E-DUANG : ใน “ความเงียบ” ยังมี “เสียง” เกิดขึ้น ดำรงอยู่

การไม่ยอมพูด ไม่ยอมให้สัมภาษณ์นักข่าวเป็นเวลาอย่างน้อยก็ 2 สัปดาห์ ก่อให้เกิดสภาพอย่างที่เรียกว่า

“นัยประหวัด” ในทาง “ความคิด”

สำหรับคนในยุคทศวรรษที่ 1960 อาจเกิดนัยประหวัดไปยังบทเพลงของ พอล ไซมอน

“เสียงแห่งความเงียบ”

สำหรับคนในยุค “จนแล้วอายไม่ใช่เซ็น” ของท่าน “ธีรทาส” อาจเกิดนัยประหวัดไปยังคำๆหนึ่งอันเป็น “โกอาน” พร้อมภาพจิตรกรรมในโรงมหรสพแห่งวิญญาณ ณ สวนโมกขพลาราม

“เสียงตบมือข้างเดียว”

ไม่ว่าจะเรียกร้องต้องการ “ความเงียบ” อย่างไร แต่ก็มิอาจหนีพ้นไปจาก “เสียง” ได้

 

ในความเป็นจริง ปฏิบัติการอย่างที่เรียกว่า “ตบมือ” เป็นเรื่องของสัมผัสระหว่าง 2 มือเสมอ

เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการตบมือข้างเดียว

โบราณสรุปจากความจัดเจนมานานแล้วว่า ตบมือข้างเดียวไม่บังเกิดผล

นั่นก็คือ ไม่มี “เสียง”

แต่ครูบาในแวดวงนิกายเซนพากันขบคิดมาอย่างยาวนานแล้วตั้งแต่ยุคท่านกัสสปะกระทั่งยุคท่านเหว่ยหล่าง

ค้นหา “เสียง” จากการตบมือข้างเดียว

กระทั่งในที่สุด พอล ไซมอน รจนาเป็น “เสียงแห่งความเงียบ” ไปร้องคู่กับ อาร์ท การ์ฟันเคล

ดังจาก “นิวยอร์ค” จนถึง “บางกอก”

 

ยิ่งเรียกร้องต้องการ “ความเงียบ” ยิ่งจะปรากฏ “เสียง” เล็ดลอดออกมาให้เป็นที่ปรากฏ

ทุกอย่างเป็นเหมือนที่ อังคาร กัลยาณพงศ์ ระบุ

“โลก” นี้มิได้อยู่ด้วย มณี เดียวนา (หากแต่)ทรายและสิ่งอื่นมี ร่วมสร้าง

“ความเงียบ” ก็เหมือนกับ “ความรัก”

ย่อมดำเนินไปอย่างเดียวกับที่ท่านโอวิคในยุคอาณาจักรโรมันเคยสรุปอย่างรวบรัด

ท่านปิดประตู มันก็จะเข้าทางหน้าต่าง

ความรักเป็นอย่างนี้ ความเงียบเป็นอย่างนี้