อำนาจของเวลา | นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

ปกติแล้วในช่วงปีใหม่เราจะมีความรู้สึกว่ากำลังจะ ‘เริ่มต้นใหม่’ หลายคนอาจอินถึงขนาดคิดฝันว่าจะมี ‘ชีวิตใหม่’ ความรู้สึกเช่นนี้อบอวลอยู่ในสังคมประมาณหนึ่งเดือน จากนั้นเมื่อเข้าสู่กุมภาพันธ์ก็ค่อยๆ จางคลายกลายมาเป็นช่วงเวลาปกติ แต่ปีนี้แปลก ความรู้สึก ‘ใหม่’ ที่ว่านั้นหายไปไวกว่าปีอื่น เหมือนโผล่ขึ้นมาแว่บหนึ่งแล้วก็หายลับไปเลย บางคนยังไม่ทันรู้สึกด้วยซ้ำ กลับรู้สึกเหมือนปีที่แล้วลากยาวต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ราวกับมกราคม 2021 เป็นเพียงเดือนที่สิบสามของปี 2020 นั่นแปลว่า เวลาในความรู้สึกเราไม่ตรงกับปฏิทินเสมอไป และดูเหมือนเรื่องใหญ่อย่าง ‘โควิด-19’ จะกลายเป็นหมุดหมายที่ใหญ่และสำคัญกว่าเลขปี เชื่อว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป เราจะจดจำช่วงเวลานี้ว่า ‘ช่วงโควิด’ โดยพร้อมเพรียงกัน หนังสือ ‘หมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม’ โดย ฐานิดา บุญวรรโณ เล่าถึงความคิดเรื่องเวลาของเอมิล ดูร์ไกม์ นักสังคมวิทยาผู้นำเอาเรื่องเวลามาอธิบายสังคม สำหรับเขา เวลามีต้นกำเนิดจากสังคม เมื่อพูดถึงเวลามันจึงไม่ใช่เวลาของปัจเจกคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเวลาของพวกเราที่ใช้เวลาร่วมกัน ฉะนั้น ปฏิทินจึงเป็นเสมือนเครื่องกำกับจังหวะของกิจกรรมส่วนรวม เพื่อประกันความสม่ำเสมอของกิจกรรมนั้นๆ (เรานัดวันเดือนปีกันได้ก็เพราะใช้ปฏิทินเดียวกัน) เมื่อผู้คนอยู่ในกรอบของเวลาที่กำหนดโดยสังคม สังคมจึงมีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือปัจเจกบุคคลได้โดยผ่านกรอบเวลาเหล่านี้ เช่น กำหนดระยะเวลาเข้างาน-เลิกงาน หรือกำหนดจังหวะว่าปีใหม่จะมาถึงในช่วงนี้ แล้วผู้คนก็เฉลิมฉลองกัน ถ้าไม่มีเวลากลาง แต่ละคนใช้เวลาของตัวเอง สังคมย่อมมิได้มีโฉมหน้าเป็นระบบระเบียบอย่างที่เป็นอยู่ เวลาจึงไม่ได้เป็นของ ‘ตัวเรา’ แต่เป็นของ ‘พวกเรา’ และเราก็รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพราะใช้เวลาร่วมกัน มีปฏิทินเดียวกัน มีเวลาในนาฬิกาที่ผูกไว้กับข้อมือเป็นตัวเลขเดียวกัน ตัวเลขบอกเวลาบนจอมือถือก็ตรงกัน จังหวะชีวิตต่างๆ ของเราจึงหมุนไปภายใต้ ‘เวลา’ เดียวกันนี้ เวลาทางสังคมที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่นาฬิกาและปฏิทิน แต่ยังหมายถึงกิจกรรมสารพัด เช่น คอนเสิร์ต วันรับปริญญา งานเปิดตัวสินค้า ขบวนแห่ บั้งไฟพญานาค ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เราผูกโยงตัวเองไว้กับเวลาในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน แถมยังใช้เวลาแบบนี้เป็นจุดอ้างอิงอยู่เนืองๆ เช่น “เจอกันหลังคอนเสิร์ตเลิกนะ” ซึ่งจะสื่อสารแบบนี้ได้ก็แปลว่าตัวเรากับคู่สนทนาต้องรับรู้ ‘เวลา’ นี้ร่วมกัน เวลาทางสังคมเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้นตามการขยายตัวของเมือง และการดึงดูดผู้คนเข้ามาทำงานในเมืองร่วมกันในปริมาณมหาศาล จึงน่าสนใจว่า ก่อนที่เวลาจะเป็นสิ่งกำหนดชีวิตผู้คน เส้นทางพัฒนาการของสังคมมนุษย์เป็นอย่างไร หนังสือเล่มนี้บอกว่า ขั้นแรกผู้คนในสังคมถูกกำหนดด้วยบุคคลคนเดียว เช่น อำนาจกษัตริย์ คนในสังคมเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรงทางกายภาพ จึงควบคุมอารมณ์ด้วยการ ‘ควบคุมตัวเอง’ เพราะกลัวการถูกลงโทษจากผู้มีอำนาจ ต่อมาพอเกิดรัฐขึ้น อำนาจไปอยู่ที่รัฐบาล มีกฎหมายและตำรวจมาควบคุมผู้คนในสังคม ใช้กำลังบังคับให้คนเหล่านั้นควบคุมอารมณ์ตนเอง ยุคนี้ผู้คนจึง ‘ยับยั้งชั่งใจ’ ไม่ให้กระทำผิด เป็นการคุมด้วยกฎระเบียบ ขณะที่ ‘เวลา’ ควบคุมเราโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ไม่มีตำรวจมาตรวจ ไม่มีกฎหมายขู่ให้ทำตาม มันสร้างกรอบบางอย่างขึ้นมาให้เราปฏิบัติตามโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ แม้เวลาจะเป็นนามธรรม แต่ก็มีวัตถุจับต้องได้มาค้ำจุนการมีอยู่ของมัน นั่นคือสิ่งก่อสร้างอย่างหอนาฬิกา และสิ่งประดิษฐ์อย่างนาฬิกาข้อมือ จากนั้นชีวิตมนุษย์ก็เปลี่ยนไป จากที่เราเคยกินเมื่อหิว นอนเมื่อง่วง ทุกวันนี้เรากินเพราะมันถึงเวลาพักเที่ยงแล้ว ตัวเลขในนาฬิกาข้อมือชี้ไปที่เลข 12 และเราก็นอนเพราะมันสี่ทุ่มแล้ว ไม่ว่าจะง่วงหรือไม่ก็ตาม เมื่อชีวิตผูกกับเวลาและถูกกำหนดโดยเวลา วิธีมองชีวิตของมนุษย์เราก็เปลี่ยนตามไปด้วย ในสังคมยุคก่อนอุตสาหกรรม ชีวิตประจำวัน การทำงาน การพักผ่อนมิได้แยกจากกันเด็ดขาดเหมือนในตอนนี้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบอุตสาหรรมต้องการให้คนทำงานต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพราะเครื่องจักรไม่ต้องหยุดทำงาน ความคุ้มค่าที่สุดจึงเกิดจากการทำงานต่อเนื่องยาวนาน ใช้เวลาน้อยได้เนื้องานมาก การทำงานหนัก ความขยัน ประสิทธิภาพ productivity จึงกลายเป็นคุณค่าที่เหล่าคนทำงานไขว่คว้าอยากทำให้ทะลุขีดจำกัดขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งขยัน ยิ่งดี ยิ่งมีประสิทธิภาพ ยิ่งมีคุณค่า เราจึงให้คุณค่ากับการงานเป็นเรื่องหลักในชีวิต มากกว่าการพักผ่อน นอนเล่น อยู่กับธรรมชาติ เล่นกับลูก กอดจูบสามีภรรยา หรือเฮฮากับมิตรสหาย เช่นนี้แล้ว ชีวิตจึงถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ ทำงานกับพักผ่อน เวลาทำงานจึงไม่ใช่เวลาเล่น ที่ทำงานจึงกลายเป็นสถานที่จริงจัง เราถูกทำให้ยอมจำนนต่อการทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ตื่นเช้า เข้าออฟฟิศ เข้าโรงงาน อยู่ที่เดิมๆ ทำสิ่งเดิมๆ จึงไม่แปลกที่เราจะ ‘เบื่อวันจันทร์’ กันเป็นปกติ มิเพียงแค่นั้น สิ่งแตกต่างจากคนยุคก่อนคือ ระบบอุตสาหกรรมเอื้อให้ผู้คนทำงานได้ตลอดทั้งปี ไม่มีฤดูกาล ไม่เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ ตารางเวลางานและชีวิตจึงอยู่ในกรอบใหม่ที่แตกต่างจากเดิมสิ้นเชิง และก็เหนื่อยกว่าเดิมด้วย เราใช้ชีวิตอยู่ภายใต้อำนาจของเวลา สิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีร่างให้อ่านเหมือนกฎหมาย ไม่โหดร้ายเหมือนผู้ปกครองที่ชอบลงโทษ ทว่าความแนบเนียนของมันนี่เองที่ทำให้เราไม่ตั้งคำถาม ได้แต่ปฏิบัติตามราวกับเป็นสัจธรรมของชีวิต จึงน่าสนใจว่า ในช่วงเวลาโควิด-19 ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยอาจต้อง Work From Home หรือทำงานที่บ้าน โดยไม่มีเวลาเข้างาน พักเที่ยง เลิกงานตอนเย็น แบบที่ใช้เวลาร่วมกันกับสังคมในบริษัทหรือองค์กร การรับรู้เกี่ยวกับเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง แล้วอำนาจของเวลาจะยังทรงอิทธิพลดังเดิมหรือเปล่า กรอบแข็งทื่อของมันจะอ่อนแอลงหรือกลับกลายเป็นว่าอำนาจของเวลาจะยิ่งแข็งแกร่งกว่าเดิม เพราะเส้นตายการส่งงานค้ำคอ ทำให้พนักงานที่อยู่บ้านอาจต้องทำงาน ‘ล่วงเวลา’ ยืดยาวไปถึงดึกดื่น ‘เวลากลาง’ ที่ใช้ร่วมกันในที่ทำงานเสมือนชุมชนที่เงยหน้าดูหอนาฬิกาเดียวกันจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม เหล่าพนักงานที่นั่งๆ นอนๆ ทำงานที่บ้านจะยังกินข้าวตอนเข็มนาฬิกาชี้เลข 12 เหมือนเดิมหรือรอท้องร้องตอนบ่ายสองแทน พฤติกรรมใหม่ๆ เหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบแห่งเวลาไปอย่างไรบ้าง อาจขึ้นอยู่กับความยาวนานของสถานการณ์ที่เกิดจากโควิด-19 ส่วนตัวผมเอง ไวรัสร้ายตัวนี้ทำลายเส้นแบ่งเวลาระหว่างปีในปฏิทินไปแล้วเรียบร้อย มันลากพาเวลาจากปีที่แล้วยืดยาวมาถึงปีนี้ ทำให้รู้สึกว่าปีใหม่เป็นเรื่องสมมุติอย่างชัดเจนกว่าปีไหนๆ เพราะอารมณ์หน่วงห่วงกังวลกับเรื่องเดิมในสเกลระดับโลกยืดยาวข้ามปีตามมาด้วย ปีใหม่จึงไม่ ‘ใหม่’ อย่างที่เคยเป็น ปีใหม่ที่ผ่านมาน่าจะเป็นปีที่โลกทั้งใบมีการเฉลิมฉลองน้อยที่สุดตั้งแต่ผมจำความได้ ขณะเดียวกันก็ดูเหมือนว่าโลกทั้งใบจะอยู่ใน ‘ปฏิทินใหญ่’ เดียวกัน นั่นคือ ‘ช่วงเวลาโควิด’ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด โควิด-19 น่าจะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เทคโนโลยี การค้าขาย และอะไรอีกหลายอย่างในโลกใบนี้ไปมากมาย น่าสนใจว่ามันจะเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบเกี่ยวกับเวลาที่มีต่อมนุษย์ไปอย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อย สำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานี้ ผมเชื่อว่าเราจะจดจำช่วงเวลานี้เหมือนๆ กันโดยไม่ต้องมีใครมากำหนด อีกหน่อยเราจะเท้าความกันถึงช่วงเวลานี้ว่า “จำได้ไหม ตอนที่มีโควิดน่ะ” หรือ “ลูกฉันเกิดตอนโควิดเลย” หรือ “ผมเรียนจบช่วงโควิดเลยครับ” ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทั้งโลกคงจดจำช่วงเวลานี้แบบเดียวกัน นั่นคือ ‘ช่วงโควิด’ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งยืนยันว่า เวลาไม่เคยเป็นของ ‘ตัวเรา’ แต่เป็นของ ‘พวกเรา’

และมันมีอิทธิพลต่อการมองชีวิตตัวเองมหาศาล