ภาพยนตร์ : PIECES OF A WOMAN ‘โทมนัส’

นพมาส แววหงส์

PIECES OF A WOMAN
‘โทมนัส’

กำกับการแสดง
Kornel Mundruczo

นำแสดง                                                                                                         Vanessa Kirby
Shia LaBeouf
Ellen Burstyn
Molly Parker

สดๆ ร้อนๆ จากเทศกาลภาพยนตร์ที่เวนิส ด้วยรางวัลยอดเยี่ยมสำหรับนักแสดงหญิงปีนี้ รวมทั้งการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในอีกหลายเทศกาลภาพยนตร์ ได้แก่ วาเนสซา เคอร์บี ในบทบาทของแม่ที่ประสบความสูญเสียครั้งใหญ่หลวงในชีวิต

เช่นเดียวกับหนังที่สร้างเสร็จและเตรียมออกฉายเกือบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา Pieces of a Woman เจอเข้ากับวิกฤตการณ์โรคระบาดที่ส่งผลให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการไปใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อยสองชั่วโมงในโรงภาพยนตร์ และต้องเข้าฉายในช่องทางการจัดจำหน่ายอื่นที่มีการรักษาระยะห่างทางสังคมได้ในเดือนมกราคมนี้เอง ซึ่งในกรณีนี้คือ เน็ตฟลิกซ์ โดยเฉพาะในระยะที่หลายคนยังไม่อยากเสี่ยงไปอยู่ในสถานที่สาธารณะเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น

นอกจากรางวัลทางด้านการแสดงแล้ว หนังเรื่องนี้ยังมีชื่อของผู้กำกับฯ ชื่อดังอย่างมาร์ติน สกอร์เซซี เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร ซึ่งใช้เป็นจุดขายสำคัญสำหรับการรับประกันคุณภาพด้วย

และเป็นหนังภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับฯ ชาวฮังการี คอร์เนล มุนดรุกโซ ด้วยบทภาพยนตร์ที่คาทา เวเบอร์ คู่ชีวิตของเขา เขียนขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวของความทุกข์โทมนัสที่เคยสูญเสียเลือดในอก

Pieces of a Woman เล่าเรื่องราวของมาร์ธา ซึ่งแสดงโดยวาเนสซา เคอร์บี ซึ่งผู้เขียนได้รู้จักหน้าค่าตามาแล้วจากบทบาทเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตตอนสาวในหนังซีรีส์ของอังกฤษที่น่าติดตามที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ The Crown ก่อนที่บทเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตจะเปลี่ยนมาเป็นเฮเลนา บอนนัม คาร์เตอร์

แต่หนังก็เปิดเรื่องขึ้นที่ตัวคู่ชีวิตของมาร์ธา คือ ฌอน (ไชอา ลาเบิฟ) ซึ่งเป็นคนงานก่อสร้างสะพานใหญ่ที่จะเชื่อมต่อแผ่นดินเข้าด้วยกัน

ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสะพานที่เป็นอาชีพของฌอนนี้จะกลับมาให้เราคิดหลังจากหนังจบไปแล้ว

โดยเฉพาะเมื่อหนังใช้ความหมายเชิงสัญลักษณ์อื่นมาขมวดเรื่องในตอนท้าย และทำให้เราย้อนกลับไปมองสัญลักษณ์เดียวกันนี้ที่ปรากฏอยู่หลายครั้งหลายตอนในเรื่อง นั่นก็คือ แอปเปิล ค่ะ

มาร์ธากำลังท้องแก่ใกล้คลอด และแม่ของเธอ (เอลเลน เบอร์สติน) ดูจะไม่ชอบหน้าฌอนนัก

มาร์ธากับฌอนอยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน และดูจะมาจากสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุให้แม่ผู้มีฐานะดีของมาร์ธารังเกียจที่จะมีลูกเขยเป็นกรรมกรก่อสร้าง

ขณะที่ทั้งสองกำลังจะมีลูกด้วยกัน แม่ก็ซื้อรถสำหรับครอบครัวให้เป็นของขวัญ ซึ่งกดให้ฌอนรู้สึกต่ำต้อยยิ่งขึ้นไปอีก

หนังใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมงแรกอยู่กับการคลอดลูกในบ้านโดยมีพยาบาลผดุงครรภ์ทำการคลอดให้ ซึ่งเป็นการตัดสินใจของมาร์ธา โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของแม่ ซึ่งอยากให้ลูกสาวคลอดลูกในโรงพยาบาล

เราไม่รู้ว่าทำไมมาร์ธาถึงได้ตัดสินใจคลอดลูกที่บ้าน และไม่ยอมไปโรงพยาบาลจนนาทีสุดท้าย แต่ผู้เขียนรู้จักเพื่อนอเมริกันที่เคยคิดอยากคลอดลูกที่บ้านเพราะเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่มีความเป็นส่วนตัวและไม่อยากใช้ยาบล็อกหลังเพื่อบรรเทาอาการเจ็บท้อง และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ไหนแต่ไรในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

มาร์ธาได้รับคำแนะนำจากพยาบาลผดุงครรภ์ที่จะมาดูแลเธอระหว่างการคลอดที่บ้าน แต่ปัญหาก็คือ เมื่อเธอเริ่มเจ็บท้อง พยาบาลผดุงครรภ์ของเธอติดงานทำคลอดให้คนไข้อีกคน และส่งตัวแทนมาทำคลอดให้เธอ

อีฟ (มอลลี พาร์เกอร์) ดูท่าจะมีความรู้และทำทุกสิ่งทุกอย่างตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่ลูกน้อยของมาร์ธาก็คลอดออกมาและมีชีวิตอยู่เพียงไม่นาน

หลังจากนั้น ครอบครัวนี้ก็ต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสียที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาทดแทนได้

วิธีการที่แต่ละคนพยายามจะใช้ชีวิตต่อไปนั้นแยกไปกันคนละทางสองทาง

ฌอนสงสัยในตัวเองว่าเขาใช้ชีวิตมาผิดๆ ในอดีตและนั่นอาจส่งผลให้ลูกไม่แข็งแรง

มาร์ธารู้สึกว่างเปล่าและไม่สามารถกลับมามีความสุขในชีวิตแต่งงานได้

เอลิซาเบธ แม่ของเธอ โทษพยาบาลผดุงครรภ์ และพยายามเดินหน้าในการฟ้องร้องเอาผิดกับอีฟโทษฐานฆ่าคนตาย โดยนึกว่านั่นคือการเรียกร้องความยุติธรรมให้บังเกิดขึ้น

ครอบครัวขัดแย้งและเป็นปากเสียงกันด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูจะมีความสำคัญเสียเหลือเกิน นั่นคือ จะจัดการกับศพอย่างไร มาร์ธาคิดจะบริจาคร่างทารกให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษา ขณะที่แม่ไม่เห็นด้วยเลย

แม้แต่ชื่อที่ตั้งให้ลูกไว้ และจะต้องสลักลงบนป้ายหลุมศพ ก็เป็นเหตุให้เป็นปากเป็นเสียงกันว่าจะสะกดด้วยอักษร y หรือ i

แต่หนังมาได้ข้อสรุปในฉากที่มาร์ธาขึ้นเป็นพยานให้ปากคำในศาลจากการที่อัยการส่งฟ้องอีฟโทษฐานฆ่าคนตาย และเอลิซาเบธต้องการให้อีฟชดใช้กรรมในคุก เพื่อเรื่องราวจะได้มี “จุดลงเอย” (closure) ได้

ผู้เขียนถึงบางอ้อทันทีเลยว่านี่คงเป็นสาเหตุที่คนอเมริกันฟ้องร้องกันเหลือเกิน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ฟ้องไว้ก่อนตะพึดตะพือ… เหวี่ยงซ้ายป่ายขวา “โทษ” คนอื่นไว้ก่อน แทนที่จะโทษตัวเอง ปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัว

เมื่อเกิดความผิดพลาดใดๆ หรือเมื่ออะไรๆ ไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ สังคมสมัยใหม่สอนให้โทษแต่คนอื่นไว้ก่อน โดยไม่พิจารณาปัจจัยแวดล้อม ไม่นึกถึงว่าตัวเราก็อาจมีส่วนรับผิดชอบกับเรื่องนั้นเหมือนกัน

ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของแอปเปิลที่หนังปูพื้นและพัฒนามาแต่ต้น เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างและกลายเป็นการขมวดเรื่องเข้าด้วยกัน

อันที่จริง อยากพูดเรื่องแอปเปิลโดยละเอียดกว่านี้ เสียแต่จะกลายเป็น “สปอยเลอร์” ไป เอาเป็นว่า ถ้าใครดูหนังเรื่องนี้ ก็ขอให้สังเกตการใช้สัญญะด้วย “แอปเปิล” ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปสุดท้ายของหนังก็แล้วกันค่ะ

ขอแนะนำนะคะ ออกจะเป็นเรื่องหนัก….ไม่ใช่หนักสมอง แต่หนักอารมณ์…ที่ต้องอาศัยการตีความหมายอยู่สักหน่อย แต่ก็เป็นหนังดีชวนดูค่ะ