ชำแหละเทรนด์ 5 D เปลี่ยนโลก ไทยพร้อมแค่ไหน… เขาว่ารัฐย่ำอยู่กับที่ แก้หนี้ท่วม-ลดเหลื่อมล้ำ/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ โดย นวลนิตย์ บัวด้วง

ชำแหละเทรนด์ 5 D เปลี่ยนโลก
ไทยพร้อมแค่ไหน…
เขาว่ารัฐย่ำอยู่กับที่ แก้หนี้ท่วม-ลดเหลื่อมล้ำ

จากการวิเคราะห์ต่อมุมมองเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง ของสันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท Sea Group บริษัท แม่การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และแอร์เพย์ (AirPay) ซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่และรู้จักกันดีในระดับนานาชาติ
เขาระบุว่า “หากปี 2563 เป็นปีแห่งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจโลก คือ ช่วงที่ทุกประเทศล็อกดาวน์พร้อมๆ กัน ปี 2564 ก็จะเป็นปีของอาฟเตอร์ช็อก ที่มีคลื่นระลอก 2-3 ตามมากระทบเศรษฐกิจจากหลายด้าน แม้อาจจะไม่รุนแรงเท่าปีก่อน แต่มาซ้ำยามที่เราอ่อนแออยู่แล้ว เสมือนตึกที่ร้าวอยู่แล้วจากปี 2563 อีกทั้งโควิด-19 เป็นวิกฤตที่แปลกประหลาดตรงที่มันบังคับให้คนหยุดอยู่กับที่ เดินทางน้อยลง แต่กลับเร่งเมกะเทรนด์แห่งอนาคตหลายอย่างให้มาถึงเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน และจะเปลี่ยนโลกอย่างถาวร”
อีกทั้งยังได้ชี้ให้เห็นถึง 5 เทรนด์สำคัญจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยอย่างมหาศาล ที่ชื่อล้วนขึ้นต้นด้วยตัว “D” ที่จะมาถึงเร็วขึ้น

หนึ่ง Debt หรือภาวะหนี้ท่วม โดยเฉพาะหนี้สาธารณะของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ที่สูงขึ้นมากจากการที่รัฐบาลต้องคอยเยียวยาผู้ถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดสองเตี้ยสองสูง คือ เศรษฐกิจโตได้เตี้ยลง ดอกเบี้ยต่ำยาว พร้อมกับภาระหนี้ที่สูงขึ้นและเงินบาทที่แข็งขึ้นต่อเนื่อง เมื่อหนี้สูง รัฐบาลเศรษฐกิจใหญ่ของโลก เช่น สหรัฐ ต่างต้องกดดอกเบี้ยให้ต่ำยาว ส่งผลให้นักลงทุนต้องวิ่งหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ ผลตอบแทนดีกว่าอย่างตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย ทำให้เงินไหลเข้า ค่าเงินแข็งทั้งๆ ที่เศรษฐกิจยังอ่อนแอ
สอง Divided หรือความเหลื่อมล้ำ ที่ถูกซ้ำเติมจากไวรัสโควิด เพราะการอยู่บ้านหยุดเชื้อไวรัสนั้น กระทบคนสายป่านสั้นอย่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คนที่ไม่มีงานประจำและคนทำงานในภาคบริการ เช่น ค้าขาย มัคคุเทศก์ มากที่สุด ที่สำคัญคือ คนในกลุ่มเปราะบางนี้จำนวนมากไม่มีตาข่ายรองรับเวลาเขาล้ม เพราะไม่ได้อยู่ในประกันสังคม รัฐไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาเช่นเดียวกับที่เราได้เห็นช่วงที่ทำนโยบายเราไม่ทิ้งกัน
สาม Divergence คือ การที่เศรษฐกิจโลกตะวันตกทรุดหนักยาว ส่วนหนึ่งเพราะเอาโควิดไม่อยู่ในขณะที่ในเอเชียเริ่มมีเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว เช่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม ซ้ำเทรนด์เดิมที่แกนเศรษฐกิจโลกเริ่มเอียงมาทางเอเชียมากขึ้น ความสำเร็จของข้อตกลง RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 10 ชาติอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งอาเซียนมีบทบาทผลักดันระเบียบโลกที่เคยนำโดยตะวันตกเริ่มเปลี่ยนไป
สี่ Digitalisation หรือการเข้าสู่โลกดิจิตอลของทั้งคนและธุรกิจ ถูกเร่งขึ้นหลายเท่าในช่วงโควิด ที่ไม่ใช่เพียงทำให้ธุรกิจดิจิตอลหลายประเภทมาแรงเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ วิธีการทำงาน การเรียนรูปแบบการทำธุรกิจอย่างถาวรแบบไม่กลับไปเหมือนเดิม อีกทั้งเปิดโอกาสในการใช้ดิจิตอล และข้อมูล มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ได้
ห้า Degradation หรือความเสื่อมโทรมลงของสิ่งแวดล้อม โควิดอาจไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง แต่มันทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะหมู่นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ เช่น Blackrock หนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำในโลก อาจเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลก จุดประกายให้ประเทศต่างๆ ต้องเอาใจใส่ดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งทิ้งท้าย เทรนด์ 5 D นี้ไม่ใช่เรื่อง “ดี” ภาษาไทยแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายทั้งหมด หลายเทรนด์เป็นทั้งความท้าทายแต่ก็เป็น “โอกาส” ครั้งใหญ่ที่หลายประเทศกำลังเตรียมพร้อมที่จะคว้า ประเทศไทยก็มีโอกาสเช่นกัน
จากภาวะดังกล่าวก็ต้องหันมาสำรวจดูว่า ประเทศไทยอยู่ตรงไหนแล้ว!!

ถึงวันนี้ ไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า เศรษฐกิจอาจจะพึ่งพาเครื่องยนต์เดิมๆ อย่างภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว แม้แต่ภาคลงทุนระยะสั้น คงยากแล้ว
แต่ทุกฝ่ายก็ยังมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 อย่างไรก็เป็นบวก จะมากหรือน้อยกว่า 3-4% จากปีก่อนหน้าที่ติดลบหนักเกือบ 7% ก็มาจากการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเร่งออกมาตรการเยียวยา ช่วยเหลือ กระตุ้นใช้จ่ายหรือบริโภคอย่างไร
ซึ่งไม่แค่ขับเคลื่อนมาตรการหรือโครงการกระตุ้นที่มีความถี่ต่อเนื่องเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่ที่ว่ามาตรการนั้นจูงใจ และได้รับการตอบสนองของประชาชนและธุรกิจด้วย
ที่สำคัญ ไม่ใช่เป็นดั่งคำวิจารณ์ที่หนาหูมากขึ้น ว่าเป็นมาตรการขายผ้าเอาหน้ารอด หรือลอกการบ้านเดิมๆ!!
อย่างอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศโครงการเราชนะ ที่รัฐบาลจ่ายเงินให้ประชาชน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน โดยแตกต่างจากโครงการคนละครึ่ง ที่ไม่ต้องชิงกดมือถือตามกรอบเวลาเพียงโหลดแอพพ์เราชนะ หวังให้คนไทย 40 ล้านคนได้รับสิทธิ์ ซึ่งลุ้นต่อว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 มกราคมนี้จะไฟเขียว!!
ก็ต้องลุ้นต่ออีกว่า เงินก้อนที่จะลงระบบในอีก 1 เดือนข้างหน้าเพียงพอหล่อเลี้ยงกำลังซื้อที่แห้งผาก บนผลของมาตรการล็อกดาวน์และเข้มงวดการเดินทางระหว่างพื้นที่ จนลดการหมุนเวียนของเงินเหลือ 1-2 รอบแทนที่จะเป็น 3-4 รอบอย่างในอดีต
พร้อมกับลุ้นต่อว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรกับปัญหาหนี้ท่วมและเหลื่อมล้ำห่างขึ้น

สะท้อนจากผลสำรวจล่าสุดของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า คนไทย 90.7% ในกลุ่มสำรวจ ระบุว่ามีหนี้สิน มีเพียง 9.3% ระบุไม่มีหนี้ ที่น่าตกใจคือมูลหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนสูงถึงครัวเรือนละ 483,950 บาท เพิ่มขึ้น 42.3% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เทียบจากปี 2562 ที่มีมูลหนี้ 340,053 บาท ทุกคนระบุเหตุมาจากค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ประชาชนขาดรายได้จากการให้ออกจากงาน และมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ต้องพึ่งบัตรเครดิตในการผ่อนสินค้าและใช้จ่าย จนต้องแบกภาระผ่อนชำระ เฉลี่ยต่อคนเดือนละ 11,799 บาท และครัวเรือนแบกหนี้เกือบ 5 แสนบาทถือว่าเป็นตัวเลขมากสุดในรอบ 12 ปี
ในภาคธุรกิจช้ำไม่แตกต่างกัน กว่าครึ่งเจอปัญหาขาดสภาพคล่อง ที่อยู่ได้ปีก่อนเพราะมีเงินสะสม และไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ทั้งๆ ที่รัฐประกาศว่ามีซอฟต์โลน 4 แสนล้านบาทช่วยเหลือ แต่ถึงวันนี้ตกถึงท้องธุรกิจไม่ถึง 1 ใน 4 ทั้งๆ ที่การระบาดของโควิด-19 รอบแรกในปีก่อน ภาคเอกชนทั้งกลุ่มผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ส่งออก ไม่นับรวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมูลค่าหลายแสนล้านบาท ทยอยเจ๊งไปมากแล้ว ร้องมาตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ขอให้รัฐเร่งออกมาตรการพยุงธุรกิจโดยเร็วโดยด่วน!!
นี้แค่ยกตัวอย่าง 2 D ใน 5 D เรายังลุ่มๆ ดอนๆ