ขาดประชุมอีกราว 50 คน เพราะถ้าหากมาครบทั้งรัฐสภา รับรองว่าเสียง 366 คนนั้นแพ้แน่

ว่ากันว่า ก่อนที่จะมีการลงมติ 1 วัน คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ไฟเขียวให้ฝ่ายรัฐบาลฟรีโหวต

แต่ภายใต้การฟรีโหวต กลับมีโทรศัพท์สายตรงจากพี่ใหญ่แห่งรัฐบาล โทร.ไปยังแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลพรรคต่างๆ เพื่อขอคะแนนให้กับการโหวตเห็นด้วยกับการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อให้เห็นความเป็นเอกภาพของ ส.ส.ซีกรัฐบาล

สุดท้ายหาเป็นเช่นนั้นไม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา กลับมีมติพรรคให้คว่ำญัตติดังกล่าว

เพราะพรรคร่วมรัฐบาลต่างเห็นด้วยกับการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาถึงค่อนทางแล้ว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ผ่านวาระที่ 1 รับหลักการ และตั้งกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) มาจนถึงขั้นตอนที่กรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ

จะสรุปและนำกลับเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้แล้ว

 

สําหรับผลการลงมติเห็นชอบญัตติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ในครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐแพ็กกับสมาชิกวุฒิสภาและร่วมรัฐบาลพรรคเล็ก อันประกอบไปด้วย พรรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยรักธรรม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลเมืองไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ ร่วมกันลงมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าว

แต่ก็ยังมี ส.ว.บางคนที่งดออกเสียง จำนวน 7 คน อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายอำพล จินดาวัฒนะ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เป็นต้น

ในขณะที่การลงมติไม่เห็นด้วย ประกอบด้วย พรรคฝ่ายค้านทุกพรรคลงคะแนนอย่างพร้อมเพรียง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ยกเว้นนายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นหนึ่งเดียวที่โหวตสวนมติพรรค โดยโหวตลงมติเห็นด้วย ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งพรรคกับการโหวตไม่เห็นด้วย

ขณะที่ ส.ส.พรรคชาติพัฒนา จำนวน 4 คน งดออกเสียง ส่วนพรรคเศรษฐกิจใหม่ เสียงแตก มีผู้ลงมติเห็นด้วย 1 คน ได้แก่ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรค ลงมติงดออกเสียง 4 คน และลงมติไม่เห็นด้วย 1 คน คือนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ส่วนผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นงูเห่า ที่มักจะโหวตสวนมติของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี รวมถึงนายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ไม่ได้อยู่ร่วมในที่ประชุม

 

ทั้งนี้ ในการอภิปรายที่ผ่านมา นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุชัดเจนว่า “บ้านเมืองกำลังมีความหวังที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน แต่รัฐสภากลับทำให้ความหวังของประชาชนล่มสลาย”

เป็นภาพที่เห็นชัดสุด

ชัดสุดคือภาพของพรรครัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ต้องการที่จะไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแสดงความต้องการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเป็นเพียงละครหลอกเด็ก

หลอกเด็กเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ที่ก่อตัวขึ้นและขยายออกเป็นวงกว้าง จนสภาได้มีการตั้งกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา กระทั่งพิจารณาแล้วเสร็จ จนม็อบเริ่มแผ่ว แต่เมื่อจะนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา กลับมีการเสนอตั้งกรรมาธิการชุดใหม่ โดยอ้างว่า ส.ว.ยังไม่ได้มีการร่วมศึกษาพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ จนมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาอีก เป็นการยื้อการแก้รัฐธรรมนูญออกมาอีกครั้ง

จนผู้ชุมนุมเริ่มประชิดรัฐสภา ถามหาความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ

ละครฉากใหญ่จึงเริ่มขึ้นอีก ในการตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ของฝ่ายรัฐบาลและของฝ่ายค้าน ส่วนร่างของประชาชนที่ร่วมลงชื่อกว่า 2 แสนคน หรือร่างไอลอว์ เป็นอันต้องตกไป

เมื่อการพิจารณาแก้ไขมาตรา 256 เริ่มขึ้น เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กลับมีการเสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210(2) จะสามารถทำได้หรือไม่

และเมื่อกรรมาธิการพิจารณาเห็นชอบให้มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน และพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญครั้งถัดไปจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา ในวาระ 1 และวาระ 3 ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ถูกรวบรวมคำแปรญัตติออกมาเป็นรูปเล่ม เตรียมเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา

ก็ต้องมาถูกสกัดอีกครั้งด้วยมติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

 

แม้นายไพบูลย์ นิติตะวัน จะระบุว่าการส่งศาลตีความ ไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องชะงักลง การพิจารณายังคงเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ต้องหยุดพิจารณาแต่อย่างใด

แต่อะไรจะเป็นหลักประกันได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร

ดังนั้น นี่จึงเป็นเกมการเมืองที่ผู้มีอำนาจจงใจที่จะยื้อรัฐธรรมนูญไว้จนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อใช้เสียง ส.ว.เลือกนายกฯ คนเดิมอีกครั้ง หรือไม่

หากเป็นเช่นนั้นจริง การกระทำดังกล่าว จะยิ่งเป็นการกวักมือเรียกให้ผู้ชุมนุมออกมารวมตัวกันอีกครั้ง

เพราะไม่เพียงแต่ผู้ชุมนุมเท่านั้น ฝ่ายค้าน ขนาดพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ ยังต้องการที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดข้อครหารัฐธรรมนูญที่เป็นผลไม้พิษ มีรากเหง้ามาจากการรัฐประหาร

และรัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมาจากรากเหง้าเดียวกัน

จึงเห็นได้ชัดว่าพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใหญ่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหาเสียง

จึงไม่แปลกที่พี่ใหญ่แห่งรัฐบาลจะไม่ได้รับความร่วมมือ

ทว่าถึงแม้พรรคร่วมรัฐบาลจะโหวตสวนกับพรรคแกนนำ ก็ไม่ได้ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลกระเทือนแต่อย่างใด ตราบใดที่ไม่กระทบเก้าอี้รัฐมนตรี…