2564-อัศวินม้า (ไม่) ขาว!/ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สุรชาติ บำรุงสุข

 

2564-อัศวินม้า (ไม่) ขาว!

 

“ในช่วงเวลาของวิกฤตการเมืองในระบอบเผด็จการ บทบาทของกองทัพมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถ้ากองทัพสนับสนุนระบอบเผด็จการเดิมในการต่อสู้กับฝ่ายค้าน ระบอบนั้นก็จะอยู่รอดได้ อย่างน้อยก็อยู่ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้ากองทัพไม่สนับสนุนแล้ว ระบอบเผด็จการนั้น ก็จะล้มลง [และ] การตัดสินใจที่จะสนับสนุนหรือถอนตัวเช่นนี้ ขึ้นอยู่กับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพ… การตัดสินใจนี้จะมีส่วนกำหนดอย่างสำคัญว่า ทิศทางของประเทศจะเดินไปสู่ประชาธิปไตยหรือไม่”

Dennis Blair

Military Engagement (2013)

 

กองทัพไทยมีบทบาททางการเมืองมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา

ต่อมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย เช่นที่เกิดขึ้นในบรรดาประเทศอักษะ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น แต่การเมืองไทยหลังสงครามโลกกลับเริ่มต้นด้วยรัฐประหาร 2490 ทั้งที่ผู้นำไทยได้พาประเทศเข้าร่วมในสงครามโลกด้วยการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น

แม้กระนั้นประเทศไทยก็สามารถพาตัวเองให้รอดพ้นจากสถานะของการเป็น “รัฐผู้แพ้สงคราม” ได้ ด้วยบทบาทของผู้นำพลเรือนอย่างอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่เปิดการเชื่อมต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรผ่าน “เสรีไทย”

สถานะของประเทศในยุคหลังสงครามโลกจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าสงครามจบลงด้วยการอยู่ในอำนาจของผู้นำทหารอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะผู้นำทหารที่ใกล้ชิดกับฝ่ายอักษะจะเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการเจรจายุติสงครามของรัฐบาลไทยในปี 2488

ขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรก็มิได้ใช้มาตรการเด็ดขาดในการจัดการกับผู้นำที่นิยมญี่ปุ่นในไทย อีกทั้งมิได้ทำการปลดอาวุธกองทัพไทยเช่นที่เกิดในประเทศที่เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ

กองทัพไทยในยุคหลังสงครามโลกจึงยังคงอิทธิพลทางการเมืองไว้ได้ เสมือนหนึ่งไม่ใช่กองทัพที่เคยมีความใกล้ชิดกับกองทัพญี่ปุ่น

สภาวะเช่นนี้ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการยึดอำนาจในยุคหลังสงคราม

 

นักการเมืองในเครื่องแบบ

การรัฐประหารครั้งแรกหลังสงครามในปี 2490 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของการสร้าง “รัฐทหาร” ในการเมืองไทย

และรัฐประหารครั้งนี้ยังสอดรับกับกระแสโลกของยุคสงครามเย็น ที่ต้องการให้ทหารเข้ามาเป็น “ผู้พิทักษ์” ในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ และทหารได้แสดงบทบาทเช่นนี้มาโดยตลอด จนได้รับการยอมรับว่า กองทัพคือ “เสาหลัก” ทางด้านความมั่นคงของรัฐไทย เพราะกำลังรบถูกพิจารณาว่าเป็นปัจจัยหลักในการสร้าง “ความมั่นคงแห่งชาติ” และเป็นเครื่องมือโดยตรงที่ใช้ในการทำสงครามกับกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในภาวะสงครามเช่นนี้จึงมีเสียงสนับสนุนให้ทหารเป็นรัฐบาล

กระบวนการสร้างอำนาจทางการเมืองในยุคหลังสงครามโลกเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จึงอาศัยกองทัพเป็นเครื่องมือหลัก อันทำให้การมีอำนาจในการเมืองไทยเป็นการเปลี่ยนมือจากผู้นำทหารคนหนึ่งไปสู่ผู้นำทหารอีกคนหนึ่งเท่านั้นเอง

ดังจะเห็นได้ว่าจากรัฐประหาร ในปี 2490 จนถึงการระบาดของโควิด-19 ในปี 2564 การเมืองไทยวนเวียนอยู่กับผู้นำทหาร 10 นาย ดังนี้ คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม… จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์… จอมพลถนอม กิตติขจร… พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่… พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์… พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์… พล.อ.สุจินดา คราประยูร… พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน… พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์… พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และต้องยอมรับว่านายทหารทั้งสิบนี้สร้างผลกระทบกับการเมืองไทยมากกว่าผู้นำพลเรือน

สภาวะเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า การเมืองไทยถูกควบคุม (หรืออาจใช้ว่า “ผูกขาด”) โดยผู้นำทหาร

และการมีบทบาทเช่นนี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า ทหารไทยเป็น “ทหารการเมือง” ในตัวเอง เพราะสถาบันกองทัพไม่ได้ถูกสร้างและออกแบบให้ทำหน้าที่ผลิตนายทหารให้เป็น “ทหารอาชีพ” เช่นในประเทศประชาธิปไตย

หากแต่กองทัพถูกแปรให้เป็นฐานทางการเมืองเพื่อรองรับผู้นำทหารที่จะเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในแบบหนึ่งแบบใด

จนทำให้เกิดสภาวะที่ผู้นำกองทัพกลายเป็น “นักการเมืองในเครื่องแบบ” (politician in uniform)

เพราะพวกเขาใช้เวลาอยู่ในเวทีการเมืองเป็นหลัก โดยมีฝ่ายค้านและผู้เห็นต่างเป็นข้าศึก จนสังคมแทบไม่เคยเห็นบทบาทของผู้นำกองทัพในการทำหน้าที่ทางทหาร

บทบาทที่ปรากฏในเวทีสาธารณะล้วนแต่เป็นเรื่องการเมือง

บันทึกประวัติของพวกเขาก็มีแต่เรื่องการเมือง จนเสมือนหนึ่งว่า สถาบันทหารทำการผลิต “นักการเมืองในเครื่องแบบ” เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการเป็นรัฐบาล ไม่ใช่ผลิตนายทหารเพื่อทำหน้าที่ในการรบ

 

อัศวินม้าขาวปราบอธรรม!

การเป็นรัฐบาลของผู้นำทหารจึงมักจะถูกตั้งคำถามเสมอมาว่า ผู้นำทหารที่ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหารนั้น มีขีดความสามารถเพียงใดในการบริหารรัฐสมัยใหม่

มิไยต้องกล่าวว่าผู้นำทหารเหล่านี้มีความชอบธรรมเพียงใดในการยึดอำนาจเพื่อตั้งตนเองและพรรคพวกให้เป็นคณะรัฐมนตรี

แม้ผู้นำจะกล่าวอ้างถึงความสนับสนุนจากชนชั้นนำ ชนชั้นกลางปีกขวา และบรรดาปีกอนุรักษนิยม-จารีตนิยม ที่ยังต้องการให้ทหารเป็น “ผู้ถือบังเหียน” ของประเทศ มากกว่าจะยอมรับตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง

สำหรับปีกขวาจัดในการเมืองไทยแล้ว ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งถูกประกอบสร้างให้เป็น “ปีศาจร้าย” ที่ต้องอาศัยทหารเป็น “อัศวินม้าขาว” เข้ามาปราบอธรรม อีกทั้งตอนนี้ยังเพิ่มด้วยการเคลื่อนไหวของขบวนการของคนรุ่นใหม่ที่ถูกป้ายสีให้เป็น “ปีศาจน้อย” ที่คุกคามต่อผลประโยชน์ อภิสิทธิ์ และสถานะเดิมของกลุ่มผู้มีอำนาจ

แต่ในความเป็นจริงเรากลับพบว่าผู้นำทหารที่เถลิงอำนาจทางการเมืองไม่เพียงไร้ความสามารถ (incompetence) หากเป็นเพียง “อัศวินจอมปลอม” ที่ต้องสร้างภาพปีศาจร้ายให้น่ากลัว เพื่อให้ชนชั้นนำและบรรดาปีกขวาทั้งหลายสนับสนุนให้อยู่ในการเมืองต่อไป…

ยิ่งปีศาจถูกสร้างให้น่ากลัวมากเท่าใด ทหารก็ยิ่งได้รับการสนับสนุนให้อยู่ในอำนาจมากเท่านั้น

แต่กระนั้น คำถามก็เกิดขึ้นตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่า ผู้นำทหารเป็น “อัศวินม้าขาวปราบอธรรม” เช่นในเทพนิยายฝรั่งหรือไม่

หรือวาทกรรมนี้เป็นเพียงภาพลวงตาของอุดมการณ์ต่อต้านการเมือง (Antipolitics Ideology) ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย และเป็นช่องทางให้ผู้นำทหารก้าวสู่การคุมอำนาจทางการเมือง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัย “ฉันทามติของประชาชน”

และในโลกที่เป็นจริง กลับพบว่าผู้นำทหารในการเมืองเป็น “อัศวินอธรรม” มากกว่าจะเป็น “อัศวินปราบอธรรม” อย่างในเทพนิยาย

 

ทหารคือรัฏฐาธิปัตย์?

ไม่ว่าสังคมไทยในปี 2564 จะยอมรับต่อบทบาทเช่นนี้หรือไม่ แต่ก็ยากที่จะทัดทาน เพราะภาคประชาสังคมไทย (civil society) ไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการเป็น “ตัวถ่วงดุล” กับอำนาจของทหาร ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกลุ่มปีกขวาจัด อันกลายเป็นโอกาสของการสร้าง “เสนาธิปไตย” ทั้งเต็มรูปด้วยการจัดตั้งรัฐบาลทหาร หรือครึ่งรูปที่เป็นรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง (หรือระบอบพันทาง)

การเมืองไทยจากปี 2490 จนถึงปี 2564 ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของผู้นำทหาร จนผู้นำทหารบางคนในปัจจุบันถึงกับประกาศว่า “ผมเป็นรัฏฐาธิปัตย์” แทบจะไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประกาศว่า “พระองค์คือรัฐ” (I am the state)

และการเข้ามาเป็นผู้ควบคุมการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ทำให้กองทัพมีสถานะเป็น “รัฏฐาธิปไตย” และมีอำนาจมากสถาบันการเมืองของพลเรือน

ว่าที่จริงแล้วสถาบันตุลาการคือผู้ออกใบรับรองสถานะเช่นนั้น จนกลายเป็นบรรทัดฐานของระบอบอำนาจนิยมไทยว่า “ผู้ใดยึดอำนาจสำเร็จ ผู้นั้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์” เพราะอำนาจรัฐอยู่ในมือของผู้ชนะ และผู้แพ้จะมีสถานะเป็น “กบฏ” ฉะนั้น ตุลาการไทยจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับฟ้องคดีที่ผู้นำทหารก่อการรัฐประหาร เพราะกฎหมายได้ยอมรับต่อสถานะของความสำเร็จในการยึดอำนาจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และรัฐบาลทหารเป็น “ผู้ถือครองอำนาจรัฐ” จนกลายเป็นหลักว่า “อำนาจคือธรรม” (might is right) และละเลยแนวคิด “ธรรมคืออำนาจ” เพื่อเป็นพื้นฐานของการสร้าง “นิติรัฐ”… การสร้างนิติรัฐจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าตุลาการยึดแนวทางอำนาจนิยม

สังคมไทยไม่เคยสร้างหลักคิดใหม่ว่า “ผู้ใดยึดอำนาจ ผู้นั้นเป็นกบฏ” หลักการเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องตัดสินบนพื้นฐานของผลลัพธ์ที่เป็นความสำเร็จของการรัฐประหาร เพราะรัฐประหารคือกระบวนการล้มล้างรัฐธรรมนูญในตัวเอง แต่หลักการของฝ่ายอำนาจนิยมไทยกลับเป็นว่า “รัฐธรรมนูญฉีกได้ แต่ต้องฉีกให้สำเร็จ”

ดังนั้น รัฐประหารในการเมืองไทยจึงมีความหมายโดยตรงว่าเป็น การยึดอำนาจของทหาร (military coup) และดำเนินการโดยมี “กองทัพแห่งชาติ” เป็นเครื่องมือ

ทั้งที่โดยหลักการแล้ว องค์กรนี้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับภารกิจ “การสงครามแห่งรัฐ” อันมีนัยว่ากองทัพเป็น “สถาบันที่ถืออาวุธ” เพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องการละเมิดเอกราชและบูรณภาพแห่งรัฐจากกองกำลังภายนอก

แต่กองทัพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา มักจะมีข้ออ้างเสมอว่าการปกป้องจะครอบคลุมภัยคุกคามภายในด้วย

และข้ออ้างเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพอย่างต่อเนื่อง

 

อนาคต 2564

ภัยคุกคามภายในซึ่งถูกนิยามได้อย่างกว้างขวาง กลายเป็นปัจจัยที่เอื้อโดยตรงต่อการสร้างอำนาจของรัฐทหาร ขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้นำทหารมีข้ออ้างที่จะอยู่ในการเมืองต่อไป ดังจะเห็นได้ว่าผู้นำทหารไทยมีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ยุคสงครามเย็น สู่ยุคหลังสงครามเย็น จนถึงศตวรรษที่ 21

ซึ่งเวลาที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้นำกองทัพเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “ผู้พิทักษ์” ในสงครามคอมมิวนิสต์ เป็น “ผู้ถือบังเหียน” การเมืองของประเทศในปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่าผู้นำทหารคือ “ผู้มีบารมี” ที่แท้จริง โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผู้นำทหารไทยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีล้วนเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกทุกคน)

แต่ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย สถานะของทหารในการเป็น “ผู้ถือบังเหียน” ของประเทศ จะถูกท้าทายมากขึ้น พร้อมกับเสียงเรียกร้องในการปฏิรูปกองทัพที่ดังมากขึ้น…

นี่คือโจทย์ที่ผู้นำทหารไทยและผู้มีอำนาจในการควบคุมกองทัพต้องเผชิญในปี 2564!