เทศมองไทย : การท่องเที่ยว กับเศรษฐกิจไทย

สภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก หรือ เวิร์ลด์ ทราเวล แอนด์ ทัวริสม์ เคาน์ซิล (ดับเบิลยูทีทีซี) เพิ่งเผยแพร่รายงานประจำปี ว่าด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจของการเดินทางและท่องเที่ยว ประจำปี 2017 ออกมาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง

ผมพบรายงานรายประเทศที่เกี่ยวกับประเทศไทย เมื่อ 22 พฤษภาคมนี้

อยากให้เข้าไปหาอ่านกันในเว็บไซต์ขององค์กร

เพื่อที่จะได้รู้สึกเหมือนกับที่ผมรู้สึกว่า ยิ่งนับวัน การท่องเที่ยวของไทยยิ่งทวีความสำคัญ

และมีความหมายต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นทุกที

 

“ดับเบิลยูทีทีซี” เป็นองค์กรเอกชนระดับโลกประเภทไม่แสวงผลกำไร

มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สมาชิกของสภา ล้วนแล้วแต่เป็นระดับประธาน หรือไม่ก็เป็นประธานบริหารของภาคเอกชนด้านธุรกิจเดินทางและท่องเที่ยวชั้นนำของโลกทั้งสิ้น

ในรายงานประจำปีดังกล่าว มีข้อมูลทั้งสรุปผลการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา

ซึ่งในกรณีนี้คือปี 2016 เช่นเดียวกันกับการใช้หลักวิชาการประเมินภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2017 นี้ และใช้ข้อมูลทั้งหมดคาดการณ์ล่วงหน้าต่อไปอีก 10 ปี ซึ่งคือปี 2027

โดยได้รับความร่วมมือจาก 2 หน่วยงานวิชาการอย่าง อ๊อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิก ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์, การจัดทำเบนช์มาร์ก สำหรับอ้างอิง, การคาดการณ์และการกำหนดนโยบาย

อีกส่วนหนึ่งคือ เอสทีอาร์ ที่เป็นคลังข้อมูลโรงแรมระดับพรีเมียมของโลก ป้อนข้อมูลให้สำหรับนำมาใช้ในแบบจำลองของดับเบิลยูทีทีซี

 

ดับเบิลยูทีทีซี ใช้ดัชนีชี้วัดผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจอยู่ 6 ตัว และรายงานการวิจัยประจำปีนี้คาดหมายว่า ดัชนีทั้ง 6 ตัวของการท่องเที่ยวไทยปรับตัวสูงขึ้นทั้งหมด

ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเมื่อปี 2016 ทะลุถึงจำนวน 32 ล้านคน

สร้างรายได้โดยตรงจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในไทย (การใช้จ่ายทุกอย่างในประเทศรวมทั้งการคมนาคมที่ถูกเรียกว่า วิซิตเตอร์ เอ็กซ์พอร์ต) ถึง 1.891 ล้านล้านบาท

แต่ในปีนี้ ดับเบิลยูทีทีซีคาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35,527,000 คน

ค่าใช้จ่ายโดยตรงจะเพิ่มขึ้นอีก 10.3 เปอร์เซ็นต์

ที่สำคัญก็คือ ระหว่างปี 2017-2027 ค่าใช้จ่ายโดยตรงดังกล่าวนี้จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และจะไปอยู่ที่ 4.210 ล้านล้านบาท

เพราะในปี 2027 นั้น ดับเบิลยูทีทีซีคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทย รวมแล้วถึงปีละ 67,655,000 คน

ใกล้เคียงกับจำนวนประชากรไทยเข้าไปทุกที

 

ผมพูดถึงตัวเลขที่ว่านั้นขึ้นมาก่อน เพราะมันสะท้อนให้เห็นภาพถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลกันเข้ามา

แต่จริงๆ แล้ว รายได้ดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายได้รวมที่ได้รับโดยตรงจากการท่องเที่ยว ที่หมายรวมถึงผลได้ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวทั้งหมด อาทิ อุตสาหกรรมโรงแรม, ที่พัก, บริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม, อุตสาหกรรมค้าปลีก, อุตสาหกรรมเชิงคมนาคม เช่น สายการบิน, รถทัวร์ท่องเที่ยว เรื่อยไปจนถึงแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว และรวมเอาการท่องเที่ยวของคนในประเทศเข้าไปด้วย

ถ้ามองในแง่นี้ ดับเบิลยูทีทีซีชี้ว่าปี 2016 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวทำเงินได้มากถึง 2.906 ล้านล้านบาท

ดูตัวเลขมากๆ แล้วอาจงงๆ เอาเป็นว่า ในปีที่ผ่านมา รายงานชิ้นนี้บอกว่า การท่องเที่ยวทำรายได้คิดเป็น 20.6 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเราทั้งหมด

และในปี 2017 นี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 9.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 3.178 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็น 5.985 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 31.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2027

ในปี 2016 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวก่อให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งรวมทั้งงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง งานที่เกี่ยวเนื่องทางอ้อม ที่มีการท่องเที่ยวรองรับ สูงถึง 5,739,000 ตำแหน่ง คิดเป็น 15.1 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานรวม

ในปี 2017 การท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มอีก 6.9 เปอร์เซ็นต์ เป็น 6,137,500 ตำแหน่ง

และจะเพิ่มอีก 4.6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ไปจนถึง 9,599,000 ตำแหน่ง ในปี 2027 หรือคิดเป็น 24.9 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานรวมเลยทีเดียว

 

ดูเฉพาะตัวเลขของภาคอุตสาหกรรมสำคัญ 3 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว คือ โรงแรมและภัตตาคาร, ค้าส่งและค้าปลีก, คมนาคมและการสื่อสาร ข้อมูลที่น่าสนใจของ ดับเบิลยูทีทีซีบอกว่า ก่อให้เกิดการจ้างงานรวมแล้วมากกว่า 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1.4 เปอร์เซ็นต์ จนกลายเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานรวมเลยทีเดียว

เห็นอย่างนี้แล้ว ไม่ว่าใครคงปฏิเสธความสำคัญของการท่องเที่ยวไม่ลงอย่างแน่นอน และถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์ข้างต้นนี้ ปีนี้ก็น่าจะเป็นปีเริ่มต้นของยุคทองการท่องเที่ยวของไทยเลยทีเดียว

แต่อย่าลืมก็แล้วกันครับว่า ปี 2017 เดียวกันนี้ สหประชาชาติ เขาประกาศให้เป็น “ปีสากลของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนา” ด้วยเช่นกัน

อย่าหลง “ท่องเที่ยว” จนลืม “ยั่งยืน” และ “พัฒนา” ด้วยก็แล้วกัน