ขบวนการสิ่งแวดล้อมช่วงปลายน้ำ / อนุช อาภาภิรม

TURIN, ITALY - DECEMBER 13: Greta Thunberg Attends Fridays For Future Strike In Turin on December 13, 2019 in Turin, Italy. (Photo by Stefano Guidi/Getty Images)

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (9)

 

ขบวนการสิ่งแวดล้อมช่วงปลายน้ำ

 

ขบวนการสิ่งแวดล้อมช่วงปลายน้ำ เกิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 21 และคงสิ้นสุดภายในปี 2050 สอดคล้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทั้งนี้ โดยการคำนึงถึงเป้าหมายและเหตุการณ์สำคัญบางประการ ได้แก่

ก) เป้าหมายของข้อตกลงปารีส ปี 2015 ที่ระบุให้จำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ให้อยู่ในระดับที่ต้นไม้และมหาสมุทรดูดซับได้ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2050

ข) จีนกำหนดเป้าหมายการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจ ก้าวหน้า มีวัฒนธรรมระดับสูงในปี 2049

ค) มีนักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมจำนวนมากขึ้นทุกที เอาเป็นว่าเวลาสำหรับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเหลืออยู่น้อยมากแล้ว หากทำไม่สำเร็จภายในสิบหรือยี่สิบปีนี้ก็จะถึงจุดพลิกผันที่แก้ไขอะไรไม่ได้

ในอีกด้านหนึ่ง มีนักวิชาการและนักอุตสาหกรรมหลายคนเห็นว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ภายในครึ่งแรกของศตวรรษนี้ จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ได้ ที่น่าจับตาคือขบวนการเร่งความเร็ว หรือลัทธิเหยียบคันเร่ง (Accelerationism) ต้องการเร่งอัตราเร็วขึ้นอีกโดยเห็นว่าจำเป็นและเลี่ยงไม่ได้ซึ่งมีทั้งปีกขวาและปีกซ้าย ปีกขวาต้องการเร่งการเปลี่ยนแปลงภายในระบบทุนนิยม

เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ปีกซ้ายต้องการเร่งความเร็วโดยพ้นจากระบบทุน ลัทธิเร่งความเร็วนี้โดยทั่วไปไม่เห็นด้วยกับลัทธิอนุรักษนิยม (ปีกขวาทางการเมือง) ลัทธิสังคมนิยมแบบเก่า แนวคิดประชาธิปไตยสังคมนิยม นักสิ่งแวดล้อม นักลัทธิปกป้องการค้า ลัทธิประชาสังคม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิท้องถิ่นนิยม และอุดมการณ์ใดที่ต้องการให้การเปลี่ยนที่มีลักษณะพลิกโลกชะลอความเร็วหรือกระทั่งหวนกลับ

(ดูบทความของ Andy Beckett ชื่อ Accelerationism : how an fringe philosophy predicted the future we live in ใน theguardian.com 11/95/2917)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่เป็นการต่อเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ถ้าจุดเด่นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามอยู่ที่อินเตอร์เน็ตและพลังงานนิวเคลียร์

จุดเด่นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่จะอยู่ที่อินเตอร์เนตในสรรพสิ่ง (IoT – Internet of Things) และพลังงานหมุนเวียน

อินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่ง อาศัยความก้าวหน้าหลายอย่าง ได้แก่ อุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับและวัดปรากฏการณ์ทางกายภาพและแปรเป็นข้อมูลเพื่อการประมวลผล ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีอื่นที่เชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างวัตถุทางกายภาพทั้งหลายโดยผ่านอินเตอร์เน็ต

ด้านหนึ่ง สร้างเครืองมือของใช้ฉลาดที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เช่น ทีวีฉลาด ตู้เย็นฉลาด หุ่นยนต์ฉลาด บ้านฉลาด โรงงานฉลาด เมืองฉลาด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีระเบิดฉลาด

อีกด้านหนึ่ง สร้างกระบวนการทางธุรกิจที่เชื่อมต่อระหว่างกันมีปฏิบัติดีขึ้นมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยข่าวสารที่ฉลาดและดีขึ้น

ใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักรและการวิเคราะห์เชิงทำนายอนาคตเพื่อสร้างแอพพลิเคชั่นอินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่ง หรือแอพพ์ฉลาด ธุรกิจที่มีการใช้อินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่งอย่างได้ผล

เช่น ในด้านสายการบิน เภสัชกรรม โรงงานอุตสาหกรรม การประกัน ธุรกิจบริการ ธุรกิจด้านสื่อและการบันเทิง เป็นต้น

ในด้านพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังแสงอาทิตย์และพลังลม เดิมมีราคาแพง แต่ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ และการลงทุนจากภาคธุรกิจเอกชน เกิดการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตพลังงานต่อหน่วยลดลงใกล้เคียงกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเป็นแหล่งพลังงานเสริมที่มีความสำคัญขึ้น

ขบวนการสิ่งแวดล้อมช่วงปลายน้ำ เห็นได้ชัดว่าให้ความสำคัญสูงต่อปัญหาโลกร้อนที่มีความรุนแรงและแก้ไขได้ยากขึ้น เพราะเกี่ยวพันกับความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสำคัญ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายแก้ปัญหาแบบครึ่งๆ กลางๆ ขบวนการสิ่งแวดล้อมในช่วงนี้มีมากมายหลายกลุ่มองค์กรด้วยกัน

ในที่นี้จะ กล่าวถึง 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

1) หน่วยงานของสหประชาชาติ ได้แก่ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิากาศ (IPCC ก่อตั้งปี 1988) เป็นหน่วยงานที่ทำรายงานและรายงานพิเศษ โดยประเมินผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ใน 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่

ก) พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์

ข) ผลกระทบการปรับตัวและความเสี่ยง

ค) การลดผลกระทบ และมีการสังเคราะห์การประเมินผลทั้งหมดเข้าด้วยกัน

องค์การนี้เป็นเหมือนองค์การแม่ ขับเคลื่อนสร้างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้น (UNFCC ก่อตั้งปี 1992) มีประเทศต่างๆ ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญานี้กว่า 150 ประเทศ

จากนั้นมีการจัดการประชุมรัฐภาคีที่เข้าร่วมอนุสัญญานี้ ซึ่งเป็นองค์การตัดสินใจสูงสุด นิยมเรียกว่า การประชุมรัฐภาคี หรือคอป (COP) ประชุมครั้งแรกที่เยอรมนีปี 1995 ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่สำคัญ เช่น อนุสัญญาเกียวโต (ลงนาม 1997) และข้อตกลงปารีส (2015)

การประชุมคอปครั้งสุดท้ายจัดที่ประเทศสเปนปี 2019

การประชุมต่อไปครั้งที่ 26 จะจัดที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายน 2021

เมื่อคณะกรรมการระหว่างประเทศ ก้าวสู่การเป็นองค์การระหว่างประเทศตามอนุสัญญา องค์การก็ทวีความซับซ้อนขึ้น สะท้อนความซับซ้อนของการพัฒนาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เช่น มีการแบ่งประเทศภาคีอนุสัญญาเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง เป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ เช่น ยุโรปตะวันออก

และกลุ่มที่สองได้แก่ ประเทศกำลังพัฒนา

สำหรับการประชุมของคอป หลังจากที่เกิดอนุสัญญาเกียวโต และข้อตกลงปารีสแล้ว ก็แบ่งผู้เข้าประชุมเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่งเป็นภาคีทั่วไป

กลุ่มที่สองเป็นภาคีทั่วไปและเข้าร่วมอนุสัญญาเกียวโต หรือกลุ่มซีเอ็มพี ประชุมครั้งแรกปี 2005

กลุ่มที่สามเป็นประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงปารีส หรือกลุ่มซีเอ็มเอ ประชุมครั้งแรกปี 2018

ความซับซ้อนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การร่วมมือกันแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนมีความยากลำบากเพียงใด เมื่อผลประโยชน์ของประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้พลังงานมากกับประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้พลังงานน้อยกว่าขัดกันรุนแรง จนทำข้อตกลงใดๆ ได้ยาก หรือมีขึ้นแบบไม่ผูกมัด มีผลทางปฏิบัติไม่มากนัก

องค์การเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติจึงมักถูกวิจารณ์ว่าทำงานล่าช้า ไม่ชี้ความรุนแรงของปัญหาอย่างเต็มที่ ไม่คุ้มกับการลงแรงและค่าใช้จ่าย

เช่น การต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญนับจำนวนพันเพื่อทำรายงานประเมินสถานการณ์ภาวะโลกร้อน ซึ่งก็ทำได้เพียง 5 ฉบับ และกำลังเตรียมทำรายงานฉบับที่ 6 ซึ่งจะเผยแพร่ในปี 2022

ส่วนรายงานพิเศษของไอพีซีซีก็ต้องใช้เวลานานในการจัดทำเช่นกัน

นี่ยังไม่กล่าวถึงค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มองในด้านดี องค์การชุดไอพีซีซีนี้มีผลงานสำคัญคือ การสร้างฉันทามติในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ว่า ภาวะโลกร้อนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง สามารถตรวจวัดได้

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์โดยการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นขึ้นสู่บรรยากาศ

และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนับแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเพียงสองร้อยปีเศษมานี้เอง ท้ายสุดต้องมีมาตรการแก้ไข ลดทอนผลกระทบนี้ หรือฟื้นสภาพภูมิอากาศให้กลับมาเหมือนก่อนยุคอุตสาหกรรม

ประมาณว่านักวิทยาศาสตร์เกือบทั้งหมดคือราวร้อยละ 97 เห็นพ้องกับแนวคิดดังกล่าว

ส่วนผู้ที่มีความสงสัยก็มักไม่ได้ต่อต้านแข็งขัน

ผู้ออกมาต่อต้านมักจะถูกโต้กลับจนกระทั่งอยู่ไม่เป็นสุข บางคนถึงขั้นต้องลาออกจากการสอนในมหาวิทยาลัยก็มี

ฉันทามติของเหล่านักวิทยาศาสตร์ ได้กลายเป็นฉันทามติของสังคมสาธารณชนทั่วไป

แน่นอนว่ายังมีผู้สงสัย เช่น ในหมู่นักบริหารหรือนักการเมืองจำนวนหนึ่ง เห็นว่าภาวะโลกร้อนหรือวิกฤตินิเวศเป็นเรื่องแหกตา ซึ่งก็จะถูกตอบโต้จากนักวิทยาศาสตร์และผู้รู้อย่างแข็งขัน จนกระทั่งรักษาทัศนะนั้นไว้ไม่ได้

เห็นได้จากกรณีของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นตัวอย่าง

การที่นักวิทยาศาสตร์มีบทบาทสูงในเรื่องดังกล่าว เกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการด้วยกันคือ

ก) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนิเวศวิทยาและวิกฤติของมันเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ต้องการการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นปริมาณมากเหล่านี้ เกินกว่าที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือปราชญ์ชาวบ้านจะกล่าวถึงเป็นรายละเอียดกว้างขวางได้

ข) ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มีฐานมั่นคง ได้แก่ มีภาควิชาและรายวิชาในมหาวิทยาลัย มีคนรุ่นใหม่ที่สมัครเข้ามาเรียน สืบทอดและพัฒนาความรู้ เกิดการยอมรับกว้างขวางขึ้น

ค) นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายสามารถแสดงตนว่าเป็นผู้เคารพข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน เช่น ในการศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อน ก็มีการศึกษาเรื่องภาวะโลกเย็นไปด้วย แล้วจึงค่อยสรุปว่า โลกกำลังร้อนขึ้น

ง) นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้ทำงานวิจัยนับจำนวนพัน มีรายละเอียดในการอธิบายและโต้เถียงอย่างน่าเชื่อถือ ทั้งยังเป็นนักคำนวณช่างคิด

เช่นเมื่อไม่นานนี้ มีนักวิทยาศาสตร์เขียนรายงานว่าปริมาณพลังงานที่มหาสมุทรดูดซับไปจากภาวะโลกร้อนจากการกระทำของมนุษย์ สามารถคำนวณได้เท่ากับพลังงานนิวเคลียร์จากระเปิดปรมาณูที่ทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมาถึง 5 ลูกต่อวินาที (ดูบทความชื่อ Earth is warming at a rate equivalent to five atomic bombs a second ใน skepticscience.com 08/02/2020 เป็นเวปที่สร้างขึ้นเพื่อตอบโต้ผู้สงสัยเรื่องโลกร้อน)

ในเดือนพฤศจิกายน 2019 มีคณะนักวิทยาศาสตร์โลกจำนวน 11,000 คน ได้ออกประกาศเตือนว่า โลกได้เข้าสู่ภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศ และประชาชนในโลกนี้จะเผชิญกับความทุกข์ยากอย่างสุดบรรยาย จากวิกฤติภูมิอากาศนี้

เป็นเหมือนการเตือนให้มีการแก้ไขครั้งสุดท้าย

2) การเคลือนไหวของกลุ่มศาสนาโลก วงการศาสนาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมช้ากว่าวงการวิทยาศาสตร์ เนื่องจากว่าศาสนามีแนวโน้มที่จะเน้นความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ ไม่ได้เน้นการสังเกต การตั้งสมมุติฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่แบบวิทยาศาสตร์ที่ต้องการรู้โลกและเปลี่ยนแปลงโลก

แต่เมื่อวิกฤติชัดเจนขึ้น จึงได้มีการเคลื่อนไหว

ที่สำคัญได้แก่ ผู้นำศาสนาโรมันคาทอลิกที่มีผู้นับถือทั่วโลกราว 1.2 พันล้านคน คือ สันตะปาปาฟรานซิสได้มีพระสมณสาส์นในปี 2015 สนับสนุนแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

และในปี 2020 ได้เรียกร้องให้ชาวโลกปฏิบัติอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เป็นการเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง ชี้ว่าการเคลื่อนไหวนี้ได้ขยายตัวจากวิทยาศาสตร์ สู่ด้านความเชื่อและจริยธรรม

สำหรับศาสนาอื่นก็มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน เช่น มีคำประกาศชาวพุทธว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศปี 2015 ชื่อ “ถึงเวลาทำเดี๋ยวนี้” เรียกร้องให้ทั้งโลกลดการส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

ในสหรัฐก็มีการเคลื่อนไหวของพวกคริสเตียนสีเขียวอยู่เช่นกัน

แต่จากการศึกษาสำรวจในปี 2015 พบว่า ชาวคริสเตียนผิวขาวจำนวนมากไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อน และกังวลว่าพวกมีความเชื่อนอกรีตจะขึ้นมามีบทบาททำลายความเชื่อเรื่อง “วันสิ้นโลก” ซึ่งจะตัดสินโดยพระเจ้า ไม่ใช่พวกนอกรีตใหม่ การต่อสู้กันระหว่างสองความคิดนี้ สะท้อนวิกฤติสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น ยังไม่ชัดว่าฝ่ายใดจะชนะ

(ดูบทความของ Bernard Daley Zaleha และเพื่อน ชื่อ Why conservative Christians don’t believe in climate change? ใน journals.sagepub.com 2015)

3) การเคลื่อนไหวของนักเรียนมี เกรตา ธันเบิร์ก (เกิด 2003) เป็นตัวแทน ธันเบิร์กได้เริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่อายุ 16 ปี และได้รับความสนใจและการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ ด้วยความเด็ดเดี่ยว ความตรงไปตรงมา และความแหลมคมของสารที่เธอส่งออกไป

จนกระทั่งกลายเป็นขบวนการการเคลื่อนไหวของนักเรียนมัธยมดังกล่าว

ส่วนหนึ่ง เกิดจากการศึกษาในห้องเรียน มีการทำรายงาน ทำให้รู้ลึกถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกที

อีกด้านหนึ่ง เกิดจากความเห็นว่า การปล่อยให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่กุมอำนาจอยู่แก้ไขปัญหา ไม่มีทางสำเร็จ ขณะที่คนรุ่นเธอต้องเป็นผู้รับเคราะห์กรรมอย่างน่าอนาถ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงป