หลักสำคัญที่ควรทราบ เกี่ยวกับพุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (9) บทที่ 3 : หลักสำคัญที่ควรทราบ

คราวที่แล้วว่าด้วยคุณสมบัติของผู้สอน โดยยกเอาพระครูของพระพุทธเจ้า มาเป็นแบบอย่างในด้านอุดมคติ แล้วปรับมาใช้กับครูทั่วๆ ไป

พูดง่ายๆ ก็คือ ครูทั่วไปไม่สามารถมีคุณสมบัติเทียบเท่าพระพุทธองค์ก็ขอให้ได้แม้เพียงเศษเสี้ยวธุลีก็ยังดีกว่า อย่างนั้นเถอะ

คราวนี้ขอว่าด้วยหลักสำคัญของการสอน

หลักสำคัญคือ หลักการใหญ่ๆ ที่ครอบคลุม หลักการใหญ่ๆ ของการสอนไม่ว่าจะสอนเรื่องอะไรก็มีอยู่ 3 หลักคือ

1. หลักเกี่ยวกับเนื้อหาที่สอน

2. หลักเกี่ยวกับตัวผู้เรียน

3. หลักเกี่ยวกับตัวการสอน

ก. เกี่ยวกับเนื้อหา

เรื่องที่จะสอนนี้สำคัญ

คนจะสอนคนอื่นต้องรู้ว่าจะเอาเรื่องอะไรมาสอนเขาเสียก่อน

ไม่ใช่คิดแต่วิธีการสอนว่าจะสอนอย่างไร

ก่อนจะถึงขั้นนั้นต้องคิดก่อนว่า จะเอาอะไรไปสอนเขา

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้สอนต้องคำนึงเสมอว่า

1)ต้องสอนสิ่งที่รู้เห็นหรือเข้าใจง่ายไปหาสิ่งที่เข้าใจยาก

หรือพูดให้โก้ก็ว่าสอนจากรูปธรรมไปหานามธรรม

เนื้อหาต้องเป็นเนื้อหาที่คนฟังเข้าใจง่าย หรือเข้าใจอยู่แล้ว

แล้วค่อยโยงไปหาเรื่องที่เข้าใจยาก หรือยังไม่เข้าใจ

ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นชัด ก็ดูที่การสอนอริยสัจของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

เวลาพระองค์ทรงสอนอริยสัจ ทำไมพระองค์ยกทุกข์ขึ้นมาแสดงก่อน

ทำไมไม่ยกสมุทัยขึ้นมาแสดงก่อน

คำตอบก็คือ เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่เห็นได้ง่าย ทุกคนประสบความทุกข์อยู่แล้ว ไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง มากบ้างน้อยบ้าง ไม่เคยมีใครที่ไม่เคยมีความทุกข์

เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่าโลกนี้เป็นทุกข์ หรือความจริงอย่างหนึ่งก็คือทุกข์

คนฟังก็ร้องอ๋อทันทีว่า อ๋อ แม่นแล้วๆ มันทุกข์จริงๆ

การยกเรื่องที่คนฟังเข้าใจง่าย หรือรู้เห็นอยู่แล้วขึ้นมาพูดก่อน นอกจากทำให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นไปด้วยดีแล้ว ยังดึงความสนใจของผู้ฟังได้ดีด้วย พอได้ยินปั๊บ “ปิ๊ง” ทันที

หลังจากนั้นแล้ว พระองค์ก็โยงไปถึงสาเหตุว่าทุกข์ที่เรามี เราเป็นอยู่นี้รู้ไหม มันมีสาเหตุหรือต้นตอมาจากอะไรบ้าง

คราวนี้ผู้ฟังก็คิดหนักละ เพราะเรื่องสาเหตุหรือสมุทัยนั้น มันมองไม่เห็นง่ายๆ

บางทีนึกว่าใช่ มันไม่ใช่ก็มี

นึกว่ามีสาเหตุเดียว มันมีเป็นสิบเป็นร้อยก็มี

พระพุทธองค์จึงทรงต้องอธิบายสาธยายว่า สาเหตุมันมีอย่างนั้นอย่างนี้

คนเรานั้นเวลามีทุกข์ก็รู้อยู่ดอกว่ามันทุกข์ แต่สาเหตุมาจากไหนบ้างไม่รู้กันนักดอก

แม้แต่เรื่องง่ายๆ เช่น สามีภรรยาทะเลาะกัน ตบตีกันแทบเป็นแทบตาย สาเหตุมาจากไหนไม่รู้ดอก มองกันไม่ค่อยจะออก ต้องให้ผู้มีปัญญาคอยชี้แนะ จึงจะรู้และแก้ไขได้

ดังนิทานเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมเขียนเล่ามาเป็นครั้งที่ร้อยเก้าสิบเก้าแล้วครับ

สามีภรรยาทะเลาะกันทุกวัน สามีรำคาญที่ต้องถกเถียงกับภรรยาจึงหนีออกจากบ้าน หายไปสองสามคืนบ้าง สี่ห้าคืนบ้าง

พอกลับมาเจอหน้ากันก็ทะเลาะกันอีก บางครั้งถึงกับลงไม้ลงมือ เรียกว่า “เลี้ยงกันด้วยลำแข้ง” ว่าอย่างนั้นแหละ

วันหนึ่งภรรยาไปหาหลวงพ่อที่วัดข้างบ้าน เล่าความทุกข์ให้ฟัง

หลวงพ่อหลังจากนั่งฟังมานาน เอ่ยขึ้นว่า

“โยม ทุกข์ของโยมนี้แก้ไม่ยากดอก โยมเอาน้ำมนต์นี้ไป เห็นหน้าสามีเดินเข้าบ้านมา ให้นึกถึงคุณพระคุณเจ้าแล้วก็อมน้ำมนต์ไว้ รับรองไม่เกินเจ็ดวัน สามีจะกลับมาอยู่บ้านไม่ไปไหน จะเลิกทะเลาะกัน” หลวงพ่ออธิบายวิธีใช้น้ำมนต์

สีกาผู้มีความทุกข์ มีหน้าแช่มชื่นขึ้น รับขวดน้ำมนต์จากหลวงพ่อกลับมาบ้านนั่งรอสามีอยู่ถึงประมาณเที่ยงคืน สามีก็เมาสะเงาะสะแงะกลับมา เห็นหน้าภรรยาก็พูดจายียวนตามเคย ถ้าเป็นวันอื่นคุณภรรยาคงด่าตอบไปแล้ว แต่วันนี้หลวงพ่อบอกว่าให้นึกถึงพระแล้วอมน้ำมนต์ จึงรีบอมน้ำมนต์ทันที

สามีนอนหลับด้วยความเมา ตื่นขึ้นมาก็รีบออกจากบ้าน กลับมาอีกทีประมาณตีหนึ่ง คราวนี้ว่าภรรยาหนักกว่าเดิม “อีแร้งทึ้ง” ทำไมมึงยังไม่นอน มายืนขวางประตูหาวิมานอะไร

ภรรยาฉุนกึก แต่นึกถึงคำสั่งของหลวงพ่อได้ จึงรีบอมน้ำมนต์ทันที รุ่งเช้าขึ้นสามีมานั่งนึกถึงสองคืนที่ผ่านมา ภรรยาไม่มีปากไม่มีเสียง แก้มตุ่ยทั้งวัน บรรยากาศเปลี่ยนไปจากเดิม

“ดีเหมือนกันวะ มีเมียเป็นใบ้ ไม่หนวกหู” สามีนึก

ตั้งแต่วันนั้นมา สามีไม่หนีออกจากบ้านไปเลย เพราะไม่รำคาญเสียงบ่นเสียงด่าของภรรยา ความสงบสุขก็กลับคืนมา สองสามีภรรยาไม่ทะเลาะกันอีกเลย

ภรรยาไปหาหลวงพ่อด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้ม กราบงามๆ สามครั้งแล้วกล่าวว่า “แหม น้ำมนต์ของหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ใช้ไม่ถึงเจ็ดวันเลย สามีดิฉันไม่หนีไปไหนแล้วอยู่บ้านอยู่ช่องตามเดิมและเราก็ไม่ทะเลาะกันอีกแล้วเจ้าค่ะ”

หลวงพ่อกล่าวว่า “น้ำมนต์ก็น้ำธรรมดา ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไรดอก มันศักดิ์สิทธิ์ที่ปากโยมมากกว่า”

เออ จริงเสียล่วย

นี่แหละครับ ความทุกข์น่ะรู้ แต่สาเหตุมาจากอะไรไม่รู้ เพราะสาเหตุแห่งความทุกข์นั้นมันละเอียดอ่อน หลักการสอนประการแรกคือต้องเอาเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วหรือเข้าใจง่ายๆ มาสอนก่อนแล้วย้อนไปหาเรื่องที่ยากขึ้นตามลำดับ

2)สอนเนื้อหาที่ลุ่มลึกลงไปตามลำดับ

อย่างพูดเรื่องลึกๆ แล้วมาต้นหรือตื้นแล้วดิ่งลึกสุดเลยอะไรทำนองนี้ ต้องเป็นขั้นๆ ค่อยลึกลงๆ ตามลำดับ

มีคำเปรียบเทียบในพระคัมภีร์ (คือพระไตรปิฎก) แห่งหนึ่งว่า พระธรรมของพระพุทธเจ้านั้นดุจมหาสมุทร

มหาสมุทรนั้นฝั่งมันค่อยลาด ลุ่มลึกตามลำดับฉันใด พระธรรมของพระพุทธองค์ก็ฉันนั้น

ถ้าจะดูการสอนของพระพุทธองค์ ก็ขอให้ดูการสอนหลักธรรมต่างๆ ล้วนอยู่ในแนวนี้ทั้งนั้น เช่น หลักอนุปุพพิกถา เนื้อหาเจาะลึกตามลำดับคือ

(1) ทานกถา (พูดเรื่องทาน) ทานเป็นเรื่องที่ง่าย คือเข้าใจง่าย และปฏิบัติง่าย ทุกคนทำทานได้

(2) สีลกถา (พูดเรื่องศีล) ศีลยากกว่าทานขึ้นมาอีก เพราะการรักษาศีลเป็นเรื่องของการควบคุมกาย วาจา ให้อยู่ในกรอบ ไม่ทำความชั่ว 5 ประการ บางคนทำทานสบายๆ แต่รักษาศีลไม่ได้

(3) สัคคกถา (พูดเรื่องสวรรค์) สวรรค์มองไม่เห็นด้วยตา บางคนสงสัยว่ามีจริงหรือเปล่า เรื่องสวรรค์จึงเป็นเรื่องลึกลงไปตามลำดับ และการปฏิบัติเพื่อให้ได้สวรรค์ก็ยิ่งต้องทำทั้งทาน ทั้งศีลให้สมบูรณ์ ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก

(4) กามาทีนวกถา (พูดเรื่องโทษของกาม) การชี้โทษของสิ่งใดก็ตามแก่ผู้ที่ลุ่มหลงอยู่ในสิ่งนั้น ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นเขาเสียอีก ปุถุชนทั้งปวงล้วนเห็นว่า กามเป็นของดี ต่างก็มัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ดุจดังหนอนดำผุดดำว่ายอยู่ในหลุมคูถ เปรียบอะไรปานนั้น) ต่อให้สิบให้ร้อยพระอริยเจ้ามาบอกว่า กามไม่ดีมีโทษมาก็ไม่เชื่อ

ดังนิทานเรื่องหนอนกับเทวดา (ได้ทีเล่านิทานเสียเลย)

ขณะที่หนอนอ้วนตัวหนึ่งดำผุดดำว่ายอยู่ในหลุมคูถ (ถานของพระ) เทวดาตนหนึ่งก็มายืนน้ำตาไหลอยู่ใกล้ๆ หนอนอ้วนแหงนมาเจอเข้าจึงทักว่า

“ฮาย ญาติตายหรือไง จึงยืนร้องไห้”

“ไม่ใช่ ฉันสงสารนายตะหาก” เทวดาตอบ

“สงสารเรื่องอะไร”

“สงสารที่นายต้องมาทนทุกข์ในหลุมคูถนี้ นายรู้ไหม แต่ก่อนนายเป็นเทวดาเหมือนฉันนี้แหละ นายจุติมาเกิดเป็นหนอน นายกลับไปอยู่บนสวรรค์ด้วยกันเหมือนเดิมเถอะ” เทวดาชักชวน

“สวรรค์ดีอย่างไร” หนอนอ้วนกังขา

“บนสวรรค์นั้นมีแต่สิ่งทิพย์ มีวิมานทิพย์ สมบัติทิพย์ อาหารทิพย์ อยากได้อะไรเนรมิตเอา จะได้ทุกอย่าง” เทวดาบรรยาย หนอนส่ายหน้า

“ถ้างั้นไม่ไปล่ะ อยากได้อะไรต้องเสียแรงเนรมิต เหนื่อยตาย สู้ที่นี่ไม่ได้ อยากกินอะไรก็ไม่ต้องเนรมิต ถึงเวลาหลวงพ่อท่านก็จะมาเนรมิตให้เอง”

ว่าแล้วหนอนอ้วนก็มุดหายไปในกองอาจมอันเหม็นหึ่งนั้นแล

การชี้ให้เห็นโทษของกาม เป็นเรื่องยากและเรื่องลึกกว่าสอนให้บำเพ็ญทานศีล เพื่อให้ไปสวรรค์เสียอีก

(5) เนกขัมมกถา (พูดเรื่องการออกจากกาม) การออกจากกาม ด้วยการออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ หรือไม่บวชแต่จิตใจสละกามได้ เป็นขั้นตอนต่อจากการเห็นโทษของกาม

บางทีบางคนมองเห็นว่า บุหรี่มีโทษต่อร่างกายอย่างไรบ้าง แต่จะให้เลิกสูบบุหรี่ที่ติดมานานปีมิใช่ของง่ายๆ รู้น่ะรู้ว่ามีโทษแต่เลิกไม่ได้

ฉันใดก็ดี บางคนเรารู้ว่ากามมีโทษ แต่จะให้เลิกนั้นมันยาก เพราะฉะนั้น การละกามจึงเป็นขั้นตอนที่ยากกว่า

เรื่องทั้ง 5 นี้เรียกว่า “อนุบุพพีกถา” เรื่องที่แสดงถึงความลุ่มลึกลงตามลำดับ เพื่อขัดเกลาจิตใจคนให้ละเอียดประณีตเป็นชั้นๆ

ครูสอนคนอื่นจึงต้องมีหลักการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหาของอนุปุพพิกถาคือ สอนเนื้อเรื่องที่ค่อยๆ ลุ่มลึกลงตามลำดับชั้น และต่อเนื่องกันเป็นสายลงไป

ผู้ฟังจึงจะเข้าใจดีด้วยประการฉะนี้แล