นิ้วกลม | สงครามตลอดกาลระหว่างไวรัสกับมนุษย์

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

ไวรัสเป็นสิ่งน่ารำคาญใจอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ ด้วยความที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำให้เราไม่ค่อยรู้สึกว่ามันคือ “ชีวิต” หนึ่งที่มีภารกิจเดียวกันกับมนุษย์เรา

นั่นคือ อยู่รอดและแพร่พันธุ์

เมื่อมองเห็นไวรัสในมุม “สิ่งมีชีวิต” จะเริ่มเห็นมิติที่ต่างไปจากแค่ “โรคร้าย”

วันนี้อยากลองชวนกันส่องกล้องจุลทรรศน์พิเศษเข้าไปมองโลกและมองโรคในมุมเชื้อโรคกันสักนิด ในฐานะที่มันเป็นตัวการใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาโดยตลอด

พวกมันคือฆาตกรที่คร่าชีวิตมนุษย์ไม่รู้กี่ล้านรายในหลายโฉมหน้า ไม่ว่าจะไข้ทรพิษ ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค มาลาเรีย กาฬโรค หัด และอหิวาตกโรค

เหล่านี้ล้วนเป็นโรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียหรือไวรัสก็ตาม

เมื่อมันปลิดชีพมนุษย์มากมายขนาดนี้ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ที่เห็นชัดอย่างยิ่งคือการบุกยึดดินแดนอเมริกาของกองทัพสเปนซึ่งใช้ทหารจำนวนหยิบมือเอาชนะชนพื้นเมืองเผ่าต่างๆ จำนวนนับล้านได้ ก็ด้วยการช่วยเหลือของจุลชีพที่ชาวยุโรปหอบติดตัวไปด้วยนี่เอง

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เชื้อโรค หรือ germs เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จาเร็ด ไดมอนด์ บอกว่ามีผลต่อชะตากรรมของสังคมมนุษย์

และปรากฏอยู่ในชื่อหนังสือ Guns, Germs, and Steel ซึ่งผมหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้งในวันที่โควิด-19 ยังอาละวาดไม่เลิก

“จุลชีพ” คือชีวิตขนาดจิ๋ว ถึงแม้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มันก็เป็นชีวิตเหมือนกัน ขึ้นชื่อว่าชีวิตแล้ว การดำรงชีพมาจนถึงปัจจุบันย่อมต้องผ่านการคัดสรรโดยธรรมชาติเช่นเดียวกับมนุษย์ หมายความว่า เผ่าพันธุ์ที่รอดมาย่อมมีวิวัฒนาการที่เหมาะสมกับการมีชีวิตรอดต่อไป ซึ่งพวกมันก็ได้ทดลองวิธีการต่างๆ มามากมายจนกลายมาเป็นแบบที่เป็นอยู่

เผ่าพันธุ์ที่รอดคือผู้ที่สืบทอดลูกหลานได้มีประสิทธิภาพและแพร่กระจายลูกหลานออกไปอยู่ในที่ซึ่งเหมาะต่อการดำรงชีวิตที่สุด

ในมุมชีวิตจิ๋วเหล่านี้ มันจึงต้องการเหยื่อในจำนวนมากที่สุดเพื่อแพร่กระจายวงศ์วานของพวกมันออกไปได้กว้างไกลที่สุด

จุลินทรีย์ต่างๆ ใช้ร่างกายของสิ่งมีชีวิตเป็นยานพาหนะ

มันจึงได้ประโยชน์เมื่อทำให้เราเจ็บป่วย

เพราะเมื่อเราเจ็บป่วยจะมีอาการต่างๆ ที่ช่วยแพร่กระจายเผ่าพันธุ์ของมันออกไป

มีวิธีมากมายที่ชีวิตจิ๋วเหล่านี้ใช้ปฏิบัติภารกิจสืบทอดชีวิต

อย่างแรก อยู่เฉยๆ แล้วรอให้เจ้าของร่างกายที่มันอาศัย (host) ถูกกินเข้าไปโดยร่างกายถัดไป เช่น เราอาจติดโรคบางชนิดจากการกินไข่หรือเนื้อสัตว์ที่มีแบคทีเรียหรือไวรัสที่เป็นเชื้อโรค

สอง เดินทางไปกับน้ำลายของแมลงที่มากัดกินเลือดของผู้ถูกอาศัยเดิมเพื่อไปสู่เหยื่อรายใหม่ เมื่อถูกแมลงบางชนิดกัดเราจึงป่วยเป็นโรคนั้นๆ เช่น ยุง (มาลาเรีย) หมัด (กาฬโรค) เหา (ไข้รากสาด) เป็นต้น

สาม เดินทางผ่านแม่ที่ตั้งครรภ์สู่ทารก คลอดออกมาก็จะมีเชื้อในตัวทันที เช่น ซิฟิลิส หัดเยอรมัน หรือเอดส์

สี่ จากการสัมผัสแผลหรือมีเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส และกามโรคทั้งหลาย

ห้า มันจะทำให้เราไอหรือจามเพื่อแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นทางระบบทางเดินหายใจ นี่เป็นวิธีที่เจ้าเชื้อไวรัสโควิด-19 เล่นงานเรา

ชีวิตจิ๋วเหล่านี้หาวิธีมีชีวิตรอดด้วยการเปลี่ยนแปลงร่างกายของเหยื่อที่มันไปอาศัยให้มีพฤติกรรมที่เอื้อต่อการเดินทางต่อของมัน อย่างไวรัสโรคกลัวน้ำก็ไม่เพียงอาศัยในน้ำลายสุนัข แต่ยังทำให้สุนัขที่ติดเชื้อมีอาการบ้าคลั่งไล่กัดเหยื่อรายถัดไปด้วย หรือแผลต่างๆ ที่เรามองว่าเป็น “อาการของโรค” แต่ในมุมของจุลชีพแล้วนั่นคือกลยุทธ์ในการแพร่เชื้อ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายเนื่องจากเชื้อโรคเหล่านี้ เราเรียกมันว่า “อาการป่วย” แต่สำหรับพวกมันคือ “การแพร่พันธุ์”

มันเปลี่ยนแปลงเราเพื่อมีชีวิตรอด

เมื่อมองมุมนี้ ร่างกายของเราจึงถูกควบคุมบัญชาโดยชีวิตจิ๋วเหล่านี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของมัน เมื่อมันเข้ามาสวมชีวิตอยู่ในร่างของเรา

แม้ถูกจุลชีพเหล่านี้กระทำสารพัดวิธี แต่ร่างกายของเราก็ใช่ว่าจะศิโรราบง่ายๆ มีการปรับตัวมากมายเพื่อจัดการกับเชื้อโรคร้ายเหล่านี้ แน่นอนว่า การดำรงชีวิตรอดก็คือภารกิจของเราเช่นเดียวกัน

เมื่อถูกเชื้อโรครุกราน อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นคือตัวร้อน หรือที่เราเรียกว่า “เป็นไข้”

แท้จริงคือปฏิกิริยาที่ร่างกายพยายามเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นเพื่อ “ฆ่าเชื้อ”

ว่าง่ายๆ คืออบเชื้อโรคให้มันตายไปซะ

นอกจากนั้น ร่างกายก็ยังสร้างภูมิคุ้มกันนานาชนิด โดยสร้างแอนติบอดี้เฉพาะขึ้นมาเพื่อทำลายเชื้อโรคที่ยกทัพเข้ามาในร่างกาย

ซึ่งการคิดค้นวัคซีนก็คือ การกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดี้ขึ้นเองโดยไม่ต้องเจอเชื้อโรคนั้นจริงๆ เป็นการฉีดเชื้อโรคที่ตายหรืออ่อนกำลังเข้าไปในร่างกาย

มนุษย์จึงมีวิธีต่อกรกับชีวิตจิ๋วเหล่านี้ทั้งกระบวนการธรรมชาติในร่างกาย และกระบวนการเทคโนโลยีการแพทย์เพื่อเอาตัวรอดจากข้าศึกจิ๋วทั้งหลาย

แต่ข้าศึกพวกนี้ก็มิได้กระจอกงอกง่อยแต่อย่างใด บางชนิดสามารถย้อนรอยมนุษย์ด้วยการเปลี่ยนโมเลกุลบางส่วนของมัน ทำให้แอนติบอดี้ของเราจำไม่ได้ มันจึงจู่โจมเราได้อีกครั้ง

โรคหวัดหลายสายพันธุ์เป็นเช่นนี้ คือเปลี่ยนรูปไปเรื่อยๆ ทำให้เรากลับไปเป็นไข้หวัดใหญ่ซ้ำได้อีก เพราะมันเป็นคนละสายพันธุ์กับครั้งก่อน

ความสัมพันธ์ระหว่างไวรัส แบคทีเรีย และมนุษย์จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะชีวิตจิ๋วเหล่านี้วิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อหาอาหารจากร่างกายมนุษย์ และมันก็จำเป็นที่ต้องพัฒนาวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในการแพร่ขยายพันธุ์จากเหยื่อรายเก่าไปยังเหยื่อรายใหม่อยู่เรื่อยๆ ให้กว้างขึ้นและเร็วขึ้น

กลยุทธ์ใหม่ๆ เหล่านี้ก็คืออาการของโรคร้ายนั่นเอง

ฝั่งมนุษย์ก็ต้องพัฒนาวิธีรับมือใหม่ๆ มาจัดการกับกลยุทธ์ใหม่ของเชื้อโรค พอทำสำเร็จ เชื้อโรคก็ต้องหาวิธีใหม่ๆ เพื่อแพร่พันธุ์อีก

จึงเป็นวัฏจักรไม่จบสิ้นของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตสองฝ่าย

ซึ่งความตายของฝ่ายหนึ่งคือชัยชนะของอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะของฝ่ายไหน ก็ไม่ใช่ชัยชนะถาวรตลอดกาล

เราต่างผลัดกันรุกผลัดกันรับมาตลอดประวัติศาสตร์ของการอยู่ร่วมกัน และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกเนิ่นนาน เพราะคงไม่มีใครเอาชนะอีกฝ่ายได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ชัยชนะจึงไม่ถาวร แต่สงครามต่างหากที่เป็นนิรันดร์

หรือนี่เองคือธรรมชาติของ “ชีวิต”