ญี่ปุ่น : ชีวิตวิถีใหม่ / บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

ญี่ปุ่น : ชีวิตวิถีใหม่

 

มีรายงานข่าวจากญี่ปุ่นว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดการใช้จ่ายในครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการระบาด ประชาชนออกจากบ้านน้อยลง ลดการพบปะสังสรรค์ การดื่มกิน การใช้จ่ายในเรื่องไม่จำเป็นต่างๆ และพยายามประหยัดมากขึ้น

จากการที่ผู้คนต้องทำงานที่บ้านกันมากขึ้น เรื่องเครื่องแต่งกายจึงไม่ควรมองข้าม

ที่น่าสนใจคือ ยอดขายเสื้อผ้าชุดสูทของผู้ชายลดลง 64.7%

ส่วนชุดทำงานของผู้หญิงลดลง 37.4%

ตรงข้ามกับยอดขายของเสื้อเชิ้ต เสื้อสตรี เฉพาะท่อนบน ที่มียอดขายเพิ่มขึ้น

ทำไมจึงเป็นเสื้อผ้าเฉพาะ “ท่อนบน” เท่านั้น

 

เพราะเมื่อต้องทำงานที่บ้าน เวลาประชุมกันผ่านทางออนไลน์ เราต้องตั้งกล้องให้เห็นหน้ากัน ดังนั้น เสื้อผ้า หน้าผม เฉพาะ “ท่อนบน” จึงสำคัญ

ส่วนท่อนล่างเป็นอย่างไรไม่ว่ากัน แต่ขอสุภาพหน่อย

ร้านบริการให้เช่าเสื้อผ้าในโตเกียว มีเสียงเรียกร้องขอเช่าเฉพาะ “ท่อนบน” อย่างล้นหลาม

ผู้ใช้บริการไม่ต้องมาที่ร้าน เพียงลงทะเบียนออนไลน์ ระบุขนาด รสนิยม ความชอบของตัวเอง จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งกายเลือกชุดที่เหมาะกับลูกค้า แล้วส่งให้ถึงบ้าน คิดค่าบริการเป็นรายเดือน

ปรากฏว่ายอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม

การเปลี่ยนรูปแบบมาทำงานที่บ้าน ไม่ค่อยได้พบปะผู้คน ถ้าใส่แต่ชุดง่ายๆ อะไรก็ได้ ยิ่งจะทำให้อารมณ์ไม่แจ่มใส การแต่งตัวสวยบ้าง ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศอันน่าเบื่อหน่ายได้

การใช้บริการเช่าเสื้อผ้าทำให้ได้สวย หล่อ แถมประหยัดเงินได้มากกว่าการต้องซื้อชุดตอนที่ต้องออกไปทำงาน

 

ส่วนห้างสรรพสินค้าที่เคยมีส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้า 30-40% แม้จัดโปรโมชั่นลดราคาตามเทศกาลแล้ว ยอดขายก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้น จึงต้องปรับตัวด้วยการจัดมุมเสื้อผ้าที่เหมาะกับการทำงานที่บ้าน ซึ่งก็มีลูกค้ามาเลือกซื้อมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งกายแนะนำว่า สำหรับ “ท่อนบน” ควรหลีกเลี่ยงเสื้อที่มีลวดลายหรือลายตาราง เพราะจะทำให้คู่สนทนา (หน้าจอ) ลายตาได้ อีกทั้งเสื้อสีทึมๆ ก็ควรเลี่ยงเพราะจะกลืนกับฉากหลังที่มักเป็นผนังห้อง ควรเลือกสีสว่าง สดใส เพื่ออารมณ์ที่สดใสของตัวเองและเห็นแก่อีกฝ่ายที่ต้องเห็นเรานานๆ

ส่วน “ท่อนล่าง” ผู้ชายควรสวมกางเกงผ้าที่มีความยืดหยุ่น เพราะต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ

นี่คือการปรับตัวของผู้ทำงานที่บ้าน เรื่องการแต่งกายให้เหมาะสม

 

ส่วนร้านอาหารต่างๆ หลังจากมีประกาศภาวะฉุกเฉินป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายจังหวัดตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา

เฉพาะโตเกียว และอีก 3 จังหวัดใกล้เคียง ผลการสำรวจยอดขายของร้านอาหารประมาณ 3,000 ร้าน ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มีลูกค้าลดลงตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังการประกาศประมาณ 60%

และลดลงตลอดจนถึงมากกว่า 70% เมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการร้านอาหาร และพนักงานก็ต้องดิ้นรนปรับตัวเองอย่างมาก

จึงมีผู้คิดบริการ “ส่งเชฟถึงบ้านคุณ”

เชฟมิกะ (นามสมมุติ) เชฟสาววัย 30 มาถึงบ้านของลูกค้า ล้างมือ ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยา สวมหมวก ผ้ากันเปื้อน และสวมถุงมือ ก่อนจะนำวัตถุดิบที่ลูกค้าเตรียมไว้ในตู้เย็นออกมาปรุงอาหารต่างๆ ได้ถึง 14 เมนู ทั้งผัด ต้ม ทอด ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ค่าบริการ 11,000 เยน (ประมาณ 3,300 บาท)

เธอบอกว่าร้านอาหารที่ทำอยู่ยอดขายลดลง จึงต้องปรับตัวเอง และปรับรูปแบบการบริการ ไม่รอให้ลูกค้าไปรับประทานอาหารที่ร้าน เนื่องจากนโยบายให้อยู่บ้านมากขึ้น

ฝ่ายลูกค้า คุณพ่อบ้านบอกว่า เมนูอาหารที่เชฟทำให้ ภรรยาผมก็ทำได้เหมือนกัน แต่เมื่อคิดว่าเป็นฝีมือจากเชฟร้านดัง ทั้งครอบครัวก็เจริญอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะลูกๆ ก็ชอบใจ เราอยากใช้บริการอีก

บริการนี้กำลังเป็นที่ต้องการสำหรับลูกค้ามาก ต้องจองคิวกันนานพอควร คนที่ทำงานอยู่ที่บ้านก็เบื่ออาหารฝีมือตัวเองที่ทำแบบกินเพื่ออยู่

แต่สำหรับเชฟแล้ว แม้สถานที่ทำงานจะเปลี่ยนจากครัวที่ร้าน มาเป็นครัวของลูกค้า แต่ความสุขจากการได้ทำงานที่ตัวเองรัก ได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้าก็ทำให้มีกำลังใจสู้ต่อไปในสถานการณ์ขณะนี้ได้

 

ส่วนการปรับตัวขององค์กรและพนักงาน เมื่อพนักงานทำงานที่บ้านมากกว่ามาทำงานที่บริษัท มีข่าวว่าบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เดนท์สุ (????) ประกาศขายอาคารสำนักงานใหญ่ในโตเกียว ซึ่งเป็นอาคารทันสมัยสูงหลายสิบชั้น เพราะพื้นที่กว้างขวาง หรูหราในอาคารไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อปรับให้พนักงานทำงานสื่อสารกันผ่านทางออนไลน์อยู่ที่บ้านของตัวเองมากขึ้น

ธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก ต่างพากันปรับลดพื้นที่ของสำนักงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย บางแห่งลดพื้นที่เหลือเพียงหนึ่งในสามของพื้นที่เดิม มีห้องประชุมเล็กลง

สิ่งที่เพิ่มมาจากเดิม คือ บูธทำงานแบบปิดเฉพาะคน เพื่อเว้นระยะห่างให้พนักงานที่หมุนเวียนมาทำงานที่ออฟฟิศ

สำหรับพนักงานที่ทำงานที่บ้าน บริษัทก็ชดเชยค่าใช้จ่ายเน็ตบ้าน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ ให้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง

 

โอกิ (นามสมมุติ) พนักงานชายวัย 40 ปี มีลูกวัยเรียน 2 คน พอใจมากที่ได้ทำงานที่บ้านมากขึ้น บริษัทให้เลือกกำหนดเวลาที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แบ่งเป็นหลายช่วงได้ เขาจัดโต๊ะทำงานให้ง่ายต่อการทำงาน ใช้ลูกบอลลูกใหญ่แบบในฟิตเนสแทนเก้าอี้นั่ง

เขาสามารถประหยัดเวลาในการเดินทางไปออฟฟิศได้หลายชั่วโมง

มีเวลาไปรับลูกจากโรงเรียนอนุบาล สอนการบ้านให้ลูก พาลูกไปเล่นกีฬา เป็นต้น

ทำให้เขาเพิ่งตระหนักว่างานดูแลบ้านและลูก ที่ภรรยาต้องทำคนเดียวมาตลอดนั้นหนักเอาการทีเดียว…

ชีวิตวิถีใหม่ของคนญี่ปุ่น ก็มีข้อดีที่คาดไม่ถึง…