สัม รังสี: จาก ‘ตัวตน’ จนกลายเป็น ‘คนนอก’ / อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

สัม รังสี: จาก ‘ตัวตน’ จนกลายเป็น ‘คนนอก’

 

ช่วงลำเค็ญ ใครบางคนอย่าง แก กึมสง เพื่อนนักช่าวชาวเขมรก็ให้คำแนะนำฉันว่า น่าจะผันตัวไปเป็นกุนซือให้นักการเมืองเขมรที่เพิ่งจะตั้งไข่ อย่างน้ำใสใจจริง แก กึมสง ตอนนั้นก็คงไม่คิดว่าจู่ๆ โชคชะตาจะพาให้เขามาไกลถึงขั้นเป็นชาวเขมรคนแรกที่ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เบอร์ 1 ที่คุมโดยต่างชาติอย่างพนมเปญโพสต์

แต่นั่นแหละ เมื่อกิจการถูกฮุบโดยกลุ่มฮุน เซน พลันอนาคตแก กึมสง ก็จบลงเหมือนกัน

ส่วนฉันน่ะ ฉุกคิดมาจนถึงบัดนี้ ถึงไม่ได้ผันตัวตามกึมสงยุใส่ แต่ก็ไปป้วนเปี้ยนทำงานให้พรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งเล่าขานกันว่าเป็นพรรคก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น คือพรรคสัมรังสี เจ้าของพรรคที่คุ้นเคยสัมภาษณ์มาตั้งแต่สมัยที่เขา ยังมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีการคลังสมัยรัฐบาลแห่งการปรองดองของเขมรสี่ฝ่าย/1992

ต้องยอมรับว่า แวดวงการเมืองเขมรยุคนั้น มีแต่คนสนใจนายสัม รังสี กับ นางจูล่ง ซูมูรา-ภรรยาที่ผู้ว่าธนาคารแห่งชาติ แต่อีท่าไหนไม่ทราบ พอชนะเลือกตั้งทั้งสองถูกอัปเปหิจากฟุนซินเปกและประสบชะตากรรม ออกมาตั้งพรรคและกลายเป็นม้ามืดนอกสังเวียนสภามีผู้ติดตามมากมาย

ต่างจาก 2 พรรครัฐบาลที่พร้อมจะไขว้กันในสภา ทว่าอยู่วงนอกทีไรก็เล่นงานพรรคชาติเขมรของสัม รังสี ตลอดเวลา แต่นั่นก็ยิ่งทำให้สัม รังสี มีพันธมิตรเป็นสหภาพแรงงาน

แต่ระเบิดหน้ารัฐสภา (1994 ) และกรณีประธานสหภาพถูกสังหารอีกไม่กี่ปีต่อมา ทั้งหมดคือปมหลอนสัม รังสี ที่ไม่มีใครรู้ว่ามันคือจุดอ่อนของเขาหรือไม่

เพราะหลังจากนั้นเรื่อยมา สัม รังสี ก็อาศัยเกราะกำบังชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างประเทศ และรายงานหลายตอนถูกนำไปเปิดโปงใน Cambodia Curse : the Modern History of a Troubled Land ของโจแอล บริงก์เลย์ (2011)

ด้านหนึ่งก็ฟ้องให้เห็นถึงอุปนิสัยแบบอนุรักษนิยมของสัม รังสี ที่ย้อนแย้งกับพฤติกรรมเรียบง่ายที่มีต่อมวลชนผู้สนับสนุนฐานล่างซึ่งล้วนแต่ยากไร้

สารภาพว่า บุคลิกสมเด็จฮุน เซน ในวัยหนุ่ม-กลางและปัจฉิมวัยที่มีทั้งเถื่อนดิบ ดุร้ายและเปลี่ยนไปตามวัย แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้คนเชื่อกัน ซึ่งเมื่อเทียบกับนายสัม รังสี แล้วพบว่าที่แทบไม่มีใครรู้จักเขาเลย

สัม รังสี ได้รับความนิยมอย่างเป็นวงกว้างเสมอในแง่บุคลิกที่เทิดทูน ในช่วงตอนชีวิตเขาเหมือนผู้นำทางศาสนาเพราะแม้แต่ที่เขาแค่บวชแก้บนให้มารดาไม่กี่สัปดาห์ พระรังสียังต้องออกบิณฑบาตวันละหลายชั่วโมง นัยว่าเพื่อนำเหล่าสิ่งที่ประชาชนถวายออกไปแจกจ่ายให้วัดกันดารในชนบท

แต่ที่ยากกว่านั้น คือการถ่ายผ่าน (transformed) ทางการเมืองแบบฉบับสัม รังสี ที่นับวันอันเนิ่นนานบนเส้นทางสายนี้ ก็ยิ่งพบว่า สัม รังสี ประสบความล้มเหลวบางอย่าง และราวกับว่า

เขาขาดที่ปรึกษา

ย้อนไปอีกว่า หลังการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1998 นั้น มีกลุ่มหนุ่ม-สาวที่ทำงานให้พรรคสัม รังสี ซึ่งมีลักษณะกึ่งเอ็นจีโอ-องค์กรนอกรัฐภิบาลที่รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และมีลักษณะไฮบริด-ลูกผสมระหว่างกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่มีค่าตอบแทน กับกลุ่มที่ทำงานเต็มเวลาและมีค่าตอบแทน และส่วนใหญ่เป็นสายข่าว

ฉันอยู่ในกลุ่มที่ทำงานกึ่งอาสาด้านหนังสือ แน่นอน สำหรับกลุ่มนักหนังสือพิมพ์นั้นต่อมาค่อยๆ หายหน้าไปทีละคนสองคนราวกับพวกใต้ดิน บ้างก็อพยพไปต่างแดน แต่บางคนต่างหากที่ทำให้ฉันประหลาดใจที่พบว่า สมัครใจเปลี่ยนขั้วหันไปทำงานให้ฮุน เซน

หรือระบอบฮุน เซน ไม่ใช่ปีศาจในสายตาคนเหล่านี้? ทั้งที่จำนวนมากต่างภักดีต่อสัม รังสี อย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่อดีตเจ้าหน้าที่การทูตของพล พต ที่ฉันเคยรู้จัก รวมทั้งนักข่าวหลายคนที่ร่วมโครงการหนังสือพิมพ์อินเตอร์เน็ตเวลานั้น

สัม รังสี และภรรยาทำพรรคภายใต้ชื่อของตน ออกเป็นแบบ 2 ระบบ

คือเป็นทั้งพรรคการเมือง ขณะเดียวกันก็ควบด้วยเอ็นจีโอ-องค์กรเอกชน เช่นเดียวกับพรรคของกึม สกขา ที่ชื่อว่า พรรคสิทธิมนุษยชน

ฉันไม่แน่ใจว่าการทำพรรคการเมืองแบบนี้ของสัม รังสี (รวมทั้งกึม สกขา) ที่นอกจากเป็นช่องทางให้เขารับเงินบริจาคเข้าพรรคจากต่างประเทศแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งมันคือจุดอ่อนของวิสัยทัศน์ที่เปราะบางของสัม รังสี ด้วยหรือไม่?

ดังจะเห็นว่า เขามีบุคลิกที่ไม่สู้จะเป็นนักการเมืองที่มากด้วยประสบการณ์และวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย-สักเท่าใด

สัม รังสี อาจดึงดูพันธมิตรจำนวนมากทั้งกลุ่มนักการเมืองหน้าใหม่ที่เข้ามาร่วมสร้างพรรคร่วมกับเขาอีกครั้งตอนที่ตัดสินใจจับมือร่วมพรรคกับกึม สกขา

และมันเปิดแผลว่า พวกเขามี ‘จุดอ่อน’ ของกันและกันที่ผลประโยชน์ที่มาทั้งจากส่วนของสมาชิกและการหาเงินสร้างพรรค ที่เดิมทีนั้น ไม่ต่างทรัพย์สินบริษัทสัม รังสี จำกัด ที่มีภรรยาของเขากำกับดูแล

การทำการเมืองของสัม รังสี ที่เริ่มจากอุดมการณ์สร้างชาติอาจจะยาวนานจนคล้ายกับเป็นกิจการครอบครัวไปแล้ว ซึ่งอันที่จริง หลายๆ พรรคการเมืองในเขมรก็เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างชัดเจนคือพรรคฟุนซินเปก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคสไตล์นี้ ในที่สุดแล้ว ต่างพังพาบไม่มีใครเติบโตและเข้มแข็งเป็นองค์กรการเมืองแม้แต่รายเดียว

แม้หลายฝ่ายจะค้านว่า กรณีพรรคสงเคราะห์เชียด (กู้ชาติ) ของสัม รังสี กับกึม สกขา นั้นถูกกำจัดไปโดยฝ่ายฮุน เซน ก็ตาม แต่ด้านหนึ่ง ต้องรำลึกว่าสัม รังสี เองนั้น 5 ปีให้หลังที่ผ่านมา เขาเล่นการเมืองแบบถือตนเองเป็นศูนย์กลาง และมันคือหายนะแห่งชะตากรรมของพรรคในแบบเดียวทั้งหมดที่ผ่านมาของสัม รังสี

คือค่อยๆ เรียวเล็กลงแล้วล้มครืนลงมา

ไม่เคยถึงเป้าหมาย หรือชัยชนะสักครั้ง

หลังจากยุคกลางสร้างพรรคนามสัม รังสี ที่ในที่สุดผู้คนเริ่มจากลานั้น ย้ำว่าเมื่อเป็นพรรคสังคกรรมกับกึม สกขา ทว่า สัม รังสี ซึ่งมีสมาชิกในสังกัดมากกว่า กลับเมินเฉยที่จะช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกบางคนที่ประสบชะตากรรม เช่นกรณี ส.ว.ฮง สกฮัว ที่ถูกคุมขังในเรือนจำหลายปีจากคดีความมั่นคง

สัม รังสี ซึ่งต่อมาต้องคดีเช่นกันและหนีออกนอกประเทศได้ ทว่าก่อนหน้านั้นในกัมพูชากลับเลือกที่จะเล่นการเมืองแบบเพิกเฉยมากกว่าเรียกร้องให้ปล่อยตัวสกฮัว-ในฐานะนักโทษการเมือง

อีกครั้งที่สัม รังสี ขาดวิสัยทัศน์รับมือทางการเมือง ตลอดจนการฉวยเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้สนับสนุนหลายฝ่ายรวมทั้งนานาชาติได้ยกระดับการต่อสู้เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกครั้งที่เขาเลือกที่จะหลบหนีจากช่องทางธรรมชาติ นั่นคือ ความเป็นนักการเมือง 2 สัญชาติ (เขมร-ฝรั่งเศส) ของตน ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่สมาชิกหลายคนถูกเด็ดหัวและต่างเอาตัวรอดแบบเดียวกับหัวหน้าพรรคจะเลือกจะอยู่ในเขตเชฟโซนมากกว่าจะยอมขึ้นศาลและทำให้เกิดมิติการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ๆ

พฤติกรรรมแบบปลา 2 น้ำของสัม รังสี นับวันมีแต่ทำให้เสียหาย ดังจะเห็นได้จากในห้วงไม่กี่เดือนมานี้ ความพยายามของสัม รังสี และพวกในการกลับประเทศกัมพูชาอีกครั้ง ล้วนแต่ยากลำบากเกินกว่าคำว่า “You Don’t Belong Here”1 อีกต่อไป

การสร้างตัวตนแบบ “คนนอก” ของสัม รังสี โดยการอัปเปหิตัวเองอย่างสมัครใจ (หรือไม่?) ในบ่อยครั้ง จะเห็นว่าพอนานวันไป เหมือนคิดได้อยากกลับไปอีกครั้ง ทว่าความพยายามครั้งล่าที่ผ่านมาหลังจากปล่อยให้สมาชิกพรรคเกือบทั้งหมดต้องประสบชะตากรรม

สัม รังสี ก็เผชิญกับความเป็น “คนนอก” อย่างสมบูรณ์แบบบ้าง เมื่ออุบัติเหตุบางอย่างกำลังทำให้เขาตกรถไฟขบวนที่ 2022 หรือกลางปีหน้าที่จะเลือกตั้ง แน่นอน แม้จะแบบเบิร์ดๆ หรือเดิมๆ แต่กระนั้น สัม รังสี ก็ยังอยากลิ้มลอง

ความน่าตื่นเต้นจากลงสมัครรับเลือกตั้ง-ทุกครั้งเสมอ

แต่ดูเหมือนคณะผู้อุปถัมภ์หลายฝ่ายต่างเริ่มถอดใจ ซ้ำร้ายกว่านั้น การประสบชะตากรรมจากพิษภัยโรคระบาด และจากโทษฐานที่เขาแสดงได้ไม่เคยสมบทบาท ราคาที่ควรค่าจะเป็น…

ให้เล่นเป็นฮีโร่ระดับชาติกัมพูชา แต่เป็นได้แค่ตัวประกอบ!

ต่างจากพระรองไกลลิบ คนที่เคยแต่มีบทเอ็กซ์ตร้า แต่ในชีวิตจริงหลังถูกจองจำที่บ้านพักกรุงพนมเปญ กึม สกขา ก็กลายเป็นฮีโร่คนใหม่โดยไม่ต้องรอให้ใครมาประเคนตำแหน่ง

โอ อะไรกันแน่ที่เป็นตัวแปรทำให้สัม รังสี วันนี้มีโชคชะตาที่เปลี่ยนไป? ระหว่างโลกวิถีใหม่-ฮุน เซน หรือกึม สกขา สำหรับความจริงที่ว่า อาชีพนักการเมืองทำกันจนตาย-ไม่มีวันเกษียณ

แต่มีวัน-หมดอายุ

1You Don’t Belong Here : How Three Women Rewrote the Story of War โดยอลิซาเบธ เบ็กเกอร์