ออกพันธบัตรสู้โควิด | ตั้งเป้าส่งออกข้าว 6 ล้านตัน | คนละครึ่งเงินสะพัด 7.1 หมื่นล้านบาท

แฟ้มข่าว

สนับสนุนงานด้านคนพิการ – จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการ ระดับดี ประจำปี 2563 แก่สุธิดา เสียมหาญ ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้สร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตผ่านการสร้างพลังกาย พลังใจ และพลังชีวิตให้แก่คนพิการมาอย่างต่อเนื่อง ในงานวันคนพิการสากล

วอนรัฐเร่งช่วยท่องเที่ยว

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ในไทย ประเมินผลกระทบ อาจทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวเสี่ยงตกงานสะสมกว่า 2 ล้านคน จากแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่ามีรวมประมาณ 4 ล้านคน จึงต้องการเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งธนาคารแรงงานขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลจริงของแรงงานทั้งหมดในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถบอกได้ชัดเจนว่า มีแรงงานที่ต้องช่วยเหลือจำนวนเท่าใด โดย สทท.พร้อมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ ขอเพียงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่านั้น โดยเรื่องสำคัญที่ต้องการให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม คือ การช่วยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) บวกกับการช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานคนละครึ่ง (โคเพย์) ระหว่างรัฐและเอกชน ไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน แต่โคเพย์จะต้องออกมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีความชัดเจน อาทิ รัฐบาลมีงบฯ ให้ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้กับโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวใดบ้าง และจะออกมาช่วงใด ใช้เงินเท่าใดจนกว่าจะหมดตามแผนที่วางไว้

 

ออกพันธบัตร ‘เราชนะ’ สู้โควิด

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น เราชนะ (We Win) ในปีงบประมาณ 2564 เพื่อระดมทุนบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์เป็นตราสารหนี้ที่มีความมั่นคง ให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มจำหน่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เป็นที่แรกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป โดยมี 2 รุ่นพันธบัตร ได้แก่ 1.รุ่นเราชนะ วงเงินจำหน่าย 5,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เฉลี่ย 2.00% ต่อปี (ผลตอบแทนหลังหักภาษี 1.70% ต่อปี) โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาท และ 2.รุ่นเราชนะ วงเงินจำหน่าย 55,000 ล้านบาท โดยเป็นการจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ ตั้งแต่วันที่ 5-19 กุมภาพันธ์ 2564

 

ตั้งเป้าส่งออกข้าว 6 ล้านตัน

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำหนดเป้าการส่งออกข้าวไทยปี 2564 ปริมาณ 6 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณใกล้เคียงกับการส่งออกในปี 2563 ที่ส่งออกได้รวม 5.72 ล้านตัน ปริมาณต่ำในรอบกว่า 10 ปี โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าว ได้แก่ ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ อาทิ อินเดีย และ เวียดนาม จากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นระยะ ส่งผลให้ราคาแพงกว่าคู่แข่งบางช่วง 30-35 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ส่งออก โดยเฉพาะไตรมาสแรกปี 2564 จากการระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ประกอบกับผู้นำเข้าหลายประเทศ ยังคงได้รับผลกระทบทำให้กำลังซื้อลดลง และหลายประเทศเริ่มเจอภัยธรรมชาติ อากาศแปรปรวน กระทบผลผลิตเสียหาย หลายประเทศสต๊อกแทนส่งออก ราคาในประเทศแพงกระทบตลาดส่งออกข้าวโลก โดยจะประชาสัมพันธ์ข้าวไทย ผ่านการจัดทำข้อมูลตลาดข้าวเชิงลึก เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานภาคการผลิตต่อไป ปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการดำเนินการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในต่างประเทศ เป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้น

 

ขอหั่นค่าตั๋วโดยสารรถไฟฟ้า

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าโดยสาร โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (อาร์เอฟพี) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ระบุอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 เริ่มต้นที่ 17 บาท โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานีขึ้นไป หรือคิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3-4 บาท/สถานี ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการ ระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ของ รฟม. ที่มีสมมุติฐานกำหนดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2567 ซึ่งคำนวณตามมาตรฐานของ รฟม.โดยอ้างอิงมาจากดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) และความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ จึงมีการหารือเพื่อปรับให้อัตราค่าโดยสารสูงสุดเหลืออยู่ที่ 45 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ประชาชนรับได้ เพราะหากค่ารถไฟฟ้าสูง จะไม่จูงใจผู้ใช้บริการและอาจทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้

 

คนละครึ่งเงินสะพัด 7.1 หมื่นล้านบาท

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินโครงการคนละครึ่ง ขณะนี้มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1 ล้านร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 13,655,380 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 71,323 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 36,488 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 34,835 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สงขลา เชียงใหม่ และสมุทรปราการ ตามลำดับ ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้ายังคงสมัครเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 รอบเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ที่ได้รับข้อความยืนยันสิทธิ จะสามารถใช้จ่ายในโครงการได้ระหว่างวันที่ 25 มกราคม-31 มีนาคม 2564 ซึ่งต้องเริ่มใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ครั้งแรกภายใน 14 วัน หรือภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ จึงขอให้รีบดำเนินการยืนยันตัวตน ซึ่งสามารถดำเนินการเองได้โดยง่ายผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” หรือดำเนินการผ่านตู้เอทีเอ็มสีเทาของธนาคารกรุงไทยกว่า 3,300 ตู้ทั่วประเทศ โดยสามารถค้นหาตำแหน่งของตู้เอทีเอ็มสีเทาได้ใน Google Maps โดยพิมพ์คำว่า “ATM กรุงไทย ยืนยันตัวตน” โดยไม่จำเป็นต้องไปยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารกรุงไทยเพียงช่องทางเดียว

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งแล้วไม่สามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้