จีนอพยพใหม่ในไทย (18) เมื่อแรกที่ปลายทาง (ต่อ) /วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (18)

เมื่อแรกที่ปลายทาง (ต่อ)

 

พ้นไปจากปัญหาดังกล่าวแล้ว การใช้ชีวิตในระยะแรกจึงเป็นการปรับตัวทั่วไป อย่างเช่น ในเรื่องอาหารการกิน ซึ่งโดยส่วนมากของชาวจีนในกลุ่มนี้จะมีทางเลือกมากกว่ากลุ่มแรก

นั่นคือ ในกรณีที่ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับอาหารไทยได้ ชาวจีนกลุ่มนี้บางคนจำต้องซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารเพื่อรับประทานเอง

ส่วนชาวจีนในกลุ่มที่แม้จะปรับตัวเข้ากับอาหารไทยได้นั้น ถึงที่สุดแล้วหากมีทางเลือกก็ยังคงเลือกอาหารจีนของตนมากกว่าอยู่ดี

ส่วนชาวจีนที่รับประทานอาหารไทยได้ด้วยความชื่นชอบนั้นถือเป็นกลุ่มที่มีน้อยที่สุด

มีอยู่ตัวอย่างหนึ่งเป็นหญิงสาวอายุ 20 เศษและจบการศึกษาระดับปริญญาตรีได้ให้ข้อมูลว่า เธอเข้ามายังไทยเพราะชื่นชอบวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ของไทยมาก และเรื่องหนึ่งที่เธอชื่นชอบเป็นพิเศษก็คือ อาหารไทย ซึ่งในความหมายของเธอหมายถึงทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ตลอดจนผลไม้ไทย

โดยสรุปแล้ว ชาวจีนที่มีฐานะปานกลางหรือต่ำกว่าระดับปานกลางไม่มากนี้ สามารถใช้ชีวิตในไทยเมื่อแรกเข้ามาได้ดีกว่าชาวจีนกลุ่มแรก คือนอกจากจะมีความกดดันน้อยกว่าแล้ว ความกดดันที่มีก็มิใช่ความกดดันในแบบตายเอาดาบหน้า ปากกัดตีนถีบ หรือต่อสู้ดิ้นรนอย่างแสนสาหัส

ที่เป็นเช่นนี้ได้นอกจากจะมาจากภูมิหลังทางฐานะและการศึกษาแล้ว สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในอีกด้านหนึ่งก็คือ ชาวจีนกลุ่มนี้ที่มีทักษะในวิชาชีพสูง

ซึ่งนับเป็นประเด็นที่พึงศึกษาพิจารณาสำหรับสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

 

กรณีที่มีฐานะดี ชาวจีนอพยพที่มีฐานะดีนี้ถือเป็นกรณีที่มีน้อยที่สุด เป็นกลุ่มที่มีฐานะปานกลางหรือสูงกว่าระดับปานกลาง เหตุดังนั้น การเข้ามายังไทยจึงเป็นการเข้ามาที่ค่อนข้างพร้อมมากกว่าชาวจีนสองกลุ่มแรก

คือพร้อมทั้งข้อมูลและทุนที่มีอยู่ในมือ

และเมื่อเข้ามาแล้วก็มาลงทุนในกิจการที่มีขนาดกลางขึ้นไป โดยมีพนักงานที่เป็นชาวไทยและ/หรือชาวจีน หรือทั้งชาวไทยและชาวจีนรวมกัน สุดแท้แต่ลักษณะของกิจการ เช่น ถ้าเป็นธุรกิจในภาคบริการก็อาจมีพนักงานทั้งชาวไทยและจีน แต่ถ้าเป็นกิจการโรงงานก็จะมีพนักงานและแรงงานชาวไทยเป็นหลัก

โดยในส่วนพนักงานชาวจีนนั้นโดยมากมักมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับภาษาจีนโดยตรง และหากเป็นชาวไทยก็มักเป็นผู้มีความรู้ภาษาจีนดี อนึ่ง กรณีพนักงานชาวจีนนี้อาจมีบางคนที่จัดเป็นผู้อพยพ คือเป็นผู้อพยพที่มีฐานะปานกลางดังได้กล่าวไปก่อนหน้านี้

และในประการต่อมา กรณีชาวจีนที่มีฐานะดีในที่นี้ไม่รวมชาวจีนที่เข้ามายังไทยในฐานะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และลงทุนในธุรกิจหรือกิจการขนาดใหญ่ เช่น การเงินการธนาคาร หรือบรรษัทข้ามชาติ ที่ไม่รวมก็ด้วยเหตุที่ชาวจีนกลุ่มนี้มิได้ตั้งใจปักหลักอยู่ในไทย

โดยส่วนหนึ่งมักเดินทางไปกลับประเทศไทยกับประเทศจีนอยู่เสมอ อีกส่วนหนึ่งที่ประจำอยู่ในไทยก็ด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานในฐานะพนักงานที่ถูกส่งตัวมาปฏิบัติงานในไทย

ชาวจีนกลุ่มนี้มีปัญหาเมื่อแรกที่อยู่ในไทยน้อยมาก เพราะด้วยฐานะที่ดีได้ทำให้ชาวจีนกลุ่มนี้มีที่พักอาศัยที่ดี และสามารถเข้าถึงความเป็นจีนในด้านต่างๆ ได้ง่ายกว่าชาวจีนสองกลุ่มแรก อีกทั้งในส่วนของการใช้ภาษาไทยก็จะมีพนักงานชาวไทยที่รู้ภาษาจีนดีคอยช่วยเหลือเป็นอย่างดี

เหตุดังนั้น การเข้าถึงความเป็นไทยในด้านต่างๆ ของชาวจีนกลุ่มนี้จึงเป็นไปโดยอิสระและมีทางเลือกมากมาย ว่าจะเข้าถึงในด้านใดสุดแท้แต่ความต้องการก็ได้ ชีวิตเมื่อแรกเข้ามายังไทยจึงมีปัญหาน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับชาวจีนในสองกลุ่มแรก

นานาอาชีวะ

ชาวจีนอพยพที่เข้ามายังไทยล้วนมีอาชีพทุกคนและมีอาชีพที่แตกต่างกันไป แต่ก็มิได้แตกต่างจนหลากหลายมากมายดังอาชีพของคนไทย ถึงกระนั้น อาชีพของชาวจีนอพยพก็สามารถฉายให้เห็นภาพใหญ่ๆ ได้สองภาพ

ภาพแรก เป็นอาชีพของชาวจีนที่เข้ามายังไทยหลัง ค.ศ.1978 ไม่นาน หรือเข้ามาเมื่อราว 30-40 ปีก่อน

ภาพต่อมา เป็นอาชีพของของชาวจีนที่เข้ามานับแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

การที่ทั้งสองภาพมีปฏิสัมพันธ์กับห้วงเวลานี้ก็เพราะมีเงื่อนไขภายในและภายนอกจีนมากำหนด เงื่อนไขที่ว่านี้ก็คือ สถานการณ์ภายในและภายนอกจีนดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงในหัวข้อก่อนหน้านี้มาโดยตลอด เงื่อนไขนี้จึงเป็นปัจจัยผลักดัน (push factors) และปัจจัยดึงดูด (pull factors) ไปในตัว

จากภาพใหญ่ทั้งสองนี้สามารถนำไปสู่การจัดแบ่งประเภทของอาชีพโดยภาพรวมของชาวจีนเหล่านี้ได้ ดังนี้

แรงงานเข้มข้น

แรงงานเข้มข้น (labor intensive) ในที่นี้หมายถึง แรงงานที่มิต้องใช้ความรู้หรือทักษะสูงในการทำงาน ตามนิยามนี้ชาวจีนที่เข้ามายังไทยแล้วเป็นแรงงานเข้มข้นจะแยกได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นแรงงานอิสระกับกลุ่มที่เป็นแรงงานมีสังกัด

ชาวจีนที่เข้ามาเป็นแรงงานเข้มข้นเริ่มปรากฏตั้งแต่ที่จีนเปิดประเทศใน ค.ศ.1978 ไปไม่นาน และยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยตลอดช่วงทศวรรษ 1980 ถึงทศวรรษ 1990 นั้นพบว่า แรงงานอิสระที่มีมากกว่าแรงงานที่มีสังกัดจะค่อยๆ ลดสัดส่วนลง แล้วถูกแทนที่ด้วยแรงงานที่มีสังกัด

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในระยะแรกที่เข้ามาแรงงานจีนยังไม่มีเครือข่ายรองรับในไทย ทำให้ชาวจีนที่เข้ามาโดยตั้งใจจะไม่กลับไปจีนอีกต้องหาอาชีพเป็นของตนเอง ดังตัวอย่างหญิงจีนที่ยึดอาชีพเก็บของเก่าขายตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เป็นต้น

จนเมื่อเวลาผ่านไปได้เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวของชาวจีนขึ้นในไทย ธุรกิจนี้จึงได้กลายเป็นเครือข่ายรองรับของชาวจีนกลุ่มนี้ โดยเมื่อเข้ามาแล้วชาวจีนกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวไปยังแหล่งงานต่างๆ ซึ่งแทบทุกคนไม่มีใครเลือกงานและต่างรู้ดีว่าเป็นแรงงานเข้มข้น

สัดส่วนที่เปลี่ยนไปนี้ทำให้เห็นว่า แรงงานอิสระที่เข้ามาในระยะแรกจะมีความเสี่ยงสูงกว่า

เพราะนอกจากต้องใช้ชีวิตที่หลีกเลี่ยงการพบเจอของเจ้าหน้าที่แล้ว งานที่ทำก็ยังเป็นงานที่ใช้แรงงานที่ค่อนข้างหนัก แต่จะไม่ถึงขั้นเป็นกรรมกรแบกหามตามโครงการก่อสร้างต่างๆ ในขณะที่ชาวจีนที่เข้ามาในชั้นหลังที่มีเครือข่ายรองรับด้วยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า แม้จะยังจัดเป็นแรงงานเข้มข้นก็ตาม

ส่วนลักษณะงานที่ทำนั้นมีตั้งแต่พนักงานในภัตตาคาร สถานประกอบการขนาดเล็กหรือต่ำกว่าขนาดกลาง แรงงานรับจ้าง หรือแรงงานค้าเร่ เป็นต้น

อนึ่ง แรงงานค้าเร่นี้หมายถึง การคล้องแผงสินค้าเบ็ดเตล็ดแล้วเดินเร่ขายเหมือนคนคล้องแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาล

ผู้วิจัยเคยพบกรณีนี้ที่บริเวณตลาดสดของจังหวัดปัตตานีเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ผู้ค้าเป็นวัยรุ่นหญิงจีน สินค้าบนแผงมีอาทิ ยาดม ไม้แคะหู ไม้ปั่นหู ยาหม่อง ยาแดง ดินสอ ปากกา ยางลบ ลูกกวาด ยาอม เป็นต้น

แผงเร่นี้สามารถพบเห็นได้เป็นปกติตามโรงหนังในอดีต ซึ่งทุกวันนี้ได้หายไปแล้ว

 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีหนึ่งที่ต่างไปจากแรงงานทั่วไปคือ เจ้าหน้าที่สมาคมจีนที่หาดใหญ่ เจ้าหน้าที่รายนี้มีหน้าที่เฝ้าสมาคม ดูแลงานบ้าน อย่างเช่น ความเป็นระเบียบของสำนักงาน หรือความพร้อมต่างๆ เวลามีกิจกรรมของสมาคม เป็นต้น

เจ้าหน้าที่รายนี้เข้ามาทำงานนี้หลังจากจีนเปิดประเทศได้ไม่นานหรือเมื่อกว่า 30 ปีก่อน

แรงงานเข้มข้นชาวจีนนี้มีการศึกษาไม่สูง งานที่ทำจึงใช้ความรู้ไม่มากหรือมีทักษะต่ำ แต่ก็เห็นได้ถึงความขยันและอดทนในแง่หนักเอาเบาสู้ได้ดี คุณสมบัตินี้ต่อมาได้นำพาให้ชาวจีนเหล่านี้เลื่อนฐานะของตนจากแรงงานเข้มข้นแต่เดิม มาเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กหรือขนาดกลางในเวลาต่อมา

ซึ่งก็หมายความว่า เวลาที่ผ่านไปได้ทำให้แรงงานเหล่านี้สั่งสมทักษะในการทำงานเพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้นก็เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทยจนใช้ภาษาไทยในระดับพอใช้

พัฒนาการเช่นนี้จึงไม่ต่างกับชาวจีนโพ้นทะเลในอดีต

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป