จิตต์สุภา ฉิน : ก้าวต่อไปของอัลฟาโกและ AI ทั้งปวง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ตอนนี้เราสามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นั้น “เก่ง” กว่ามนุษย์

อย่างน้อยๆ ก็เก่งกว่าเรื่องการเล่นหมากล้อมนั่นแหละค่ะ

AlphaGo (อัลฟาโก) ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นโดยดีพมายด์ บริษัทในเครือของกูเกิลสามารถชนะ เคอ เจี๋ย มือวางอันดับหนึ่งของโลกไปถึงสามเกมรวด ในการแข่งขันที่อูเจิ้น ประเทศจีน

ซึ่งก่อนที่จะแข่งขันก็ได้มีการตั้งความหวังเอาไว้ว่า เคอ เจี๋ย น่าจะสามารถคว้าชัยชนะมาล้างแค้นแทน ลี เซดอล แชมป์หมากล้อมอีกคนที่พ่ายแพ้อัลฟาโกไปก่อนหน้านี้

ทว่า สุดท้ายความพ่ายแพ้ก็มาเยือนมนุษยชาติ

หากว่ากันที่การแข่งขันหมากล้อม ตอนนี้นับว่าจักรกลได้นำหน้ามนุษย์ไปแล้ว

แม้กระทั่งตัว เคอ เจี๋ย เองที่ก่อนการแข่งขันได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างทระนงว่าอย่างเขาน่ะไม่มีวันแพ้หรอก

สุดท้ายก็ต้องมายอมรับว่าอัลฟาโกเป็นนักเล่นหมากล้อมที่สมบูรณ์แบบ

นอกจากจะเดินหมากได้อย่างชาญฉลาดแล้ว ยังไม่มีข้อบกพร่องเรื่องความไม่มั่นคงทางอารมณ์ในแบบที่มนุษย์มี ซึ่งอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่ ผสมผสานกับความเหนื่อย ท้อ และหวาดกลัว

นี่แหละค่ะที่เป็นจุดอ่อนของมนุษย์

คำถามต่อไปคือ อัลฟาโกชนะมือวางอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว แล้วไงต่อ?

 

แน่นอนว่าไม่สามารถขึ้นไปได้สุดกว่านี้อีกแล้ว ดีพมายด์ประกาศว่านี่เป็นอีเวนต์การแข่งขันหมากล้อมครั้งสุดท้ายของอัลฟาโก เพราะมันได้ผ่านหมุดหมายที่สูงที่สุดในฐานะของการเป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการแข่งขันหมากล้อมไปแล้ว

หลังจากนี้ไปพลังทั้งหมดของทีมนักพัฒนาที่อยู่เบื้องหลังอัลฟาโกจะถูกนำไปทุ่มเทให้ภารกิจที่ท้าทายและเป็นประโยชน์กับมนุษยชาติมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นั่นคือการพัฒนาอัลกอริธึมที่มีความก้าวหน้ามากพอที่จะช่วยนักวิทยาศาสตร์ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนในอนาคต

อย่างเช่น การค้นหาวิธีการรักษาโรคต่างๆ

การคิดค้นหาวิธีลดการใช้พลังงานลงให้ได้เป็นปริมาณมาก

หรือการคิดค้นวัสดุใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งดีพมายด์บอกว่าหากปัญญาประดิษฐ์สามารถค้นพบความรู้และกลยุทธ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้

ผลลัพธ์ที่ตามมาก็จะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่แน่นอน

 

ส่วนในวงการหมากล้อมนั้น ทีมของดีพมายด์จะปล่อยข้อมูลการเล่นหมากล้อมทั้งหมด 50 เกมออกมาให้เป็นวิทยาทานกับนักเล่นหมากล้อมทั่วโลกเพื่อนำไปศึกษา เรียนรู้วิธีคิดและการวางแผนเดินหมากของปัญญาประดิษฐ์

และอาจจะมีการพัฒนาให้เป็นเครื่องมือที่ใช้สอนการเล่นหมากล้อมด้วย

ซึ่งแม้ว่าเกมนี้จะมีมาถึงสามพันปีแล้ว แต่เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์นี่แหละที่ช่วยให้เกิดไอเดียหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการเล่นหมากล้อมได้

มาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านหลายคนก็อาจจะคิดขึ้นมาว่าปัญญาประดิษฐ์ชนะมนุษย์ก็แค่การเล่นหมากล้อม มันก็แค่การเดินหมากบนกระดานเท่านั้น ไม่เห็นจะมีอะไรดูน่าเป็นภัยคุกคามสักเท่าไหร่เลย

แล้วทำไมคนถึงได้วิตกกังวลกันเหลือเกินว่าสักวันหุ่นยนต์จะครองโลก

เรามาฟังความคิดเห็นที่ อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลาได้พูดเอาไว้ล่าสุดในงาน World Government Summit ในดูไบกันดีกว่าค่ะ

 

เมื่อมีคนถามคำถามเขาว่าอะไรคือความท้าทายที่มนุษยชาติจะต้องเจอในอนาคตอันใกล้

มัสก์ก็เริ่มตอบคำถามด้วยการพูดถึงภัยคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์ที่ได้แซงหน้ามนุษย์ไปแล้ว

เขาพูดเอาไว้ว่าสถานการณ์ที่อันตรายก็คือเมื่อเรามีปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดยิ่งกว่ามนุษย์คนที่ฉลาดที่สุดบนโลก

มัสก์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เค้าเตือนมาโดยตลอดค่ะ

มัสก์บอกว่าเราจะต้องไม่หลงระเริงไปกับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์

นักวิทยาศาสตร์อาจจะจมลึกลงไปกับงานที่ตัวเองกำลังทำโดยอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบอันสลับซับซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ เขาก็ยังแสดงความเป็นห่วงว่าเทคโนโลยีอัตโนมัติทั้งหลายนั้นจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของคน

โดยตัวเขาเองได้ทำนายไว้ว่าภายในยี่สิบปีข้างหน้า 12-15 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดจะตกงานอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีได้เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างให้กับอุตสาหกรรมคมนาคมขนส่งทางด้านรถยนต์

ซึ่งการคาดการณ์นี้ค่อนข้างเห็นได้ชัดอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับที่พัฒนากันไปไกลขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไร้คนขับ รถบัสไร้คนขับ หรือรถบรรทุกไร้คนขับ ซึ่งก็จะแปลว่าอาชีพคนขับรถจะเป็นที่ต้องการน้อยลงนั่นเอง

ยังไม่พูดถึงว่าผลกระทบจะไม่หยุดแค่อุตสาหกรรมนี้แต่จะแพร่ขยายไปยังวงการอื่นๆ ด้วย

 

ข้อเสนอของ อีลอน มัสก์ ในการเตรียมรับมือกับปัญหาหุ่นยนต์แย่งงานคนก็คือการนำ universal basic income หรือ UBI เข้ามาใช้ ซึ่งก็คือการที่รัฐบาลหรือภาคส่วนสาธารณะแจกเงินให้กับประชาชนเป็นรายได้คงที่ไม่ว่าประชาชนคนนั้นจะมีงานทำหรือไม่ก็ตาม

UBI ไม่ใช่แนวคิดใหม่ มัสก์หยิบมานำเสนอเพราะบอกว่าเขามองไม่เห็นทางอื่นเลยในตอนนี้ และหากคนจะต้องตกงานเพราะการถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ UBI ก็จะเข้ามาช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถดำรงชีวิตต่อไปจนกว่าจะหางานใหม่ทำได้

แต่อย่าเพิ่งรีบกลัวกันไปนะคะ

อย่างที่เราคุยกันมาตลอดว่าต่อให้หุ่นยนต์เข้ามาแย่งงานบางอย่างของมนุษย์ไป เราก็จะขยับขยายไปหางานอย่างอื่นทำได้อยู่ดี

และการเข้ามาของหุ่นยนต์ก็จะหมายถึงการสร้างงานประเภทใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยเหมือนกัน

ซึ่ง อีลอน มัสก์ เองก็คิดแบบนี้ เขาไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายไปเสียหมด เขาบอกว่าพอถึงเวลานั้นมนุษย์เราก็จะมีเวลาไปทำอย่างอื่นที่สลับซับซ้อนและน่าสนใจขึ้น

คิดได้แบบ อีลอน มัสก์ นี่ดีนะคะ ไม่ใช่ว่าชิลเกินไปจนมองไม่เห็นภัยที่อาจจะเกิดขึ้น หรือกลัวเกินไปจนคว่ำกระดานไม่เดินหน้าทำอะไรใหม่ๆ อีกต่อไปแล้ว

ไม่ช้าก็เร็วเราจะได้เห็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น

เอาเวลาตอนนี้มาเริ่มวางแผนกันดีกว่าว่าจะต้อนรับความเปลี่ยนแปลงนั้นยังไง

และอย่าลืมข่าวดีที่ว่า ถ้าหุ่นยนต์มาทำงานแทนเราในขณะที่เรายังมีรายได้เหมือนเดิม ก็แปลว่าเราจะมีวันหยุดพักผ่อนมากขึ้นนะคะ