ถมเท่าไหร่ไม่เต็ม บิ๊กตู่โยกงบฯ จนมึน อัดเงินเยียวยาโควิดรอบ 2 / บทความพิเศษ – ศัลยา ประชาชาติ (ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

บทความพิเศษ
ศัลยา ประชาชาติ

ถมเท่าไหร่ไม่เต็ม
บิ๊กตู่โยกงบฯ จนมึน
อัดเงินเยียวยาโควิดรอบ 2

มาตรการ “เราชนะ” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งให้ความเห็นชอบการจ่ายเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ จะเป็นการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนที่เป็นแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม คนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน
เป็นการจ่ายในอัตราเดียวกันทุกพื้นที่ ไม่ได้เลือกจ่ายเฉพาะพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุด (28 จังหวัด)” เท่านั้น เนื่องจากยุ่งยากในทางปฏิบัติ และจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลด้วย
ดังนั้น กว่าจะเคาะวงเงินออกมาได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือเช็กหน้าตักกันหลายรอบ
เพราะต้องใช้เงินค่อนข้างมากในการจ่าย

โดยเมื่อวันที่ 7 มกราคม นายกฯ เรียกผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเข้าพบ ซึ่งได้มีการชี้แจงแหล่งเงินและจำนวนเงินของภาครัฐที่เตรียมงบประมาณสำหรับช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ โดยจัดเตรียมสำรองไว้ทั้งหมด 6.9 แสนล้านบาท
ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในส่วนของงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น 1.39 แสนล้านบาท
และเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ที่ยังเหลืออยู่ 4.7 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ มีงบฯ ลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ปี 2564 อีก 2.9 แสนล้านบาท
ต่อมาวันที่ 11 มกราคม ได้เรียกนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเข้าหารือถึงกรอบวงเงินที่จะสามารถใช้จ่ายเยียวยาอีกรอบ ก่อนที่กระทรวงการคลังจะเสนอเรื่องให้ ครม.เห็นชอบในวันถัดมา
นายอาคมเปิดเผยว่า วันที่ 11 มกราคม ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือเรื่องการปรับแผนหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2564 ส่วนหนึ่งมีการหารือถึงเม็ดเงินที่จะใช้ดูแลสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ยังมีวงเงินเหลือจากปีงบประมาณ 2563 ซึ่งจะปรับมากู้ในปีงบประมาณ 2564 นี้
นางแพตริเซีย มงคลวณิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า เดิมในปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้ากู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 4.5 แสนล้านบาท แต่กู้จริงเพียง 3.7 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินเหลืออยู่กว่า 7.6 หมื่นล้านบาท จึงได้ปรับวงเงินดังกล่าวมาใส่ในแผนบริหารหนี้ฯ ปีงบประมาณ 2564 ที่เดิมวางกรอบกู้เงินไว้ที่ 5.5 แสนล้านบาท ดังนั้น จะมีวงเงินที่กู้ได้อีกทั้งสิ้นกว่า 6.2 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้
ส่วนการกู้เงินเพิ่มจากกรอบ 1 ล้านล้านบาท ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีแผนการกู้เงินเพิ่มแต่อย่างใด เนื่องจากยังมีวงเงินเหลืออยู่ดังกล่าว และยังไม่มีความต้องการใช้เงินมากกว่ากรอบที่วางไว้
“ยังมีวงเงินที่เหลือจากปีที่แล้ว ซึ่งกู้ไม่หมด เหลืออยู่ 7.6 หมื่นล้านบาท ก็ได้นำวงเงินส่วนนี้เข้ามาใส่ในแผนการกู้เงินปี 2564 เพื่อเตรียมพร้อมไว้ให้กับรัฐบาล ว่าหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็สามารถดำเนินการได้เลย” นางแพตริเซียกล่าว
ขณะที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการ “เราชนะ” จะดูแลผู้ที่ควรจะได้รับทั้งประเทศ โดยไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

สําหรับแนวทางดำเนินการ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า คุณสมบัติผู้ที่จะไม่ได้รับเงินเยียวยา “เราชนะ” เบื้องต้น ประกอบด้วย
(1) ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน ยกเว้นผู้ที่อยู่ในมาตรการ 39 และมาตรา 40
(2) ข้าราชการและพนักงานของรัฐวิสาหกิจ 3 ล้านคน
และ (3) ผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเกณฑ์คุณสมบัติ โดยอาจจะประเมินจากฐานเงินเดือนและบัญชีเงินฝาก ส่วนผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการ 14 ล้านคน จะได้เข้าร่วมมาตรการอัตโนมัติ
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แม้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท หมวดที่จะใช้จ่ายเยียวยา (แผนที่ 2) ที่เหลืออยู่ราว 1 แสนล้านบาทเศษ พรรคร่วมรัฐบาลก็มีความต้องการขอใช้วงเงินเช่นกัน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์
ดังนั้น หากจำเป็นต้องโยกวงเงินจากหมวดฟื้นฟูเศรษฐกิจ (แผนที่ 3) มาจ่ายเยียวยาก็สามารถทำได้ เพราะกฎหมายเปิดทางไว้
อย่างไรก็ตาม การใช้วงเงินที่ชัดเจนจะทราบวันที่ 19 มกราคมนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.เห็นชอบการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา “เราชนะ”

ทั้งนี้ นอกจากมาตรการ “เราชนะ” ที่เป็นการปัดฝุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ในรูปแบบการแจกเงินเยียวยาวผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 แล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการบรรเทาผลกระทบในระยะเร่งด่วน มี 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง บรรเทาภาระหนี้สินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชน
2. มาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้แรงงาน การลดหย่อนเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์ การว่างงาน ฯลฯ
และ 3. มาตรการลดค่าใช้จ่ายประชาชน โดยการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าอินเตอร์เน็ต
ในส่วนที่เป็นมาตรการด้านสินเชื่อนั้น ครม.ได้เห็นชอบให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขยายวงเงินสินเชื่อฉุกเฉิน ที่ให้กู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท โดยให้ยื่นกู้ได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแต่ละแห่ง ยังมีมาตรการพักชำระหนี้ และลดดอกเบี้ยจนถึงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ด้วย
ขณะที่มาตรการ “คนละครึ่ง” ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนเก็บตกสิทธิ์คงเหลือมาจากเฟสแรกและเฟสที่สองรวมกัน 1 ล้านสิทธิ์ วันที่ 20 มกราคมนี้ โดยผู้ที่ลงทะเบียนได้รับสิทธิ์แล้ว จะเริ่มให้ใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมเป็นต้นไป
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบร่วมกันในหลักการที่จะขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ต่อไปอีก 1 ปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2.00% เหลือ 0.01%
ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะเสนอ ครม.ใน 2 สัปดาห์

รอบนี้ รัฐทุ่มสรรพกำลังลงไปเยียวยาผลกระทบ ยอมกลับลำ “แจกเงิน” ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ยืนยันว่าจะไม่แจก
โดยหวังว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลง
แต่หากไม่เป็นไปตามคาด หรือมีการระบาดรอบใหม่ปะทุขึ้นอีก
เป็นไปได้สูงที่รัฐบาลอาจต้องออกกฎหมายพิเศษกู้เงินอุดโควิดเพิ่มอีกครั้งหนึ่ง