เมียนมาในสมการใหม่ / อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เมียนมาในสมการใหม่

 

รัฐประหารเมียนมาช่วยปลุกความสนใจแก่คนทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง แน่นอนว่า ด้วยพลังของเทคโนโลยีการสื่อสารมีส่วนแพร่กระจายข่าวสารการรัฐประหารเมียนมา ในเวลาเดียวกัน สาร จากรัฐประหารเมียนมาย่อมสำคัญไม่แพ้กัน

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผมในฐานะคนนอก พวกเขาเหล่านั้นรับ สาร แล้วแปลมันออกมาอย่างไร

ผมขอเริ่มต้นที่คนไทยส่วนหนึ่งคิดอย่างไรกับรัฐประหารเมียนมา ด้วยอยู่ใกล้กันทั้งพื้นที่และวัฒนธรรม มีความเห็นจากสื่อไทยภาษาอังกฤษตั้งประเด็นว่า

“…คนไทยหลายคน เห็น ชะตากรรมเมียนมาเหมือนคนไทย คนไทยบางคนมีชีวิตชีวากับค่ำคืนการรัฐประหารเมียนมา แล้วสะท้อนว่า คนไทยล้มเหลวอย่างไร ในการต่อต้านรัฐประหารโดยนายพลในบ้านตัวเอง…”

ผมขออนุญาตคิดต่อว่า ที่ว่าคนไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการต่อต้านรัฐประหารโดยนายพลในบ้านตัวเอง ซึ่งจริงๆ มีรัฐประหารฝาแฝดถึง 2 ครั้ง ด้วยเหตุว่า สังคมการเมืองไทยสลับซับซ้อนกว่า สังคมการเมืองไทย polarized ยิ่งกว่าเมียนมานัก ส่วนเมียนมานั้น สลิ่มหม่องหนุนเนื่องการรัฐประหารแบบไม่เข้าท่า ดังนั้น ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารจึงต่อต้านรัฐประหารในวินาทีแรก และต่อต้านในใจกลางอำนาจของนายพลหม่องคือ ณ เมืองหลวงเนปิดอว์เลยทีเดียว

ว่าแต่ว่า รัฐไทยเห็นอะไรหรือครับ

 

เมียนมาในสมการใหม่

เมียนมาสำคัญต่อประชาคมโลกดั่งเห็นได้จากปฏิกิริยาของประชาคมโลก สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ต่างไม่พอใจการรัฐประหารเมียนมา เรียกร้องให้ปล่อยนางออง ซาน ซูจี รวมทั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ

แน่นอน ท่าทีจีนย่อมแตกต่างออกไปจากชาติตะวันตก

แม้แต่ญี่ปุ่น รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเรียกร้องให้เหล่านายพลคืนอำนาจให้กับประชาชน

น่าสนใจ บริษัท Kirin บริษัทผลิตและจำหน่ายเบียร์ญี่ปุ่นประกาศระงับการลงทุนอุตสาหกรรมเบียร์ในเมียนมา

ดูผิวเผินญี่ปุ่นอาจมีนโยบายตามแนวทางสหรัฐ แต่นโยบายแบบกลางๆ ที่เคยใช้ในการเมืองระหว่างประเทศกลับไม่ได้ใช้ บริษัทเบียร์คีรินแสดงชัดเจนว่า บริษัทของเขาและผลิตภัณฑ์เบียร์จะไม่มีส่วนสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

กล่าวได้ว่า สำหรับผมความห่วงใยของชาติต่างๆ ต่อรัฐประหารเมียนมา ย่อมแสดงถึงความสำคัญของเมียนมาไปในตัว

ในทางตรงกันข้าม เท่าที่ทราบ มีไม่กี่ประเทศที่ประท้วงการรัฐประหารในประเทศไทยทั้ง 2 ครั้งเมื่อปี 2006 และ 2015 ทั้งที่ก็เป็นการรัฐประหารล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเหมือนเมียนมา

ส่วนข้ออ้างของท่านนายพลเวลานั้นก็ไม่มีสิทธิธรรมอะไรเลยในการละเมิดกฎหมายด้วยรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ด้วยคนกลุ่มเดียวกัน โดยเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ กำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

 

เมียนมากับจีนในสมการใหม่

เส้นทางความสัมพันธ์จีน-เมียนมาหลังปี 2010

ปี2010 คือปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปและพรรค NLD และออง ซาน ซูจี เข้ามามีบทบาททางการเมือง ช่วงนั้นภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มีเต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดี

ช่วงนั้นรัฐบาลของเขาได้ระงับโครงการสำคัญของจีนคือ โครงการเหมืองทองแดง Letpadaung copper mine (น่าสนใจโครงการเหมืองทองแดงนี้ผู้ลงทุนรายใหญ่ร่วมกับทางการจีนคือ บริษัท Myanmar Economic Holding PLC จดทะเบียนเมื่อปี 1990 โดยผู้ถือหุ้นใหญ่คือ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย นี้เอง) และเขื่อนมิน โซน ซึ่งทางการจีนไม่พอใจรัฐบาลเมียนมามาก แล้วรัฐบาลนี้ยังแสดงถึงความพยายามลดบทบาทของจีนในเมียนมาลงอีก

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานั้นเมียนมายังอยู่ระหว่างทั้งฝ่ายนิยมจีนและตะวันตก กล่าวคือ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ระงับโครงการสำคัญของจีน ส่วน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย (Min Aung Hliang) ก็ไม่วางใจบทบาทจีนที่พยายามเป็นใหญ่ในเอเชีย-แปซิฟิก

ในขณะที่ชาติตะวันตกไม่พอใจปัญหาโรฮิงญาเป็นอย่างมากในช่วงปี 2016-2017 แต่นางออง ซาน ซูจี ต้องรักษาสัญญาช่วงรณรงค์หาเสียงเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ จึงไม่มีทางเลือกต้องหันไปหาจีน

อย่างไรก็ตาม จีนนับเป็นสมการใหม่ต่อเมียนมาหลังการรัฐประหารกุมภาพันธ์อีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางแรงกดดันเมียนมาจากชาติตะวันตกและทันทีที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐอเมริกาประกาศจะใช้การบอยคอตเมียนมาอีกครั้งหนึ่ง จีนกลับทอดเวลาออกไป

นาย Wang Wenbin โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงว่า

“…จีนรับทราบสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น จีนกำลังอยู่ในกระบวนการทำความเข้าใจสถานการณ์ให้มากขึ้น แล้วเสนอให้ทุกฝ่ายในเมียนมาควรรับมือจัดการความแตกต่างของพวกเขาอย่างเหมาะสม ภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบโครงทางกฎหมาย เพื่อที่จะได้สามารถธำรงรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมเอาไว้…”*

จุดชี้ขาดสำคัญของความสัมพันธ์จีน-เมียนมาหลังรัฐประหารคือ คณะผู้ปกครองใหม่เมียนมาแต่งตั้งนายวุนนา หม่อง ลวิน (Wunna Muang Lwin) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศคนใหม่

เขาไม่ใช่คนหน้าใหม่ ปี 1995 เขาเป็นอดีตนายทหารที่บุกโจมตีปราบกบฏชาติพันธุ์กะเหรี่ยง รวมทั้งเป็นคนกำกับการเข้ายึดกองบัญชาการใหญ่ของกบฏกะเหรี่ยงที่ มาเนอร์พลอ (Manerpeaw)

ต่อมาเขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลเต่ง เส็ง ช่วงปี 2011-2016

ในขณะที่รัฐบาลเต็ง เส่ง สร้างความไม่พอใจต่อจีนด้วยการระงับโครงการลงทุนของจีน วุนนา หม่อง ลวิน เดินทางไปเยือนจีนหลายครั้งในเวลานั้น และเขาเป็นคนแรกที่เห็นชอบการสร้างระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor – CMEC) ระหว่างไปเยือนจีนเดือนสิงหาคม 2015 (ก่อนที่พรรค NLD ของออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้ง พฤศจิกายน 2015) รัฐบาลจีนและเมียนมาลงนาม MOU CMEC ปี 2018

CMEC เป็นกรอบความร่วมมือทวิภาคี ที่ช่วยเพิ่มพูนให้นโยบาย Belt and Road Initiative-BRI ของจีนให้กว้างขึ้น

CMEC เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของนโยบาย BRI ของจีน ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อจีน ช่วยให้จีนสามารถเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียเพื่อทำการค้า อีกทั้งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อเป็นเส้นทางสำหรับขนส่งเชื้อเพลิงที่จีนสั่งซื้อจากตะวันออกกลาง โดยไม่ต้องพึ่งพาเส้นทางหลักช่องแคบมะละกา (Malaca) ที่เต็มไปด้วยอันตรายในทางยุทธศาสตร์

ท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักจากชาติตะวันตกต่อคณะผู้ปกครองใหม่ของเมียนมาหลังการรัฐประหาร และท่ามกลางความไม่ไว้วางใจจีนของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำการรัฐประหาร การแย้มประตูความร่วมมือกับจีนเพื่อสร้างความสมดุลทางการเมืองระหว่างประเทศ

วุนนา หม่อง ลวิน ได้กลับมาดำรงตำแหน่งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศผู้ร่วมพูดคุยกับจีนมาต่อเนื่อง

จีนจะเข้ามาอยู่ในสมการการเมืองในเมียนมาอีกครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีท่านนี้จะสร้างสมดุลของชาติมหาอำนาจได้แค่ไหนไม่ใช่เรื่องง่าย

ผมคิดว่า เอาตามอาเซียนไม่พอเสียแล้วครับ พี่ไทย

*Elaine Kurtenbach, “Coup a further complication for tricky Myanmar-China-ties” AP 4 February 2021