สุจิตต์ วงษ์เทศ : อำนาจการเมืองของ ภาษาและวรรณกรรมไทย

แผนที่แสดงบริเวณที่ภาษาและวรรณกรรมไทยมีอำนาจการเมืองและวัฒนธรรมตั้งแต่ "ที่สูงแห่งเอเชีย" (ZOMIA) และพื้นที่โดยรวมทางใต้ของจีนอันเป็นหลักแหล่งของไท-ไต-ลาว-ไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ

อำนาจการเมืองของ

ภาษาและวรรณกรรมไทย

ภาษาและวรรณกรรมไทยมีอำนาจการเมืองและวัฒนธรรมมาจาก 3 แหล่งใหญ่โดยรวมๆ ได้แก่ (1.) ภาษาและคำบอกเล่าเก่าแก่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งกลุ่มเกาะและแผ่นดินใหญ่ภาคพื้นทวีป (2.) รับจากภาษาและวรรณกรรมในพื้นที่ต่อเนื่อง ได้แก่ จีน (3.) รับจากภาษาและวรรณกรรมภายนอกที่อยู่ห่างไกลทางทะเล ได้แก่ อินเดีย, อาหรับ, อิหร่าน (เปอร์เซีย) เป็นต้น

ภาษาและวรรณกรรมไทยซึ่งมีที่มา 2 แหล่งแรกมีลักษณะทับซ้อนกันจนทำให้มีจำนวนไม่น้อยแยกไม่ออกว่ามีต้นตอจากที่ไหน? ได้แก่ คำบอกเล่าตามความเชื่อพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดของภูมิภาคอุษาคเนย์กับสิ่งที่รับจากจีน

อุษาคเนย์กับจีนสมัยโบราณ มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมต่อเนื่องและทับซ้อน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเหนือ, ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ, ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ตอนใต้ลงไปของแม่น้ำแยงซี หรือบริเวณที่ปัจจุบันเป็นมณฑลยูนนาน, มณฑลกวางสี, มณฑลกวางตุ้ง

ตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ยังไม่เป็นจีน แต่เป็นพื้นที่เหนือสุดของอุษาคเนย์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ภูมิภาคอุษาคเนย์มีพื้นที่ทางเหนือแผ่ถึงแม่น้ำแยงซีซึ่งปัจจุบันเป็นภาคใต้ของจีน

ภาษาไทยแผ่ขยายจากทางใต้ของจีน

วรรณกรรมไทยสื่อสารด้วยภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาพูดในชีวิตประจำวัน โดยมีต้นตอหรือรากเหง้าจากตระกูลภาษาไท-กะได หรือ ไท-ไต หลังจากนั้นอีกนานนับพันปีจึงมีอักษรไทยที่ดัดแปลงจากอักษรเขมร (แต่เรียกอักษรขอม) และอักษรอื่นๆ

ภาษาไทยมีรากเหง้าหรือต้นตอจากภาษาตระกูลไท-ไต มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เชื่อกันขณะนี้ว่าเก่าสุดภาษาไท-ไต มีถิ่นกำเนิดอยู่มณฑลกวางสี ซึ่งอยู่ทางใต้ของจีน

ต่อมาได้กระจายแพร่หลายในกลุ่มคนหลายเผ่าพันธุ์ ตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในบริเวณทางใต้ลุ่มน้ำแยงซีมากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว (หรือราว พ.ศ.500)

ดินแดนทางใต้ของจีน หรือบริเวณลุ่มน้ำแยงซี โดยภูมิประเทศปัจจุบันเป็นพื้นที่กว้างขวางของมณฑลยูนนาน, มณฑลกวางสี, มณฑลกวางตุ้ง แต่เมื่อหลายพันปีมาแล้วไม่ใช่ดินแดนของจีน หากเป็นพื้นที่ทางเหนือสุดของอุษาคเนย์โบราณ

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่าอุษาคเนย์โบราณ มีดินแดนเหนือสุดอยู่สูงขึ้นไปถึงภาคใต้ของจีนปัจจุบัน

นักวิชาการนานาชาติทุกวันนี้เรียกพื้นที่ทางใต้ของจีนปัจจุบัน หรือทางเหนือสุดของอุษาคเนย์โบราณว่า “ที่สูงแห่งเอเชีย” หรือโซเมีย (Zomia) เป็นหลักแหล่งของคนหลายชาติพันธุ์นับไม่ถ้วน รวมพวกที่พูดตระกูลภาษาไท-ไต

พวกไท-ไต “ที่สูงแห่งเอเชีย” สร้างนวัตกรรม มี 2 อย่าง ได้แก่ นาดำกับเครือข่ายการเมือง (สรุปจากหนังสือ ความไม่ไทย ของคนไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559) ดังนี้

(1) นาดำ เป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่ากลุ่มชนอื่นๆ บนที่สูง ซึ่งมีผลให้เกิด ดังนี้ ทางสังคม นาดำลดการอพยพเคลื่อนย้ายลง สะดวกที่จะจัดองค์กรทางสังคมที่จะเพิ่มกำลังทางการเมืองและเศรษฐกิจของพวกตน ทางการเมือง นาดำเอื้อประโยชน์ต่อรัฐ เพราะเก็บส่วย (ทั้งผลผลิตและแรงงาน) ได้ง่าย

(2) เครือข่ายทางการเมืองระดับเหนือชุมชน ความเป็นหน่วยทางการเมืองบนที่ราบหุบเขา ทำให้พวกไท-ไตสามารถขยายวัฒนธรรมของตนไปสู่ชนกลุ่มอื่นบนที่สูงได้ จึงมีผู้คนอพยพโยกย้ายลงมาอยู่ในเมืองของพวกไท-ไตมากขึ้น ทำให้เมืองของพวกไท-ไตเป็นแหล่งชุมชนประชากรที่หนาแน่นกว่าชุมชนของคนกลุ่มอื่นบนที่สูง จึงเหมาะจะเป็นตลาดสำหรับการค้าขายแลกเปลี่ยนซึ่งต้องใช้ภาษาไท-ไตเป็นภาษากลางสำหรับกิจกรรมนั้น ขณะเดียวกันก็มีคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ไต พูดภาษาไท-ไตได้หรือพอรู้เรื่อง

ตลอดจนเปลี่ยนมาใช้ประเพณีพิธีกรรมแบบไท-ไต เพื่อเพิ่มเกียรติยศให้แก่ตนเองจำนวนมากขึ้น จนทำให้กลุ่มไท-ไตกลายเป็นกลุ่ม “ชาติพันธุ์” ที่ใหญ่ แต่ผสมปนเปเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่โบราณ

คนป่าเถื่อนร้อยจำพวก มีบรรพชนคนไทย

บริเวณทางใต้ของจีน หรือทางเหนือสุดของอุษาคเนย์โบราณเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เป็นหลักแหล่งของคนป่าเถื่อนที่จีนเรียก “เยว่” (ออกเสียงคล้าย เหยอะ หรือแหยะ ตรงกับเหวียดในชื่อเวียดนาม ตำนานไทย เรียก “อวด” แต่ในโคลงท้าวฮุ่งเรียก “แย้”) ล้วนเป็นบรรพชนกลุ่มหนึ่งของคนไทย

“เยว่” เป็นชื่อรวมๆ เรียกคนหลายเผ่าพันธุ์นับไม่ถ้วน ถูกจีนเรียก “ไป่เยว่” หมายถึง เยว่ร้อยเผ่า หรือเยว่ร้อยจำพวก ประกอบด้วยคนต่างภาษาที่พูดตระกูลภาษาต่างๆ กัน ได้แก่ จีน-ทิเบต, พม่า-ทิเบต, ม้ง-เมี่ยน, มอญ-เขมร, จ้วง-ต้ง หรือ ไท-ไต ฯลฯ

จีนเรียกตนเองว่า “ฮั่น” มีดินแดนอยู่ทางเหนือหรือบริเวณลุ่มน้ำฮวงโห ส่วนคนกลุ่มอื่นที่ “ไม่ฮั่น” ถูกจีนเหมารวมเรียกด้วยถ้อยคำดูถูกเป็นพวกคนป่าคนเถื่อนว่า “ฮวน”, “หมาน”, “เยว่” ฯลฯ

บรรพชนไทยกลุ่มนี้เมื่อหลายพันปีมาแล้วไม่เรียกตนเองว่า “ไทย” แต่เรียกกลุ่มของตนด้วยชื่อต่างๆ (ทางวัฒนธรรม) เช่น ลื้อ, จ้วง, ต้ง, ผู้นุง, ผู้ไท, ลาว ฯลฯ โดยพูดตระกูลภาษาเดียวกันคือ ไท-กะได หรือ ไท-ไต แล้วถูกจีนเหยียดเหมารวมเป็นพวกป่าเถื่อน เรียก “เยว่” ดังนั้น กว่าจะเป็นไทย คนในภาษาและวัฒนธรรมไท-ไต กว่าจะเรียกตนเองว่าไทย ต้องใช้เวลาอีกนาน และต้องผสมกลมกลืนกับบรรพชนคนกลุ่มอื่นอีกมาก ซึ่งมีหลักแหล่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ได้แก่ มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, จีน และ ฯลฯ โดยมีศูนย์กลางอยู่รัฐอยุธยา

[ไทย หมายถึง คนที่มีสังคมและวัฒนธรรม ประสมกลืนจากหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ทั้งในอุษาคเนย์และมาจากที่อื่นๆ โดยไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ เพราะเชื้อชาติไม่มีจริง และเชื้อชาติไทยไม่มีในโลก]

เยว่ร้อยเผ่าเป็นพวก “ไม่ฮั่น” พบหลักฐานสนับสนุนหลายอย่าง ได้แก่ เอกสาร, เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากทองสำริด, พิธีกรรมความเชื่อจากภาพเขียนบนเพิงผา, และอื่นๆ

เอกสารจีนชื่อ “หมานซู” แต่งเป็นภาษาจีน พ.ศ.1410 (ตรงกับไทยสมัยวัฒนธรรมทวารวดี) บอกเล่าว่าคนพื้นเมืองป่าเถื่อนหลายจำพวกซึ่งไม่ใช่ฮั่น อยู่ทางใต้ของจีนตั้งแต่มณฑลยูนนานถึงฝั่งทะเลสมุทรอุษาคเนย์ ซึ่งเท่ากับเป็นที่รู้กันนับพันปีแล้วว่าทางใต้ของจีนล้วน “ไม่จีน” และ “ไม่ฮั่น” หมายถึงเป็นพื้นที่ของคนในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ (หนังสือ หมานซู จดหมายเหตุพวกหมาน ของ ฝันฉัว กรมศิลปากร ให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนโบราณแปลเป็นภาษาไทย แล้วพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2512)

กลองทอง เครื่องโลหะในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ 2,500 ปีมาแล้ว เป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาผีใช้ตีในพิธีกรรมเรียกขวัญ พบมากในมณฑลยูนนานกับมณฑลกวางสี (ต่อเนื่องถึงเวียดนาม) เรียกหลายชื่อ เช่น กลองทองแดง, กลองทองสำริด แต่เฉพาะในไทยเรียกกลองมโหระทึก (โดยขอยืมชื่อเรียกกลองอินเดียในกฎมณเฑียรบาล) จีนเรียกกลองทองว่า “หนานถ่งกู่” หมายถึง กลองของพวกป่าเถื่อนทางใต้

หมาและกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมความเชื่อของคนหลายเผ่าพันธุ์ทางใต้ของจีน จึงพบภาพเขียนขนาดมหึมาบนเพิงผามากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ที่มณฑลกวางสีและพื้นที่ต่อเนื่องถึงไทย

หมาเป็นสัตว์นำทางขวัญของคนตายขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้า แล้วนำพันธุ์ข้าวจากฟ้าลงไปให้มนุษย์ปลูกกิน กบเป็นสัตว์นำน้ำฝนจากฟ้าให้มนุษย์ทำนาปลูกข้าวตามฤดูกาล