เศรษฐี VS เศรษฐีใจบุญ / บทความพิเศษ – จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

เศรษฐี VS เศรษฐีใจบุญ

 

สํานักข่าว CNBC ได้ทำการจัดอันดับ “เจ้าสัวโลก” ต้อนรับปีใหม่ 2021 เผย Elon Musk แซง Jeff Bezos ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีหมายเลข 1

ผมเคยเขียนถึง Elon Musk ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้มาแล้วหนหนึ่ง ชื่อตอนว่า “จาก Elon Musk ถึง Lei Jun ‘นิสัยนวัตกรรม’ นำขับเคลื่อน ‘องค์กรนวัตกรรม'”

Elon Musk คือผู้ถือหุ้นคนสำคัญของธุรกิจผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า Tesla และเป็นเจ้าของบริษัทท่องอวกาศ SpaceX

ส่วน Lei Jun เป็นผู้บริหารระดับสูงของ Xiaomi คู่แข่งตัวฉกาจของ Jack Ma แห่ง Alibaba ครับ

Jeff Bezos นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเขากำลังโด่งดังระดับโลก ที่ใครๆ ก็รู้จักชายผู้ก่อตั้ง Amazon.com คนนี้

และเมื่อปีกลาย Jeff Bezos ก็เป็นเจ้าของตำแหน่ง “เจ้าสัวโลก” ประจำปี 2020

ส่วนตำแหน่งอภิมหาเศรษฐีประจำปี 2021 นี้ CNBC ได้ยกให้กับ Elon Musk ดังที่เกริ่นเอาไว้ข้างต้น

CNBC ได้ทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของ Elon Musk ณ วันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ.2021 พบว่า Elon Musk เข้าป้าย “เจ้าสัวโลก” เฉือน Jeff Bezos ไปอย่างเฉียดฉิว ชนิดที่ต้องตัดสินกันด้วยภาพถ่าย

เพราะ Elon Musk มีเงินในบัญชี 185,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ Jeff Bezos มีทรัพย์สิน 184,000 ล้านดอลลาร์

CNBC ชี้ว่า การที่ Elon Musk เขย่งก้าวกระโดดดึ๋งๆ ขึ้นแท่นเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกได้นั้นถือเป็นการพุ่งขึ้นมารวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์!

ทั้งนี้เนื่องเพราะเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ.2020 หรือปีที่แล้ว Elon Musk มีมูลค่าทรัพย์สินเพียง 27,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น!

CNBC วิเคราะห์ว่า ปัจจัยติดเทอร์โบที่ทำให้เงินในบัญชีของ Elon Musk เพิ่มขึ้นจาก 27,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 185,000 ล้านดอลลาร์ ก็คือ “ราคาหุ้น” ของ Tesla

ที่เพิ่มขึ้นมากถึง 9 เท่า หรือ 900% จากปีที่แล้ว แม้ Elon Musk จะถือหุ้นของ Tesla ในสัดส่วนแค่ 20% ก็ตาม

ชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญอันหนึ่งของแวดวงยานยนต์โลกที่กำลังมุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั่นเองครับ!

Jeff Bezo

 

นอกจาก Tesla และ SpaceX แล้ว ต้องไม่ลืมว่า Elon Musk เป็นเจ้าของ Hyperloop ระบบท่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รวมถึง Neuralink โครงการเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับ AI โดยจะฝัง Chip คอมพิวเตอร์ลงไปในสมองคน!

ยังไม่ต้องพูดถึงธุรกิจอัจฉริยะในอดีตของ Elon Musk ที่มีมากมาย อาทิ บริษัทจัดทำแผนที่และทำเนียบธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตที่ชื่อ Zip2 (ปัจจุบันเป็นของ HP) หรือจะเป็น X.Com ที่ต่อมาพัฒนาเป็น PayPal (ปัจจุบันเป็นของ eBay)

และบริษัทให้บริการศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่ชื่อ Ever Dream (ปัจจุบันเป็นของ DELL) นอกจากนี้ ยังมี “ธุรกิจขายฝัน” ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีคือธุรกิจรับ Scan หนังสือเพื่อแปลงเป็น Digital ไฟล์ (ปัจจุบันก็คือเทคโนโลยี PDF)

ในมุมมองของผม (และอีกหลายท่าน) ความร่ำรวยนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล มันแทบจะไร้ค่าหากเจ้าสัวไม่คิดบริจาคให้กับโลกบ้าง และบรรดาเศรษฐีก็จะไม่ได้รับคำชื่นชมใดๆ จากสังคมเลย หากไร้ซึ่งการแบ่งปัน

แน่นอนว่าสถานะในขณะนี้ (จากรายงานข่าว) ทำให้ Jeff Bezos ดูจะมีภาษีดีกว่า Elon Musk ในสายตาชาวโลก ที่นอกจากพวกเขาจะเฉือนชนะความรวยกันไปแค่ 1,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

The Chronicle of Philanthropy ได้เปิดผลการจัดอันดับการบริจาคเงินประจำปี ค.ศ.2020 จากอภิมหาเศรษฐีทั่วทุกมุมโลก ปรากฏว่า Jeff Bezos คือ “เศรษฐีใจบุญ” ตัวจริงครับ!

เพราะ The Chronicle of Philanthropy รายงานว่า Jeff Bezos นั้น “ยืนหนึ่ง” ในฐานะเจ้าสัวใจดี ผู้บริจาคเงินเพื่อการกุศลมากที่สุดในโลก

The Chronicle of Philanthropy ชี้ว่า ในปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา Jeff Bezos ได้บริจาคเงินผ่านกองทุนการกุศล Bezos Earth Fund เพื่อนำไปใช้ในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมเป็นเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์

โดย ณ ขณะนี้ กองทุน Bezos Earth Fund ได้เบิกจ่ายเงินให้แก่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกจำนวน 16 แห่ง วงเงิน 800 ล้านดอลลาร์

ต้องยอมรับว่า ในอดีตชื่อของ Jeff Bezos ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก นอกจากบรรดาหนอนที่เคยสั่งซื้อหนังสือผ่าน Amazon.com

แต่ปัจจุบันชื่อของ Jeff Bezos เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจาก “ขาช้อป” ทั่วทุกมุมโลก จากการที่ Amazon.com แตกไลน์จากธุรกิจขายหนังสือไป “ขายของทุกชนิด” ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ!

 

จากรากฐาน Brand อันแข็งแกร่งของ Amazon.com ซึ่งมี “หัวใจสำคัญ” อยู่ที่ “ความเชื่อถือ” จากการ “ขายหนังสือ” เมื่อ 25 ปีก่อน

1. จะไม่มีการโกงบัตรเครดิต

2. จะส่งหนังสือตรงตามเวลา

3. หนังสือจะอยู่ในสภาพดี-เหมือนซื้อจากร้าน

และ 4. จะมีหนังสือทุกปกตามที่ลูกค้าต้องการ

Jeff Bezos สร้าง “ความเชื่อถือ” ขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ Amazon.com ช่วงชิงความได้เปรียบจากผู้ค้ารายอื่น

ที่สำคัญที่สุดก็คือ Amazon.com ใช้ “จุดแข็ง” ของธุรกิจ e-Commerce คือ “ความเร็ว” และ “ความเป็น Digital” บุกตะลุย

จนทำให้ทุกวันนี้ Jeff Bezos กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีแสนล้าน!

 

ปัจจุบันนอกจาก Amazon.com แล้ว Jeff Bezos ยังได้ทำการประกาศ “สงครามธุรกิจอวกาศ” กับ Elon Musk ด้วยการเปิดบริษัท Blue Origin เพื่อแข่งกับ SpaceX ของ Elon Musk

โดยนอกจาก SpaceX ของ Elon Musk และ Blue Origin ของ Jeff Bezos แล้ว Richard Branson อภิมหาเศรษฐีอีกคนหนึ่งก็ลงแข่งขันใน “สมรภูมิอวกาศ” ด้วยการเปิดบริษัท Virgin Galactic สร้างจรวด Spaceship One

อย่างไรก็ดี “เจ้าสัวโลก” ทั้ง Richard Branson (Virgin Group) ทั้ง Lei Jun (Xiaomi) กระทั่ง Jack Ma (Alibaba) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Elon Musk (Tesla) ที่แม้จะร่ำรวยขึ้นมาได้ด้วยลำแข้งของตนเอง-สร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นเจ้าของธุรกิจสำคัญๆ ของโลก

ทว่าก็ยังมิอาจสู้ “เศรษฐีใจบุญ” ที่ชื่อ Jeff Bezos ได้!

เพราะ Americans for Tax Fairness ได้คาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2021 นี้ Jeff Bezos จะมีทรัพย์สินรวมมูลค่าทั้งหมด 188,000 ล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้น 63%)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาการระบาดระลอก 2 ของ COVID-19 ที่คนทั่วโลกถูก Lockdown จึงอาศัยสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Online และแน่นอน หนีไม่พ้น Amazon.com

 

Americans for Tax Fairness รายงานต่อไปว่า “เศรษฐีใจบุญ” อันดับที่ 2 รองจาก Jeff Bezos คือ Phil Knight และ Penny Knight เจ้าของบริษัทอุปกรณ์กีฬา Nike ที่บริจาคเงินรวมมากกว่า 900 ล้านดอลลาร์ให้แก่มูลนิธิ Knight Foundation และอีก 300 ล้านดอลลาร์ให้กับ Oregon State University

ส่วนอันดับที่ 3 จากการรายงานของ Americans for Tax Fairness ได้แก่ Fred Kummer และ June Marie Kummer ผู้ก่อตั้งบริษัทก่อสร้าง HBE Corporation ที่บริจาคเงินจำนวน 300 ล้านดอลลาร์ให้แก่ Missouri University of Science and Technology

Americans for Tax Fairness รายงานต่อไปในอันดับที่ 4 ซึ่งได้แก่ Mark Zuckerberg และ Priscilla Chan ที่บริจาคเงินจำนวน 250 ล้านดอลลาร์ให้แก่ Center for Tech and Civic Life ผู้ทำหน้าที่ดูแลงานด้านการรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ผ่านมา

และอันดับที่ 5 คือ Arthur Blank ผู้ก่อตั้งเครือข่ายร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง Home Depot ที่ได้บริจาคเงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์ให้แก่ Children’s Healthcare of Atlanta เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ Americans for Tax Fairness ทิ้งท้าย