พณ.-เอกชนถกรับมือ ‘เมียนมา’ | คาดธุรกิจการบินใช้เวลาฟื้น 2 ปี | โควิด 2 ทุบเอสเอ็มอี 2.7 หมื่นล้าน

แฟ้มข่าว

พณ.-เอกชนถกรับมือ ‘เมียนมา’

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้ติดตามสถานการณ์ภายในของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาถึงผลกระทบต่อการค้า 2 ฝ่ายและการทำธุรกิจในเมียนมาอย่างไร โดยเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) 4 ประเด็น คือ 1.การเคลื่อนไหวตามด่านชายแดน และเวลาการปิดเปิดด่าน 2.ห่วงในเรื่องความตกลงร่วมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการและกำลังเจรจาหารือ ซึ่งเมียนมาเป็นหนึ่งในอาเซียน เมื่อเกิดเหตุการณ์ประกาศภาวะฉุกเฉิน อาจมีผลต่อเรื่องเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เช่น อาร์เซ็ป หรือการเจรจาเอฟทีเออาเซียน-อียู 3.การสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน และ 4.การประกาศภาวะฉุกเฉินจะทำให้การลงทุนในเมียนมาชะลอตัวและกระทบต่อแผนลงทุนในเมียนมาระยะกลางและยาว แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นการค้าขายชายแดนยังปกติ แต่เริ่มวิตกเรื่องการลงทุนใหม่ๆ

 

ธุรกิจการบินใช้เวลาฟื้น 2 ปี

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมหารือแนวทางการบูรณาการและการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการคมนาคมทางอากาศ แนวทางออกในการแก้ไขปัญหาด้านการบินร่วมกัน อาทิ ปัญหาความปลอดภัยในการขึ้นและลงของเครื่องบินในบางสนามบิน ปัญหาเกี่ยวกับจุดที่ตั้งของหอบังคับการบิน และปัญหาเกี่ยวกับแผนแม่บทของการจัดตั้งสนามบิน โดยมอบหมายให้กองตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รวบรวมข้อเสนอ ปัญหา อุปสรรค ส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อประชุมแก้ไขปัญหาต่อไป โดยรายได้ธุรกิจการบินปี 2563 ภาพรวมลดลงเหลือ 10% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50-60% ส่วนรายได้ปี 2564 ดีขึ้น เนื่องจากจะมีวัคซีนเข้ามาในไทยช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ เดิมคาดว่าการบินภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวปี 2565-2566 และการบินระหว่างประเทศฟื้นตัวปี 2566-2567 ส่งผลให้สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง

 

ปั๊มลงทุนอีอีซีแตะ 3 แสนล้าน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เห็นชอบแผนส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี 2564 จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยร่วมมือกับสำนักงานอีอีซี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งเป้าหมายการลงทุนในปี 2564 ไว้ 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปี 2563 โดยเร่งนัดพบปะต่อไป ภาพรวมลงทุนในอีอีซีปี 2563 มี 453 โครงการ มูลค่า 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ขณะนี้หลายโครงการคืบหน้า เช่น โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) จะดำเนินการเพิ่มเติม 3 โครงการ ทำให้ภายปี 2565 อีอีซีพัฒนาทักษะบุคลากร รวม 91,846 คน ด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะส่งมอบพื้นที่กันยายนนี้

 

แห่กู้ ธอส.ซื้อบ้านสูงรอบ 67 ปี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ปี 2563 เแม้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่ ธอส.ยังคงสร้างโอกาสให้คนไทยมีบ้าน โดยปล่อยสินเชื่อปล่อยใหม่สูงสุดในรอบ 67 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคาร มูลค่ารวม 225,151 ล้านบาท จำนวน 140,386 บัญชี เพิ่มขึ้น 4.57% สูงกว่าเป้าหมายถึง 15,791 ล้านบาท ปี 2564 ตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ 215,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน พร้อมการยกระดับบริการธนาคารสู่ Digital Service Bank และเป็น Digital Bank เต็มรูปแบบปี 2566

 

โควิด 2 ทุบเอสเอ็มอี 2.7 หมื่นล้าน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ได้ออกบทวิเคราะห์ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 จะทำให้รายได้ของธุรกิจเอสเอ็มอีภาคการค้าบริการและท่องเที่ยวทั่วประเทศ รวมลดลงกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบถึง 1.3 ล้านราย มีการจ้างงานรวมกันกว่า 6.1 ล้านคน แม้ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยการกระตุ้นการจับจ่ายผ่านโครงการเราชนะและคนละครึ่ง แต่เป็นการช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอี แต่ไม่ครอบคลุมร้านค้าย่อยและกลุ่มคนทำงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จำนวน 1.1 แสนราย มีการจ้างงานกว่า 2.5 ล้านคน ทั้งนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ค้าปลีกเสื้อผ้า ค้าเบ็ดเตล็ด และท่องเที่ยว

 

เร่งเอสเอ็มอีชิงประมูลงานรัฐ

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานคณะกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบาย สสว.เร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขึ้นทะเบียนกับ สสว. เพื่อเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ให้ได้มากที่สุด หลังจากกระทรวงการคลังได้ประกาศกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นการกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ ต้องซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว และให้แต้มต่อราคาสูงกว่าเอกชนรายใหญ่ได้ 10% โดยปีนี้ตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาลงทะเบียนไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย จากปัจจุบันมีลงทะเบียนเพียง 3,500 ราย นอกจากนี้ ให้ สสว.ทำแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นตลาดอี-มาร์เก็ตเพลสกลาง เพื่อให้เอสเอ็มอีได้นำสินค้าเข้ามาใส่ในแพลตฟอร์ม และให้หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนทั่วไปที่ต้องการซื้อสินค้าเข้ามาดูสินค้าในแพลตฟอร์มนี้ได้ เนื่องจากขณะนี้แต่ละหน่วยงานแยกกันดู ไม่มีแพลตฟอร์มกลางที่จะสามารถเข้ามาดูได้

เชื่อว่าจะทำให้หน่วยงานภาครัฐเข้าถึงสินค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น และเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทะเบียนมากขึ้น ครั้งนี้เปิดโอกาสให้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา