ปีฉลู วัว โค (วิด) : ข้อสังเกตจากญี่ปุ่น /สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ
สุภา ปัทมานันท์

ปีฉลู วัว โค (วิด)
: ข้อสังเกตจากญี่ปุ่น

ทั่วโลกผ่านพ้นปีชวด 2020 มาอย่างร่อแร่ สะบักสะบอมกันทั่วหน้า ไม่มีเว้นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเลย เป็นปีที่ทุกคนต้องชวด (เสีย) อะไรหลายๆ อย่างในชีวิตปกติไปไม่มากก็น้อยกันทั้งสิ้น
เข้าสู่ปีฉลู 2021 แล้ว แต่คุณโค (วิด) ก็ยังไม่มีทีท่าอ่อนกำลังลงเลย หนำซ้ำดูจะเพิ่มความหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นไปอีก ในหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่นเองก็ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ล็อกดาวน์รอบสองกันไปแล้วในทันทีที่ล่วงเข้าสู่ปีฉลูได้เพียงสัปดาห์เดียว
ในญี่ปุ่นก็มีการนับปีนักษัตรเหมือนอย่างของไทยเรา ปีนี้คือ ปีฉลู หรือปีวัว (??? อุชิโดชิ) ของญี่ปุ่นเช่นกัน คอมเมนเตเตอร์ของสำนักข่าวเอ็นเอชเค คุณเรโกะ ซากุไร ได้มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีฉลู
โดยให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากลักษณะของ คุณโค (วัว) 3 ประการ คือ

หนึ่ง ย่างก้าวของวัว (????) เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ และช้าๆ… ดังย่างก้าวของวัว ฉะนั้น เราไม่อาจมองโลกในแง่ดีอย่างปลอบใจตัวเองได้เลย ปฏิเสธไม่ได้ว่าปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นติดลบอย่างรุนแรงที่สุดนับแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา ปีนี้สำหรับญี่ปุ่นและทั่วโลก เราต้องเอาใจช่วยกันว่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นจากก้นเหวจุดต่ำสุดได้สักเท่าใด
เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้นั้น อยู่บนสมมุติฐานว่าเราสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ มีวัคซีนป้องกันโรคได้ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่อาจรับรองประสิทธิภาพของวัคซีนว่าจะได้ผลเพียงใด การจ้างงานในแต่ละประเทศที่หดตัวมาตลอดปีที่ผ่านมา จะกลับมาเหมือนเดิมได้อีกเมื่อไร
ญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Country) ที่เศรษฐกิจติดลบเกือบ 6% ในปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่าจะกลับมาเป็นบวก 4% ในปีวัวนี้ให้ได้ แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะกลับไปเป็นบวก หรือกลับสู่สภาพก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ให้ได้ ไม่ง่ายเลย เมื่อเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำลายสถิติเดิมวันแล้ววันเล่า จนกระทั่งญี่ปุ่นต้องประกาศให้ล็อกดาวน์ในบางจังหวัด ในเกือบทั่วทุกภาคของประเทศแล้ว โรงพยาบาลเริ่มรับมือไม่ไหว
อีกทั้งห้ามไม่ให้ต่างชาติเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นจนถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้ และอาจยืดเวลาปิดประเทศอีก

สอง ภาวะกระทิง ของตลาดหุ้นทั่วโลก (??????) กระทิง ก็คือวัวนั่นเอง ที่น่าแปลกใจคือท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่นและทั่วโลก แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับพร้อมใจกันพุ่งทะยานขึ้น ดูได้จากลักษณะเขาของวัวกระทิงที่งัดจากล่างขึ้นบนอย่างแรงและเร็ว
ช่างตรงกันข้ามกับก้าวย่างอันเชื่องช้าของวัว ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (ข้อหนึ่ง) เสียนี่กระไร
ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐอเมริกาทำสถิติสูงสุดเมื่อสิ้นปี ส่วนดัชนีนิกเคอิของตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็พุ่งขึ้นสูงกว่าดัชนีเมื่อก่อนการระบาดถึง 15% ทีเดียว และยังคงพุ่งต่อ ไม่มีเหนื่อยเลย นับแต่เข้าสู่ปีฉลูเป็นต้นมา น่าสงสัยไม่น้อยเลย
จากภาพลักษณ์ของวัวดังกล่าวมาข้างต้น หากวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็สอดคล้องกัน คือทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ในยุโรป รัฐบาลแต่ละประเทศต่างพากันกระตุ้นเศรษฐกิจของตนด้วยการลดดอกเบี้ยเป็นศูนย์หรือติดลบกันไปแล้ว เงินฝากท่วมธนาคาร และเป็นเงินฝากที่แทบจะไม่มีดอกเบี้ยอยู่แล้ว ถ้าเช่นนั้นเงินเหล่านี้จะไปที่ไหนดี? ต่างก็พร้อมใจกันไหลไปที่ตลาดหุ้นนั่นเอง
ในอนาคต ไม่มีใครตอบได้ว่า ฟองสบู่ที่ลอยละล่อง ขยายตัวพองขึ้นๆ ตรงข้ามกับภาวการณ์ที่เป็นจริงนี้ จะแตกโพละลงเมื่อใด
ในด้านตลาดหุ้นไทยเองก็ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก นักวิเคราะห์ต่างพากันให้ความเห็นถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกจะทำสถิติสูงสุดใหม่ได้อีก
ผู้เขียนเห็นว่าเราควรพิจารณาลักษณะของปีฉลู เพิ่มเติมในข้อต่อไปนี้ให้สอดคล้องกับภาวะกระทิงในข้อที่สอง
นั่นคือ

สาม ปล่อยวัวและม้ากลับสู่ทุ่งหญ้า (??????) คือ ให้ทั้งวัวและม้ากลับมาสู่ทุ่งหญ้าที่เป็นถิ่นฐาน แหล่งอาหารของตัวเอง เพื่อจะได้อยู่อย่างสุขสงบ
ประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเลิกห้ำหั่นกันเอง หันกลับมาร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับการระบาดของคุณโค (วิด-19) ให้ได้ เพื่อให้ชาวโลกได้กลับสู่วิถีชีวิตอันสงบสุขและมีสันติภาพเสียที
ในมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แน่นอนว่า ตัวเลขเงินกู้ของทุกประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น ประเทศใหญ่ๆ ควรเกื้อกูลประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องร่วมชะตากรรมเดียวกันในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
ในวันที่ 20 มกราคม นายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้นิยมนานาชาติ (Internationalist) เขาหันมาร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองกับนานาชาติมากขึ้น ตรงกันข้ามกับนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี ซึ่งเน้นอเมริกันมาก่อน หรือ American First นโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ให้ความร่วมมือกับนานาประเทศ ย่อมเป็นความหวังของญี่ปุ่น หนึ่งในพันธมิตรหลักของสหรัฐอเมริกาด้วย
ญี่ปุ่นเองก็จะได้รับประโยชน์จากนโยบายความสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกา
เราทั้งหลายน่าจะหวังได้ว่า ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนานาประเทศ จะช่วยให้ชาวโลกสามารถก้าวข้ามพ้นปัญหาต่างๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามาในปีฉลู วัว โค (วิด) นี้ได้ แน่นอนรวมทั้งญี่ปุ่นด้วย…