อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ROUGH การสำรวจห้วงเวลานามธรรมแห่งวัตถุในภาพถ่าย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ROUGH

การสำรวจห้วงเวลานามธรรมแห่งวัตถุในภาพถ่าย

ในตอนนี้ผมขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้บอกเล่าเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะอันหนึ่งที่ผมได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ขึ้นในฐานะภัณฑารักษ์ เพื่อเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ในการมีโอกาสได้จัดงานนิทรรศการแสดงศิลปะกับเขาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา

นิทรรศการครั้งนี้มีชื่อว่า ROUGH

โดย ศุภชัย เกศการุณกุล ศิลปินภาพถ่ายผู้มุ่งเน้นในการทำงานภาพถ่ายในเชิงศิลปะ ทั้งในรูปแบบของภาพถ่ายพอร์ตเทรตบุคคลและภาพถ่ายนามธรรม ที่บันทึกบนแผ่นฟิล์มผ่านกล้องมีเดียมฟอร์แมทและ 135 มิลลิเมตร ด้วยความหลงใหลในสุนทรียภาพของเม็ดฟิล์มและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นิทรรศการ ROUGH

นิทรรศการแสดงเดี่ยวในครั้งนี้ของศุภชัยนำเสนอผลงานชุดภาพถ่ายนามธรรมของเขา หากความเป็นนามธรรมในภาพถ่ายของศุภชัยก็ไม่ได้ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเปล่าๆ ปลี้ๆ แต่ยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่สอดคล้องกับแนวคิดทางสถาปัตยกรรมและศิลปะแห่งยุคโมเดิร์นอย่าง “สัจจะแห่งวัสดุ” (Truth to materials)

หรือการนำเสนอสุนทรียะและความงามของความจริงแท้ในวัตถุต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่เสแสร้งหรือพยายามเป็นอะไรมากไปกว่าตัวมันเอง และขับเน้นความเรียบง่าย ความมีระเบียบ และความสอดประสานกลมกลืนทางทัศนธาตุของวัตถุเหล่านั้นให้ปรากฏออกมาสู่สายตา

เช่นเดียวกับผลงานภาพถ่ายของศุภชัย ที่บันทึกสารพัดร่องรอยบนพื้นผิวที่ผ่านกาลเวลาของตึกรามบ้านช่อง วัสดุสิ่งของจากสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่ทิวทัศน์หลากแห่ง ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายนามธรรมที่สวยงามแปลกตาจนอาจนึกไม่ถึงว่าเป็นสิ่งที่เราพบเห็นจนชินตาทุกวี่วัน

Krabi B (2018)

ศุภชัยสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเล็กๆ รอบตัว จากสถานที่ที่เคยอยู่ ทํางาน และใช้ชีวิต หรือประสบการณ์จากการเดินทางไกลออกไปนอกพื้นที่คุ้นเคย ไปจนถึงวัฒนธรรมที่แตกต่าง เขาพบเห็นและบันทึกความเปลี่ยนแปลงระดับเล็กน้อยที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของเมืองโดยน้ำมือมนุษย์ และสภาพแวดล้อมอย่างดิน ฟ้า อากาศ แดด ลม ฝน และกาลเวลา

ศุภชัยกล่าวถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานในชุดนี้ของเขาว่า

“เราชอบถ่ายภาพของพื้นผิวของอาคารและวัตถุที่เราพบในพื้นที่ต่างๆ เพราะเราคิดว่ารสนิยมของสีสันในแต่ละพื้นที่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสถานที่ที่เราไปถ่ายภาพ ส่วนใหญ่เราจะถ่ายภาพในพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่อยู่อาศัยต่างๆ เหมือนเป็นการบันทึกร่องรอยและหลักฐานในวิถีชีวิตของผู้คน อย่างคนในภาคเหนือบนที่สูง กับคนที่อยู่ภาคติดทะเล รสนิยมการใช้สีของเขาจะไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ในประเทศที่แตกต่างกัน การใช้สีสันก็ยิ่งแตกต่างกันออกไปอีก เช่น ในยุโรปกับในเอเชีย ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้เดินทางไปในประเทศต่างๆ ได้เฝ้ามองและสังเกตการใช้สีสันในวัตถุจากพื้นที่ต่างๆ และเก็บเอาความเป็นนามธรรมที่แฝงอยู่ในพื้นผิวของวัตถุเหล่านั้นบันทึกลงแผ่นฟิล์ม”

HuaHin A (2010), KlongToey B (2008)

“คนดูหลายคนมักจะถามเราว่า ภาพนี้เราถ่ายอะไรมา เราก็มักจะตอบไปว่า ถ้าเราบอกไปภาพถ่ายก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน เพราะความเป็นนามธรรมในภาพถ่ายของเรานั้นไม่ได้เรียกร้องให้ใช้เหตุผลไปค้นหาว่าสิ่งที่อยู่ในภาพนั้นมีความหมายอื่นใด นอกเหนือไปจากสิ่งที่ภาพแสดงให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นสีสัน ลักษณะของพื้นผิว ร่องรอย เส้นสาย น้ำหนักความมืดสว่าง และองค์ประกอบของวัตถุต่างๆ ในภาพ”

“บางครั้งคนดูภาพถ่ายบางภาพแล้วมองไม่ออกว่าเป็นภาพของอะไร แต่เขาก็สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เห็นเข้ากับประสบการณ์ของตัวเองได้”

ในบางครั้ง ประสบการณ์ที่ได้รับจากการดูผลงานภาพถ่ายของศุภชัยก็เชื่อมโยงเราเข้ากับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในประวัติศาสตร์โลกอย่างไม่รู้ตัวเช่นกัน ดังเช่นในผลงานชุด Istanbul (2013) ที่ศุภชัยทำขึ้นในช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปยังกรุงอิสตันบูล ตุรกี และบังเอิญผ่านไปเห็นผนังกำแพงที่เต็มไปด้วยโปสเตอร์และใบปิดต่างๆ ถูกฉีกขาดจนเห็นชั้นที่ทับซ้อนกันนับไม่ถ้วน เขาจึงบันทึกความประทับใจนั้นลงบนแผ่นฟิล์ม

Istanbul C (2013)

ผลงานชุดนี้ทำให้เราหวนรำลึกไปถึงรูปแบบทางศิลปะที่เรียกว่า Décollage (ดึงออก) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ตรงกันข้ามกับการปะติด (Collage)

กล่าวคือ แทนที่จะสร้างภาพจากการตัดชิ้นส่วนจากภาพถ่ายหรือภาพจากนิตยสารหรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ มาปะติดกันเป็นภาพใหม่แบบการปะติด เทคนิคนี้กลับเป็นการตัด ฉีกทึ้งภาพโปสเตอร์หรือสิ่งพิมพ์ที่ถูกแปะกาวทับซ้อนกันหลายชั้น และเผยให้เห็นชั้นของสิ่งพิมพ์ที่ถูกซ้อนอยู่ข้างใต้ เพื่อสร้างเป็นภาพใหม่ขึ้นมา

KlongToey A (2008)

เทคนิคนี้เป็นรูปแบบการทำงานของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ Nouveau Réalisme (สัจนิยมใหม่) ของฝรั่งเศส ซึ่งมีความใกล้เคียงกับป๊อปอาร์ตอเมริกัน

หรือผลงานในชุด The Origin (2014) ภาพถ่ายที่ดูคล้ายร่องรอยบนผืนทราย และอวลกลิ่นอายที่กระตุ้นให้เราหวนรำลึกไปถึงสัญลักษณ์ของเพศแม่ อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิตเช่นเดียวกับท้องทะเล รายละเอียด พื้นผิว องค์ประกอบ และชื่อของผลงานชุดนี้ ทำให้เรานึกเชื่อมโยงไปถึงภาพวาดสีน้ำมันที่อื้อฉาวที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะของจิตรกรชาวฝรั่งเศส กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) อย่าง L’Origine du monde, 1866 หรือ The Origin of the World (บ่อเกิดของโลก) ที่แสดงภาพอวัยวะพึงซ่อนเร้นของสตรีอย่างจะแจ้ง

ผลงานชุด The Origin (2014)

ยิ่งไปกว่านั้น การแขวนผลงานชุดนี้ในตำแหน่งที่ใกล้กับห้องสุขา ทำให้เราอดนึกไม่ได้ว่าความเชื่อมโยงเช่นนี้เกิดจากความบังเอิญหรือความจงใจของศิลปินกันแน่?

ซึ่งแม้แต่ภัณฑารักษ์อย่างผมเองก็ไม่อาจรู้ได้ เพราะศิลปินเขาอุบเอาไว้ ไม่ยอมเฉลยให้ฟัง (อ่านะ!)

The Origin B (2014)

ผลงานภาพถ่ายทั้งหมดในนิทรรศการถูกพิมพ์บนกระดาษชั้นดีอย่างประณีตพิถีพิถันและจัดแสดงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการใส่กรอบตามปกติ และการแขวนภาพถ่ายไร้กรอบด้วยคลิปหนีบกระดาษและตะปูบนผนัง เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นถึงคุณภาพของสีสัน การพิมพ์ และเนื้อกระดาษอย่างใกล้ชิด อันเป็นเทคนิคการแขวนงานภาพถ่ายที่เราหยิบยืมมาจากศิลปินภาพถ่ายร่วมสมัยชาวเยอรมันชื่อก้องอย่างวูล์ฟแกง ทิลล์แมน (Wolfgang Tillmans)

ผลงานชุด KlongToey

นอกจากผลงานภาพถ่ายที่พิมพ์บนกระดาษแล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ ศุภชัยยังนำเสนอผลงานภาพถ่ายของเขาลงบนพื้นผิวเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพถ่ายบนโต๊ะกระจก ที่ใช้เทคนิคพิเศษอย่าง Tempered Glass Printing หรือการพิมพ์ภาพถ่ายลงบนกระจกและผ่านกระบวนการให้ความร้อนสูง เพื่อให้สีละลายซึมลงไปในกระจกเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ได้ภาพบนโต๊ะกระจกที่มีสีสันและรายละเอียดสวยงาม เป็นผลงานศิลปะเปี่ยมประโยชน์ใช้สอยที่ผู้เป็นเจ้าของผลงานสามารถสัมผัสและใช้งานได้จริง

Kombang A, B (2011)

ศุภชัยเผยถึงเหตุผลในการนำเสนอผลงานภาพถ่ายลงบนวัตถุใช้สอยในบ้านว่า

“การพัฒนางานศิลปะลงบนเฟอร์นิเจอร์ของผมมีเจตนาสองประการคือ หนึ่ง เพื่อให้งานศิลปะของผมถูกลูบไล้สัมผัสจับต้อง มากกว่าแค่การได้ความพึงพอใจทางสายตา สอง เพื่อให้งานศิลปะเหล่านี้เป็นวัตถุที่น่าใช้งาน ไม่ได้จะเปลี่ยนให้เป็นงานศิลปะที่จับต้องไม่ได้แต่อย่างใด”

ท้ายสุด ศุภชัยกล่าวถึงความหมายของการถ่ายภาพในมุมมองของเขาว่า

Krabi A (2018)

“เหตุผลที่เรายังถ่ายภาพอยู่ เพราะเวลาหวนกลับไปดูภาพถ่าย เราจะจำบรรยากาศ จำสถานที่นั้นๆ ได้ชัดเจนว่าผมถ่ายภาพนี้อยู่ที่ไหน การกลับไปดูภาพถ่ายเหล่านี้เหมือนผมได้นั่งไทม์แมชชีนกลับไปในช่วงเวลาเหล่านั้นอีกครั้ง ความสำคัญของการถ่ายภาพคือเวลา เราใช้เวลากับสิ่งที่เราถ่ายนานแค่ไหน ซึ่งตอบคำถามที่ว่า ทำไมเราถึงใช้ฟิล์มถ่ายภาพ เพราะเราใช้เวลาอยู่กับมันได้นานกว่านั่นเอง”

โต๊ะ THANDI ร่วมออกแบบโดยอภิรัฐ บุญเรืองถาวร

นิทรรศการ ROUGH โดยศุภชัย เกศการุณกุล ภัณฑารักษ์โดยภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ จัดแสดงที่ XSPACE Art Gallery ซอยปรีดีพนมยงค์ 14 ถนนสุขุมวิท 71, ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 (จันทร์ถึงเสาร์ เวลา 10:00 น.-17:00 น.) ปิดทำการวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

โต๊ะ THANDI ร่วมออกแบบโดยอภิรัฐ บุญเรืองถาวร

*นัดหมายการเข้าชมล่วงหน้า โทร. 0-2005-3550 หรือทาง Official Line : https://lin.ee/IoAkEaF

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก XSPACE Art Gallery และศิลปิน ภาพถ่ายพื้นที่แสดงงานโดยปรีชา ภัทรอมรชัย