นิทรรศการ 3 ทศวรรษ “อัครศิลปิน” และ “ศิลปินแห่งชาติ” คิดถึง(ท่านพี่)ถวัลย์ ดัชนี “บ้านดำ” และ “วัดร่องขุ่น”

เพราะเป็นนิตยสารรายสัปดาห์ ขณะเดียวกันต้องเขียนต้นฉบับล่วงหน้าพอสมควร บางครั้งข้อมูลก็เลยไม่ค่อยอัพเดตไปบ้างเป็นธรรมดา

เอาเป็นว่าพยายามรายงานความเคลื่อนไหวเป็นไปเกี่ยวกับกิจกรรมของเหล่า “ศิลปินแห่งชาติ” ซึ่งมีอยู่เสมอๆ อย่างต่อเนื่อง เท่าที่พอจะทำได้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 พฤษภาคม) มีพิธีเปิดนิทรรศการ “3 ทศวรรษ อัครศิลปิน วิศิษฏ์ศิลปิน ฐาปนันดรศิลปิน และศิลปินแห่งชาติ” ทั้ง 3 สาขา รวมถึงทุกท่านที่ล่วงลับไปแล้ว และยังมีชีวิตอยู่ปัจจุบัน ประมาณ 200 กว่าท่าน

กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องศิลปวัฒนธรรม รวมถึงบรรดาศิลปินแห่งชาติ จัดให้มีขึ้น ณ “หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ผ่านฟ้า ราชดำเนิน กรุงเทพฯ

นอกจากจะมีผลงานของอัครศิลปิน วิศิษฏ์ศิลปิน ฐาปนันดรศิลปิน และศิลปินแห่งชาติทุกสาขา จำนวนมากมาจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ชมแล้ว

ยังมีกิจกรรมทางศิลปะ Art Work Shop ของศิลปินแห่งชาติ ทั้ง 3 สาขาควบคู่กันไปเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจกับนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาศิลปะ และประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจเข้าชมฟรีตลอดงานนี้

ในนิทรรศการ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองซีกโลก ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) จะเป็นผู้บรรยายเรื่องศิลปะ และทำ WorK Shop ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2559

นิทรรศการเปิดให้เข้าชม ศึกษาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม – วันที่ 14 มิถุนายน 2559

ได้รับทราบข่าวของโครงการนี้จาก กมล ทัศนาญชลี ผู้ซึ่งอุทิศเวลาทั้งชีวิตเพื่อศิลปะ และวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย มาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว ก่อนเขาจะเดินทางกลับไปยังในสหรัฐ ซึ่งเป็นบ้านหลังที่สอง แต่ก็เพื่อกิจกรรมอันเป็นโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม คือเป็นหัวหอกพา “ศิลปินแห่งชาติ” พร้อมเชิญ (ท่านพี่) ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี “ฐาปนันดรศิลปิน” เอาผลงานไปเปิดแสดงตามโครงการแลกเปลี่ยน ระหว่างศิลปินร่วมสมัยของไทย-สหรัฐ ของกระทรวงวัฒนธรรม ที่ดำเนินโครงการตามความคิดริเริ่มของเขามานานกว่า 10 ปีแล้ว

ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ก็ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการพานักศึกษาศิลปะ ครูผู้สอนศิลปะ ศิลปินร่วมสมัยของบ้านเราได้เดินทางไปเรียนรู้ ศึกษาดูงาน สร้างงานในประเทศฝั่งฟากตะวันตกอย่างสหรัฐ เพื่อยกระดับมาตรฐานความคิดการเรียนรู้ การเรียนการสอน “ศิลปะ” ทั้งๆ ขณะนี้เขาเดินทางเข้าสู่กลุ่มผู้สูงวัย

แต่ไม่น่าเชื่อว่าเขาแข็งแรงเกินกว่าปกติธรรมดาสำหรับคนอายุเกิน 70 ปี

กมล ทัศนาญชลี หายใจเข้าออกเป็นเรื่องของศิลปะ

กิจกรรมของกระทรวงวัฒนธรรม บทบาทของศิลปินแห่งชาติ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาเป็นผู้ค้นคิดและขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ตลอดเวลา

รวมทั้งโครงการ นิทรรศการ “3 ทศวรรษ อัครศิลปิน และศิลปินแห่งชาติ” ที่กำลังเปิดให้เข้าชมกันอยู่

และเดินทางจากสหรัฐมาเพื่อปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ยังประเทศไทยระหว่างนี้ด้วย

ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีหลังเขาทำงานควบคู่มากับ (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี ปราชญ์วาดรูปผู้ล่วงลับไปเพียงร่าง ระหว่างท่านพี่เดินทางไปพำนักหาความสงบเงียบเพื่อจะได้เขียนรูปยังสหรัฐ หรือกมลกลับมาปฏิบัติงานต่างๆ ในฐานะศิลปินแห่งชาติ ยังประเทศไทย ก็จะใช้ “บ้านดำ นางแล” จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมทางศิลปะเสมอๆ การเดินทางไปปฏิบัติงานในฐานะศิลปินแห่งชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็จะไปด้วยกันมิเคยขาด กระทั่งครั้งสุดท้ายร่วมเป็นหมู่คณะสู่ประเทศญี่ปุ่นก่อนท่านพี่ถวัลย์จะมีอาการโรคเก่ากำเริบหนักต้องกลับมารักษาอยู่ระยะหนึ่งก่อนจากวงการศิลปะไป

กมล ทัศนาญชลี กดโทรศัพท์มาบอกว่าตอนนี้อยู่กรุงเทพฯ เหมือนเช่นทุกครั้งที่เขาบินมาถึงเมืองไทย สอบถามความเป็นไปกันเพียงแค่นาที ต่างก็อดรำพึงรำพันถึงท่านพี่ถวัลย์ไม่ได้

เขาสวนกลับมาว่า “ผมก็คิดถึงมากโดยเฉพาะเวลาเดินทางไปตามรัฐต่างๆ ในสหรัฐ ได้พบหนังสัตว์ เขาสัตว์ ตลอดจนของเก่าซึ่ง (ท่านพี่) ถวัลย์ชอบ เพราะเราเคยไปตระเวนซื้อด้วยกันเพื่อนำกลับมายังบ้านดำ นางแล และบ้านอื่นๆ”

เขายังจำวันที่ (ท่านพี่) ถวัลย์พูดกับเราเป็นครั้งสุดท้ายที่บ้านดำ นางแล ว่า “กลับไปกรุงเทพฯ ไปพบกันที่บ้านพี่ เอาลูกๆ กับหมาไปด้วย พี่รักหมา และพี่จะให้รูปเขียน” นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เราได้สนทนากันเป็นเรื่องเป็นราวนอกจากการพูดเล่นด้วยความสนุกสนานเสมอมาระหว่างได้พบเจอ

แต่สุดท้ายก็ไม่ได้พบกันอีก?

เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง ประเดี๋ยวเดียวปราชญ์วาดรูปก็จากวงการศิลปะไปใกล้ครบ 2 ปีแล้ว ท่านพี่หลับไม่ตื่นตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2557 แต่เรื่องของทรัพย์สมบัติอันทรงคุณค่าของท่านเพิ่งจะจบลง

โดยทายาทคนเดียวย่อมได้รับสิ่งที่พ่อของเขาได้สร้างไว้โดยชอบธรรม ทั้ง “ผลงานศิลปะ ทรัพย์สมบัติ” จำนวนมาก รวมถึง บ้านดำ นางแล

แม้จะเกิดการแย่งชิงจนนำไปสู่ความขัดแย้งด้วยความโลภอยากได้ของใครไม่รู้?

กระทั่งเกิดข่าวว่า “บ้านดำ นางแล” ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยวได้เข้าชมกันเสียแล้ว

“มีการปิดเพื่อซ่อมแซมบ้างในบ้านบางหลัง แต่ก็ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปได้เข้าชมอย่างไม่มีวันหยุดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด บ้านดำเป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับในจังหวัดเชียงรายเช่นเดียวกับวัดร่องขุ่น ดอยตุง สามเหลี่ยมทองคำ ดอยแม่สลอง หากปิด เกรงว่าจะกระทบกระเทือนการท่องเที่ยวของเชียงราย”

ผู้ดูแลชี้แจง

คิดถึง “ศิลปินแห่งชาติ” ระดับตำนานซึ่งจากไปแล้วย่อมต้องไม่ลืม “อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ” อีกท่านหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นรุ่นพี่ของ (ท่านพี่) ถวัลย์ แต่ก็ไม่ได้มาก ซึ่งท่านทั้งสองสนิทสนมพูดจาหยอกเย้ากระเซ้าแหย่กันได้ตลอดเวลาระหว่างยังมีชีวิตอยู่ และมักร่วมเดินทางไปทำงานเผยแพร่กิจกรรมด้วยกันเสมอๆ (พี่หยัด) อาจารย์ประหยัด ได้หลับลงตลอดไปไม่มีวันตื่นหลังท่านพี่ถวัลย์เพียง 16 วันเท่านั้น

ผลงานของศิลปินแห่งชาติทั้งสองท่านนี้เป็นอมตะมีคุณค่า และกระทรวงวัฒนธรรม ได้นำเอามาติดตั้งให้ได้ชมในนิทรรศการ “3 ทศวรรษ อัครศิลปิน และศิลปินแห่งชาติ” ร่วมกับศิลปินแห่งชาติท่านอื่นๆ ครั้งนี้ด้วย

รําลึกนึกถึงอาจารย์ประหยัด (ท่านพี่) ถวัลย์ ศิลปินแห่งชาติ ทั้งหลาย รวมถึงบ้านดำ นางแล ก็ไม่สามารถผ่านเลย “เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผู้ก่อสร้าง “วัดร่องขุ่น” จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังอย่างต่อเนื่องตามสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร มิเคยขาดหายอีกท่านหนึ่ง เฉลิมชัยเคยกล่าวไว้ในหลายที่หลายทางว่าเขามีท่านพี่ถวัลย์เป็นแรงบันดาลใจ รวมทั้งเขียนไว้ท่อนหนึ่งในหนังสืองานศพเล่มหนาของ (ท่านพี่) ถวัลย์ ว่า—

“พี่หวันตายจากไปผมเสียดายมากๆ เสียดายองค์ความรู้ทั้งหมดที่ตายไปกับตัวของพี่หวัน ความรู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา ความสนุกสนานในทุกครั้งที่เราได้พบกัน

ผมมีวันนี้เพราะมีพี่หวันเป็นธงชัยนำทาง ผมเรียนทุกอย่างที่เป็นความดีงาม ที่เป็นความสำเร็จในอาชีพศิลปินอิสระได้อย่างรวดเร็ว

พี่หวันคือผู้ถากถางพงหนามทึบให้กับผมได้เดินตามอย่างสะดวกสบาย”

เมื่อไม่นานมานี้เฉลิมชัยออกมาตอบโต้ข่าวที่เศรษฐีเมืองจีนจะมาทุ่มทุนว่าจ้างให้เขาไปสร้างวัดร่องขุ่นในเมืองจีนเป็นเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท ว่า “ผมเป็นคนรักประเทศชาติ วัดร่องขุ่นเป็นของพี่น้องประชาชนคนไทย มันเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะไปสร้างให้ประเทศอื่น ผมไม่สนใจหรอกว่าเงินมันจะมากแค่ไหน เพราะผมรวย ผมเก่ง ผมสุดยอด–ไม่เป็นไรให้มันลอกไปเถอะ เพราะที่ไหนๆ ในโลกก็มีการลอกเลียนกันทั้งนั้น บ้านเราก็มีลอกเลียนต่างประเทศมาเหมือนกัน”

“วัดร่องขุ่น” ไม่ได้เป็นสมบัติของ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เหมือนกับ “บ้านดำ นางแล” ก็ไม่ได้เป็นสมบัติของทายาท (ท่านพี่) ถวัลย์ ดัชนี แต่เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นสมบัติของชาวเชียงราย เป็นสมบัติของชาติ และอาจจะเป็น “มรดกของโลก” ในอนาคต สำหรับวัดร่องขุ่น (วัดสีขาว) นั้น เฉลิมชัย ยังมีไฟในหัวใจไม่เคยดับมอด ยังเปี่ยมล้นไปด้วยการสร้างสรรค์ พัฒนาชนิดไม่หยุดยั้ง จึงไม่มีความรู้สึกกังวลห่วงใยอะไร?

ส่วน “บ้านดำ นางแล” แม้ ดอยธิเบศร์ ดัชนี (ม่องต้อย) ทายาทเพียงคนเดียวของท่านพี่ถวัลย์จะเคยบอกว่า “ลูกคือผู้รักษา” แต่ดูเหมือนก็ยังไม่เพียงพอกับความมั่นใจกับผลงาน “ศิลปะ” อันทรงคุณค่าจากการสร้างสรรค์ของปราชญ์วาดรูปผู้พ่อ

ย่อมต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์