ปากเป็นเอก : ว่าด้วย ตร. ปะทะ ปชช. – ทำไม ตำรวจ(ชั้นนายพล) ชอบแถลงข่าว ?

ภาพข่าวคลิป หนุ่มขับรถปะทะคารมเดือดกับตำรวจกลางถนน เหตุโมโหจัดที่ถูกขับรถปาดหน้าและเปิดไซเรนใส่ ถามตำรวจว่าเป็นนักเลงหรือ แล้วท้าชก

จากที่เห็นในภาพนั้นอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์หรือสถานการณ์อย่างนี้ เป็นของใหม่ นับเป็นภาพแปลกตาในสังคมไทย

เพราะเป็นภาพคนหนุ่มชี้หน้าชี้ตา ตวาดและตะโกนตะคอกใส่ตำรวจยศ ด.ต. ท่าทางทะมัดทะแมงในเครื่องแบบ 191

ผมดูอย่างใจเต้น ตำรวจมีทางเลือกน้อยมาก คือ อดทนและเงียบไว้ก่อน กับเอาชนะด้วยการแจ้งข้อหาแล้วออกแรงจับกุม หรือเรียกกำลังหรือคู่หูมาช่วย แต่เท่าที่เห็นก็คือ ตำรวจออกจะงงๆ ที่ถูกขู่ตะคอกและท้าต่อย…เครื่องแบบและยศไม่ให้เครดิตอะไรเลย

ดาบตำรวจก็คงจะคิดเหมือนผมในวินาทีแรกที่เจอเข้ากับสถานการณ์อย่างนี้ คือ “งง” จนนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี

อีกคลิปที่น่าสนใจ เป็นคลิปบอกเล่าเหตุการณ์ระหว่าง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. และตำรวจผู้ใหญ่หลายนาย กำลังสอบสวนนายก อบต.บ้านใหม่ จ.นนทบุรี ในประเด็นเบิกงบฯ ดูงาน จ.แม่ฮ่องสอน ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนที่เกี่ยวข้อง (และอาจจะต่อหน้าผู้สื่อข่าวด้วย)

เสียงและภาพรุนแรงปะทะเดือดใกล้เคียงกับกรณีหนุ่มขึ้โมโหปะทะเดือดตำรวจ 191 จนสื่อเรียกภาพนี้ว่า “แมตช์หยุดโลก”

ผมดูในเฟซบุ๊กฉบับที่มีซับไตเติลแปลเสียงพูดแล้วยอมรับว่าเป็นแมตช์หยุดโลกจริงๆ เสียงและภาพก็ครือกัน นั่นคือการโต้เถียงด้วยเสียงอันดัง ชี้หน้าชี้ตา กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามพูดขู่ ต่างกันที่หนนี้เป็นการปะทะเดือดกันเป็นหมู่ ไม่ใช่ตัวต่อตัว

ลงท้ายด้วยนายก อบต. หันไปตวาดนายตำรวจที่ยืนข้างหลังและจับไหล่ว่า

“อย่ามาโดนตัวกู!”

รอง ผบ.ตร.ศรีวราห์ท่านเคยผ่านสถานการณ์แบบนี้มามาก จึงออกอาการ “งง” เพียงเสี้ยววินาทีแรกเท่านั้น วินาทีถัดมาหลังจากนั้นก็ “จัดเต็ม” อย่างสุขุม สั่งผู้บังคับการ แจ้งข้อหาเพื่อขออนุมัติศาลออกหมายจับ

ต่อมาก็กล่าวหาทนายความของนายก อบต. แจ้งความเท็จ เมื่อนายกไม่มาตามนัดแล้วทนายความแจ้งว่า นายก อบต. ป่วยเข้าโรงพยาบาล ไม่สามารถมาตามนัดได้…

รอง ผบ.ตร. จัดเต็มทุกลูก

ต่างกันเล็กน้อยกับเรื่องของตำรวจ 191 ที่ถูกท้าชก…

ผบก.191 กับนายตำรวจ นั่งล้อมวงโต๊ะกาแฟ ซักถามรายละเอียดจาก ด.ต. ที่ถูกท้าชก ได้ข้อเท็จจริงว่า หนุ่มขี้โมโหขับรถกระบะของร้านประดับยนต์ด้วยความเร็ว รถติดสัญญาณไฟวับวาบบนหลังคา จึงขับรถเข้าไปสอบถามแล้วถูกท้าชกจนเป็นข่าวในสื่อโซเชียลและทางทีวีหลายช่อง

ผบก.191 กำชับให้ตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาใช้ความอดทนอดกลั้นในการทำงานแม้จะอยู่ในภาวะถูกกดดันแค่ไหนก็ตาม

ตำรวจตั้งข้อหาหนุ่มขี้โมโหว่า ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยภาพที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ และขับรถในทางเดินรถโดยใช้สัญญาณไฟวับวาบโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทีวีช่องหนึ่งตามไปสัมภาษณ์หนุ่มเจ้าของรถ ซึ่งหลังจากหายโมโหแล้วก็ยอมรับผิดและอยากขอโทษ “พี่ตำรวจ” 191

ทั้ง 2 ภาพข้างต้น เนื้อข่าวเข้าใจยาก ยังชี้ชัดไม่ได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากความผิดของตำรวจหรือไม่ อย่างไร ด้วยว่าการใช้ภาษาในแต่ละข่าวนั้นเป็นแบบใหม่ ใช้คำที่สร้างขึ้นใหม่ ประโยคสำคัญไม่มีประธาน ต้องอ่านเทียบเคียงกับข่าวใน น.ส.พ. หรือของสำนักข่าวอื่น และต้องคาดเดาหรือต่อเติมเอาเองบ้าง

แต่ที่เห็นชัดๆ ตรงกันก็คือ ทุกคอมเมนต์ที่วิพากษ์วิจารณ์ล้วนตำหนิว่าตำรวจเป็นผู้ผิดทั้งสิ้น (ไม่ฮา)

ผมได้ข้อคิดจากจุดนี้ว่า ในสังคมนี้ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้นที่ “อยู่ยาก” ตำรวจก็อยู่ยากด้วย

หลักสูตรฝึกอบรมตำรวจจะต้องออกแบบกันใหม่ โดยเฉพาะในวิชา ยุทธวิธีตำรวจ หรือ police tactic การต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่า ต้องเปลี่ยนเป็นการโต้เถียงด้วยปากเปล่า

อาจจะต้องสร้างเหตุการณ์สมมุติ (simulate) ทำนองเดียวกับการฝึกของหน่วย “สวาท” (S.W.A.T) ในสมัยที่เรายังหนุ่มอยู่ ตอบโต้ข้อกฎหมาย และ ป.วิ.อาญา ได้ทันท่วงที เพราะตำรวจจะต้องเผชิญหน้ากับคนหัวหมอ ผู้สื่อข่าวขี้เบ่ง สมาชิกฮิวแมนไรท์ หนุ่มขี้โมโห นักเลงสายโหด เด็กแว้นหรือวัยรุ่นปากไว ซึ่งอาจจะอันตรายกว่าคนร้ายสำคัญ

นอกจากนั้น ควรจะต้องฝึกอบรมในเรื่องความอดกลั้นอดทนมากขึ้น และเมื่อต้องพบกับผู้สื่อข่าว ต้องรู้วิธี “ไม่พูด” หรือพูดในอีกลักษณะหนึ่งที่มิใช่เป็นการตอบโต้ เช่นเดียวกับคำพูดสุดฮิตของ “ป๋า” ที่ว่า “กลับบ้านเถอะลูก”

นี่มิใช่เรื่องพูดเล่นเอาฮานะครับ… คงจำได้ครั้งที่อดีต ผบ.ตร. คนที่แล้ว (พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง) กำลังจะแถลงข่าวจับกุมคนร้ายวางระเบิดแยกราชประสงค์ ผู้สื่อข่าวนายหนึ่งถามคำถามแรกอย่างไม่มีใครคาดฝันว่า “แพะหรือเปล่า?”

ผบ.ตร. ยุติการแถลงข่าวทันที ต่อว่าผู้สื่อข่าวรายนั้น ลงท้ายทำนองว่า “อย่านึกว่าผมกลัวผู้สื่อข่าวนะ ผมไม่กลัวคุณหรอก”

ทิ้งไว้ให้ผู้สื่อข่าวตำหนิกันเองว่า เป็นผู้สื่อข่าวรื้อบ่อน

กล่าวถึงการแถลงข่าวของตำรวจ ผมคงจะโบราณเกินไป เมื่อเขียนถึง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร นายพลคนขยันแย่งงานร้อยเวรไปทำ มีคนเห็นด้วยกับผมเพียงไม่กี่คน ต่างเป็นคนรุ่นโบราณทั้งสิ้น นายตำรวจรุ่นใหม่ไม่มีใครสนใจ

เมื่อไม่กี่วันก่อนก็มีนายพล (พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ผบก.น.4) พร้อมนายตำรวจระดับสูงอีกอย่างน้อย 5 นาย “แห่” กันมาแถลงข่าว กรณีไกล่เกลี่ยเหตุรถชนกันเสียหายเล็กน้อยและไม่มีผู้บาดเจ็บ และที่คู่กรณีมีปากเสียงกันนั้นทางฝ่ายผู้เสียหายไม่ยอมความ จึงแจ้ง 3 ข้อหาอีกฝ่าย ดูหมิ่นซึ่งหน้า ทำให้ผู้อื่นตกใจโดยการขู่เข็ญ และขับรถโดยประมาท

ถูกกระแหนะกระแหนว่า “ผลของนายพลเฟ้อจนไม่มีอะไรทำ ต้องลงไปไกล่เกลี่ยคดีรถเฉี่ยวชนซึ่งเป็นหน้าที่ของร้อยเวร” เป็นการดิสเครดิตเครื่องแบบและยศซึ่งเคยมีอยู่

ผมพอจะเข้าใจเหตุผลที่นายตำรวจทุ่มเทกับการแถลงข่าว…

ประการแรก ตำรวจมีข้อบังคับในการแถลงข่าวเป็นกรอบปฏิบัติ

อีกเหตุผลหนึ่งซึ่งสำคัญก็คือ คนที่ได้ “ออกสื่อ” บ่อยมักจะได้ดิบได้ดี ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งรวดเร็วกว่าคนที่ก้มหน้าก้มตาทำงาน นายตำรวจที่มีความทะเยอทะยานจึงเปลี่ยนค่านิยมและทัศนคติในการทำงานกัน ก็เห็นๆ กันอยู่โดยผมไม่จำต้องยกตัวอย่าง

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ผมก็ยังมองไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะต้องแถลงข่าวด้วยซ้ำ เว้นไว้แต่ว่าตำรวจคาดว่าผู้เสพสื่อน่าจะอยากเห็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงแฟชั่นโชว์สวมเสื้อที่คล้ายยกทรงเบอร์เอ๊กซ์…เป็นการคลายเครียด