สหรัฐและนโยบายแซงก์ชั่นจีน / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

สหรัฐและนโยบายแซงก์ชั่นจีน

 

สหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีใหม่แกะกล่องอย่างโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแดรต ประกาศเดินหน้าแก้ไขสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในยุคของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็น “ปัจจัยหลักสู่ความแตกแยก” โดยเฉพาะภาวะการเมืองแบ่งขั้วที่ชัดเจนภายในสหรัฐ

สหรัฐยุคของทรัมป์ ได้ทำให้กระแสขวาจัดเติบโตอย่างมากทั้งแง่จำนวนผู้คนและเหตุความรุนแรงต่อเชื้อชาติและสีผิว และ 2 จุดยืนของความรักชาติที่ต่างกัน ได้นำไปสู่เหตุการณ์ครั้งใหญ่อย่างการบุกแคปปิตอล ฮิลล์จากมวลชนผู้สนับสนุนอดีต ปธน.ทรัมป์

ถือเป็นงานใหญ่สำหรับไบเดนว่า จะเยียวยารอยร้าวในสังคมอเมริกันได้มากแค่ไหน

นอกจากการพลิกนโยบายภายในประเทศทั้งหมดแล้ว นโยบายต่างประเทศก็เช่นกัน ก็มีการยกเครื่องเพื่อทำให้สหรัฐกลับมามีบทบาทในเวทีโลกอีกครั้ง นโยบายต่อจีนก็เป็นหนึ่งในหลายนโยบายที่ยังคงอยู่ในลิสต์ของรัฐบาลไบเดน

แต่รูปแบบและผลลัพธ์จะออกมาต่างกันแค่ไหน?

หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนในยุคทรัมป์ ถือว่าไม่ราบรื่นนัก 2 มหาอำนาจเผชิญหน้ากันในรูปของสงครามการค้า สหรัฐภายใต้ทรัมป์ที่ชูนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” จึงเน้นปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง และใช้ทุกมาตรการเพื่อบรรลุนโยบาย

ด้านจีนก็กำลังเผชิญข้อครหาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งการแทรกแซงการเมืองในฮ่องกงอย่างหนักเพื่อปราบปรามฝ่ายประชาธิปไตย ต่อลิดรอนสิทธิชาวอุยกูร์นับล้านคนในมณฑลซินเจียง ปัญหาทิเบต หรือกรณีพิพาทไต้หวัน

กลายเป็นข้ออ้างให้สหรัฐใช้มาตรการลงโทษต่อบริษัทเอกชนสัญชาติจีน (ซึ่งกว่าครึ่งกำกับดูแลโดยรัฐบาลจีน) โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมไอที และลามไปถึงการไม่ออกวีซ่าให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

การแซงก์ชั่นแรก เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ผลิตของให้กับผู้ใช้งานจากกองทัพ (military end user- MEU) หลายแห่ง โดยของจีนมีอยู่ 58 บริษัท และรัสเซีย 45 บริษัท ในจำนวน 58 บริษัทสัญชาติจีน มีบริษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของอย่าง AVIC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ที่ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก

และยังมีบริษัทสัญชาติจีนที่ผลิตเครื่องบินทางทหารอีกหลายแห่งอย่าง เชิงตูแอร์คราฟ, กุ้ยโจว เอวิเอชั่น, ชานซี แอร์คราฟ อินดัสตรี้ เซี้ยนหยาง แอร์คราฟ คอร์ป รวมไปถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งเวชภัณฑ์ ภาคการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่าง SMIC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่

และภาคไอทีที่โดนหางเลขด้วยคือ หัวเว่ย เสี่ยวหมี่ และ ZTE ด้วยเหตุผลเป็นภัยต่อความมั่นคงไซเบอร์ของสหรัฐ

รวมถึงระงับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบาและเทนเซ็นจากการลงทุน

ไม่เพียงเท่านี้ สหรัฐในยุคของนายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ยังออกคำสั่งไม่ให้วีซ่าและระงับการทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่ทางการจีนหลายคนที่มีการสืบสวนว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดยชื่อที่ปรากฏว่าโดนขึ้นบัญชีดำล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีน

รวมถึงนางแครี่ หล่ำ ผู้นำฝ่ายบริหารฮ่องกง เฉิน ฉ่วน กั๋ว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลซินเจียง และหวัง เฉิน รองประธานคณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติ

การขึ้นบัญชีดำนี้ยังรวมไปถึงครอบครัวไม่ให้เดินทางเข้ามายังสหรัฐ ระงับการทำธุรกรรมกับทรัพย์สินที่มีอยู่ในสหรัฐ และห้ามไม่ให้บริษัทหรือชาวอเมริกันติดต่อกับผู้ถูกขึ้นบัญชีดำ

นับเป็นการแซงก์ชั่นต่อจีนที่เข้มข้นที่สุดในยุคหนึ่งเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม จีนก็ไม่ปล่อยให้สหรัฐกระทำแต่ฝ่ายเดียว จีนดำเนินการที่เรียกว่าตอบโต้มาตรคว่ำบาตรจากสหรัฐ ทั้งการคุ้มครองบริษัทสัญชาติจีนจากการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงลงโทษบริษัทต่างชาติที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของบริษัทข้ามชาติที่จีนออกขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์จีนและจำกัดบริษัทต่างชาติ

ซึ่งนานาประเทศได้ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นกฎที่ออกมาเพื่อกีดกันการทำธุรกิจในจีนและส่งผลเกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปประเทศอื่น

และตอบโต้อดีตรัฐบาลทรัมป์ด้วยการระงับวีซ่านายทรัมป์ เจ้าหน้าที่รัฐบาลชุดก่อนหลายคนและครอบครัว ตลอดจนไม่ให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดก่อนมาทำธุรกิจในจีน

เรียกว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” ใส่กันและกัน

จนกระทั่งการมาถึงของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ภายใต้การนำของโจ ไบเดน ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นโยบายต่อจีนจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน?

หลังรับตำแหน่งไม่นาน โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายแซงก์ชั่นจีนของทรัมป์ว่า “ไม่เกิดผลิตภาพ” เพียงพอ และมองการมาประกาศมาตรการคว่ำบาตรจีนในช่วงพิธีสาบานตนของไบเดนว่า เป็นความพยายามสร้างความแตกแยกให้กับพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน

และยังมีความเคลื่อนไหวจากฝั่งนักการเมืองรีพับลิกันออกมากดดันรัฐบาลไบเดนทำนองสานต่องานจากรัฐบาลทรัมป์ด้วยการออกมามาตรการคว่ำบาตรจีนให้หนักขึ้นกว่านี้

แม้รัฐบาลไบเดนจะมองว่าเรื่องจีนเป็นความท้าทายใหญ่ แต่ก็กำลังดำเนินนโยบายต่างประเทศกับจีนแบบไม่แข่งขัน และต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน

ด้านแอนโทนี่ บลิงเก้น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวต่อวุฒิสภาในการประชุมรับรองตำแหน่งว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจีนเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ นั้นทำให้เขาเชื่อว่า ทั้งสองพรรคมีรากฐานที่แข็งแกร่งซึ่งสามารถสร้างนโยบายร่วมกันเพื่อยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลจีน

นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลไบเดนว่า จะออกแบบนโยบายยังไงที่รับมือกับจีนโดยไม่ซ้ำรอยเหมือนยุคทรัมป์ แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นต่อพรรครีพับลิกัน สภาคองเกรส และต่อประชาชนอเมริกันทุกคน

ที่ตอนนี้ การต่อต้านอิทธิพลจีนกลายเป็นฉันทามติร่วมกันไปแล้ว