คนมองหนัง : ‘คนดำ’ และบางสิ่งที่ขาดหายไป ใน ‘Bridgerton’

คนมองหนัง

‘คนดำ’ และบางสิ่งที่ขาดหายไป

ใน ‘Bridgerton’

“Bridgerton” (วังวนรัก เกมไฮโซ) ซีรีส์แนวพีเรียดที่สร้างจากนิยายของ “จูเลีย ควินน์” ซึ่งอำนวยการสร้างโดย (และเผยแพร่ทาง) “เน็ตฟลิกซ์” กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจากทั้งผู้ชมชาวไทยและผู้ชมทั่วโลก

จนเพิ่งมีการประกาศสร้างซีรีส์ซีซั่น 2 ไปเมื่อไม่นานนี้

หนึ่งในจุดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้ที่ถูกพูดถึงและชื่นชมอย่างแพร่หลาย ก็คือการพยายามนำเสนอภาพการดำรงอยู่ของ “คนผิวสี-ผิวดำ” ในยุค “รีเจนซี” ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ของอังกฤษ

ทั้งการอ้างอิงและตีความงานศึกษาที่ระบุว่า “ควีนชาร์ล็อตต์” (1761-1818) อาจสืบเชื้อสายมาจาก     “คนดำ”

ด้วยเหตุนี้ ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในสังคม (ชนชั้นสูง) อังกฤษและเป็นประมุขแห่งรัฐในเชิงพฤตินัยของ “Bridgerton” จึงกลายเป็น “สตรีผิวดำ”

(ในบริบทที่ประมุขตัวจริงอย่าง “พระเจ้าจอร์จที่ 3” มีอาการป่วยทางจิตตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ส่วนบทบาทของ “ปรินซ์รีเจนต์” ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งจะขึ้นครองราชย์เป็น “พระเจ้าจอร์จที่ 4” ในอนาคต ก็ถูกผู้สร้างซีรีส์กีดกันออกไป)

ยิ่งกว่านั้น พระเอกของซีรีส์ในฤดูกาลแรก คือ ตัวละคร “ดยุกแห่งเฮสติงส์” ก็ถูกสร้างสรรค์-ดัดแปลงให้มีรูปลักษณ์เป็น “ชายหนุ่มรูปงามผิวดำ”

เช่นเดียวกับนักมวยเพื่อนสนิทของเขาชื่อ “วิลล์ มอนดริช” ซึ่งน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “นักมวยผิวสี” ชื่อดังช่วงศตวรรษที่ 19 ที่อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลจากสหรัฐอเมริกามาค้ากำปั้นในสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ดี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนไม่น้อย ที่บ่งชี้ถึงแง่มุมอีกด้านหนึ่งซึ่งปลาสนาการไปจาก “Bridgerton”

“โรเบิร์ต มอร์ริสัน” ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์ ออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อังกฤษยุครีเจนซี สรุปความถึงซีรีส์ดังเรื่องนี้ว่า ขณะที่ “Bridgerton” ได้จุดประเด็นให้ผู้คนเริ่มถกเถียงกันว่าเคยมีพระบรมวงศานุวงศ์ของอังกฤษที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวแอฟริกันจริงหรือไม่?

สื่อบันเทิงเรื่องนี้กลับเพิกเฉยหรือซ่อนเร้นมุมมืดของลัทธิอาณานิคม ตลอดจนความยากจน-การเหยียดเชื้อชาติ อันเป็นผลพวงที่เกิดจากลัทธิดังกล่าวเอาไว้

มอร์ริสันจึงเห็นว่าเรื่องราวในซีรีส์ยอดนิยมของเน็ตฟลิกซ์เป็นเพียงแฟนตาซีพาฝันที่ดึงดูดผู้คนให้หลีกลี้ออกจากโลกความเป็นจริง ผ่านภาพแทนของสังคมชนชั้นสูงเมื่อ 200 ปีก่อน ที่ผนวกรวมความหรูหราร่ำรวย แรงปรารถนาของหนุ่ม-สาว และความเท่าเทียมทางด้านเชื้อชาติ (ที่ไม่มีอยู่จริง) เข้าด้วยกัน

กล่าวอีกอย่างได้ว่า ทั้งๆ ที่ผู้สร้าง-ผู้กำกับฯ-ผู้เขียนบท พยายามจะจัดวาง “ตัวละครคนผิวดำ” ลงในแวดวงสังคมไฮโซยุครีเจนซี แต่พวกเขากลับล้มเหลวในการฉายภาพให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงประวัติศาสตร์บาดแผลของ “ทาสผิวดำ” ที่บังเกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาเดียวกัน

รายละเอียดเล็กๆ ประการหนึ่งที่ช่วยขยายความให้แก่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ข้างต้นได้อย่างน่าสนใจ ก็คือ การมุ่งพิจารณาไปยังวิถีการบริโภคของตัวละครดยุก ดัชเชส และเหล่าชนชั้นนำใน “Bridgerton”

ฉากหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยในซีรีส์เรื่องนี้ ได้แก่ฉากที่ “ดาฟนี บริดเจอร์ตัน” และ “ไซมอน บาสเซ็ต” หรือ “ดยุกแห่งเฮสติงส์” ไปเกี้ยวพาราสีกันแบบหลอกๆ ปลอมๆ ในร้านน้ำชาหรูหรา

ในซีนดังกล่าว คนดูจะพบว่าพระ-นางทั้งคู่ได้บริโภคขนมหวานและน้ำชา (รวมถึงมีภาพไซมอนใช้ลิ้นเลียช้อนชา/ตักน้ำตาล ซึ่งสื่อแสดงนัยยะทางเพศอย่างไม่ปิดบัง)

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าในยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม อาหารและเครื่องดื่มเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำตาล” คือสินค้าที่ถูกขูดรีดมาจาก “แรงงานทาสผิวดำ”

จึงเท่ากับว่าท่านดยุกพระเอกของ “Bridgerton” ซีซั่นแรก ผู้มี “ผิวสีดำ” กำลังบริโภค “เลือดเนื้อ” อันหลั่งไหลจากการล่าอาณานิคมและการค้า “ทาสผิวดำ” (สีผิวเดียวกันกับดยุก)

“แคร์รี สินานัน” นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์การค้าทาส แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ ท้วงติงถึงข้อเท็จจริงซึ่งไม่ปรากฏในซีรีส์ยอดฮิตว่า “ประชากรผิวดำ” เกือบทั้งหมดในยุครีเจนซีนั้นมิได้มีสถานะเป็นผู้บริโภคสินค้า-อาหารฟุ่มเฟือย ที่ถูกขูดรีดมาจากแรงงานทาส

แต่พวกเขาล้วนเป็นผู้ใช้แรงงาน-ผู้ผลิตสินค้า ที่ไม่เคยได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรมจากเจ้าอาณานิคม-คนผิวขาวต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ แม้ผู้ชมจะได้รับรู้ว่าตัวละครชนชั้นสูงนานาเชื้อชาติ ทั้งผิวขาว ผิวดำ และผิวเหลือง ใน “Bridgerton” นั้นบริโภคน้ำตาล-น้ำชา รวมถึงแต่งกายด้วยผ้าไหม

แม้พวกเขาจะได้รับทราบว่าระบบชนชั้นยังคงดำรงอยู่อย่างรางๆ ในซีรีส์เรื่องนี้ ผ่านตัวละครคนรับใช้และคนยากจน (หลากสีผิว) ซึ่งแลดูไม่ค่อยมีความทุกข์ร้อนสักเท่าใดนัก

ทว่าองค์ประกอบหนึ่งที่สูญหายไปเสียเฉยๆ กลับกลายเป็นชีวิต-เรื่องราวของเหล่า “แรงงานทาสผิวดำ” ผู้เป็นต้นทางการผลิตสินค้าหรูหรานานาชนิด ที่รายล้อม-ประดับประดาอยู่บน-ย่อยสลายเข้าสู่เรือนกายของบรรดาผู้บริโภค ณ ยอดพีระมิดสังคม

ข้อมูลจาก

https://kerrysinanan.medium.com/unsilencing-the-past-in-bridgerton-2020-a-roundtable-792ecffd366

https://theconversation.com/bridgerton-what-the-show-gets-right-about-sex-gossip-and-race-in-regency-london-153399

https://theconversation.com/netflixs-bridgerton-a-romanticized-portrayal-of-britain-at-the-dawn-of-modernity-152946