คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย (3) : วัฒนธรรมรำเต้นขับร้อง ‘ภชัน’ และ ‘กีรตัน’

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สิ่งที่ขาดหายไปในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของไทย (3)
: วัฒนธรรมรำเต้นขับร้อง ‘ภชัน’ และ ‘กีรตัน’

การขาดหายไปของเรื่องราวและชีวิตนักบุญในวัฒนธรรมพราหมณ์สยามนั้น เท่ากับว่ามิติด้านความ “โรแมนติก” ของศาสนาฮินดูก็ได้ลดน้อยลงไปมากด้วย

ถึงแม้จะยังหลงเหลือร่องรอยบทกวีที่นักบุญบางท่านได้แต่งไว้ปรากฏในพิธีกรรมของเราบ้าง แต่เราก็นำมาใช้ขับเน้นความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าที่จะเน้นตัวอารมณ์ความรู้สึกอื่นๆ เช่น ความรักหรือความภักดีตามเจตนารมณ์เดิมของบทกวีเหล่านั้น

มิติด้านอารมณ์ความรู้สึกในพิธีกรรมของบ้านเราจึงมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นแกนหลัก จะด้วยเหตุผลใดผมก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้บ้างแล้ว

ที่จริงในอินเดีย ความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ก็ยังเป็นอารมณ์ที่สำคัญมากต่อศาสนาฮินดู (ที่จริงก็ทุกศาสนา) ซึ่งถูกสร้างขึ้นได้ด้วยพิธีกรรมที่ซับซ้อน การออกแบบเทวาลัยตามขนบ หรือการออกแบบสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ

เทวาลัยใหม่ๆ บางแห่งเข้าใจเรื่องนี้ดี ท่านจึงอาศัยความรู้อย่างเก่ามาออกแบบเทวาลัยใหม่ เช่น มีช่องทางเดินที่ยาวพอที่จะทำให้คนภาวนาเตรียมใจก่อนจะไปถึงเทวรูปประธาน มีดนตรีคลอๆ ไประหว่างเดินอยู่ในนั้น มีการจัดเรื่องแสงให้พอเหมาะพอดี เป็นต้น

ความศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องมือที่สำคัญมากนะครับ เพราะเป็นตัวค้ำยันอะไรต่อมิอะไรต่างๆ อีก เช่น อำนาจของนักบวช อำนาจของสถาบันจารีตที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ทั้งยังทำให้ชาวบ้านอุดหนุนศาสนาด้วย

กระนั้น ศาสนาฮินดูในอินเดียมีประวัติศาสตร์ของการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงกับความเชื่ออื่น

ลำพังความศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียวไม่พอสำหรับการค้ำยันศาสนาไว้

ศาสนาต้องการอะไรที่มากกว่านั้นเพื่อให้ยังคงจับใจชาวบ้าน

อีกทั้งเมื่อศาสนากลายเป็นของคนธรรมดา อำนาจของสถาบันจารีตและนักบวชถูกท้าทาย อารมณ์ศักดิ์สิทธิ์จึงมิใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกต่อไป

ความรู้สึกรัก ภักดี ซาบซึ้งใจ อบอุ่น ร่าเริงเบิกบาน เศร้าสร้อย โหยไห้ ฯลฯ มิติทางอารมณ์เหล่านี้ค่อยๆ มีความสำคัญมากขึ้นและตัวมันเองก็ได้เพิ่มความสำคัญให้กับศาสนาไปด้วย ทำให้การปฏิบัติทางศาสนามีความลึกซึ้งและสัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์มากขึ้น

อันที่จริงการเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้คือเส้นทางหลักของการปฏิบัติทางศาสนานั่นเอง

ศาสนาฮินดูโดยเฉพาะในสายภักติ จึงมิได้ปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก แต่กลับใช้อารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติทางศาสนาเข้าถึงสภาวะต่างๆ ที่สูงไปกว่าตัวเอง

ยิ่งอารมณ์ความรู้สึกมีความเข้มข้นและละเอียดอ่อนมากขึ้นเท่าใด ผู้ปฏิบัติก็หลงลืมหรือหลุดพ้นจากตัวเองได้มากเท่านั้น

สภาวะแห่งการหลงลืมตนเองชั่วขณะ เปิดโอกาสให้ได้พบสภาวะใหม่ ที่อาจถูกนิยามได้ว่าเป็นสภาวะที่จิตวิญญาณได้พบกับ “พระเป็นเจ้า”

แต่กว่าจะไปถึงสภาวะนั้นได้ อารมณ์จะต้องถูกขัดเกลาให้ละเอียดอ่อนมากขึ้นเรื่อยๆ

อารมณ์โดยตัวมันเองจึงมิใช่สิ่งน่ารังเกียจในทางศาสนา ดังเช่นที่เรามักถูกสอนกันให้ละทิ้งอารมณ์ต่างๆ ฉะนั้น เครื่องมือเพื่อสร้างอารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายเช่นดนตรี การขับเพลงและการเต้นรำจึงเป็นส่วนสำคัญในศาสนาฮินดู

รากฐานของดนตรีในศาสนาฮินดูที่จริงย้อนไปได้ถึงสมัยพระเวท โดยเฉพาะในสามเวทซึ่งมีระบบขับร้องโน้ตเจ็ดตัว บรรดาพราหมณ์ต้องขับสามเวทเพื่อสรรเสริญพระอินทร์และเทพเจ้าในพิธีถวายน้ำโสม และจากพระเวทนี่เอง ดนตรีในศาสนาได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นตามลำดับ

ครั้นถึงสมัยขบวนการภักติในภาคใต้ของอินเดีย การขับร้องสรรเสริญที่มิใช่การสวดในพิธีกรรมก็ได้เริ่มต้นขึ้น แทนที่จะใช้ภาษาสันสกฤตตามขนบก็เปลี่ยนมาใช้ภาษาท้องถิ่นและใช้ดนตรีประกอบ ส่วนบทร้องนั้นก็ประพันธ์ขึ้นใหม่

ส่วนมากคือบทกวีของนักบุญทั้งหลาย

การขับร้องนี้มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ คือ “ภชนมฺ” (bhajanam) และ “กีรตนมฺ” (kirtanam) เป็นคำสันสกฤต มักเรียกตามระบบออกเสียงภาษาฮินดีว่าภชันและกีรตัน มีความหมายโดยกว้างๆ ว่า การสรรเสริญ การรับใช้ การบูชา การบอกเล่า หรือการยกย่อง

ภชันต่างกับกีรตันอยู่บ้างตรงที่ภชันนั้นเรียบง่ายกว่า จะขับร้องคนเดียวโดยมีดนตรีหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่กีรตันมักมีรูปแบบทางดนตรีกำกับอยู่ เช่น เล่นประกอบดนตรีแบบใดบ้าง โครงสร้างของเพลงเป็นอย่างไร กระนั้นก็มักเรียกปนๆ กัน

นอกจากนี้ กีรตันยังมีลักษณะของการเล่าเรื่องราว ตำนานของเทพเจ้าหรือลีลาอันน่าอัศจรรย์ของเทพด้วย เปรียบเทียบง่ายๆ คือแบบเดียวกับเทศน์ทรงเครื่องที่เล่าชาดกแบบมีดนตรีและผู้เทศน์ก็แหล่หรือร้องเพลงประกอบ

บางครั้งก็มีการจับเรื่อง อาจมีการเต้นรำเป็นวงกลมล้อมรอบเทวรูป ดวงประทีปหรือคุรุ เพื่อเข้าถึงเหตุการณ์ที่เหล่านางโคปีพากันเต้นรอบๆ พระกฤษณะ

บางครั้งก็มีการเล่นตีไม้กันเป็นวงกลมด้วยเรียกว่าการเล่นฑัณฑรส ซึ่งผมคิดว่าเป็นต้นแบบกุลาตีไม้ของเรา

กีรตันและภชันแพร่หลายมากในกลุ่มผู้นับถือพระวิษณุ (ไวษณพนิกาย) พอราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสามก็เกิด “นามสังกีรตัน” คือเน้นการขับร้องสรรเสริญ “พระนาม” ของพระเป็นเจ้าเป็นหลัก เพราะง่ายและเชื่อว่าเป็นหนทางสู่ความหลุดพ้น

ครั้นถึงคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่ อันนามาจารย์คีตกวีชาวเตลูคูได้เป็นผู้วางรากฐานสังกีรตันในภาคใต้ของอินเดีย โดยใช้ภาษาเตลูคูและสันสกฤต พอถึงคริสต์ศตวรรษที่สิบหกไจตันยะมหาปรภู ผู้เผยแพร่การนับถือพระกฤษณะในแคว้นพังคละหรือเบงกอล ก็ทำให้การขับร้องกีรตันแพร่หลายออกไปอีกมาก

ส่วนในภาคเหนือและภาคตะวันตก บรรดานักบุญ เช่น กพีระ มีราพาอี ตุการาม ชญาเนศวร ฯลฯ ได้ทำให้วัฒนธรรมขับร้อง “อภังคะ” ซึ่งคือบทกวีสำหรับสังกีรตันแพร่หลายไปสู่ทุกผู้คน

วัฒนธรรมขับร้องนี้ยังมีอิทธิพลต่อศาสนาไชนะ ศาสนาสิกข์ และศาสนาอิสลามในอินเดียด้วย

อาจกล่าวได้ว่า การขับร้องเพลงทางศาสนาได้กลายเป็นกิจกรรมหลักของการชุมนุม (สัตสังฆ์) ในเทวสถานหรือเทพมณเฑียร นอกเหนือไปจากการประกอบพิธีกรรม

หากท่านไปเทวสถานของชาวอินเดียในกรุงเทพฯ เช่น เทพมณเฑียรหรือวัดวิษณุ ก็จะพบว่าทุกวันอาทิตย์เขาก็จะมีการเทศน์สอนและมีดนตรีภชันอยู่ตลอด

ลองสังเกตดูเถิดครับ เมื่อดนตรีอันไพเราะและบทร้องทางศาสนาดังขึ้น จะมีคุณลุงคุณป้าหลายท่านนั่งน้ำตาคลอพร้อมกับปรบมือและฮัมเพลงไปด้วย

ปัจจุบันนอกจากบทกวีของนักบุญแล้ว บอลลีวู้ดก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบทขับร้องภชันใหม่ๆ ขึ้นมา บทร้องทางศาสนาจึงยังคงถูกสร้างมาจากนักแต่งเพลง นักสร้างภาพยนตร์ และอุตสาหกรรมดนตรี

ที่จริงมีคนไทยพยายามจะสร้างวัฒนธรรม “ภชัน” ขึ้นมาเลียนแบบอินเดียนะครับ แต่เขาดันไปเรียกว่า “โซฮา” แล้วมีการผสมผสานกัน ทั้งเนื้อเพลงที่พยายามจะร้องอย่างภาษาแขกกับเนื้อไทย ยังมีเพลงสวดจีน เพลงปี่พาทย์หรือหมอลำพิณแคน ฯลฯ เพื่อจะบริการได้ครบวงจร ทุกสายญาณว่างั้น

คณะโซฮาเหล่านี้มีรายได้หลักจากการบรรเลงในงานของตำหนักทรงเจ้า คือเจ้าทรงเขาก็ต้องการบรรยากาศ เน้นให้ได้เต้นได้แสดงอิทธิฤทธิ์

ฉะนั้น คุณค่าในแง่อารมณ์ความรู้สึกในทางภักติจึงไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญไปกว่าความศักดิ์สิทธิ์ตามแบบไทยๆ อยู่ดี

ส่วนพราหมณ์สยาม ที่จริงจะบอกว่าท่านไม่มีวัฒนธรรมดนตรีก็เป็นการเกินเลยไป พิธีกรรมพราหมณ์สยามก็มีดนตรีปี่พาทย์เครื่องประโคม ทั้งยังมีการ “ขับไม้” ในพระราชพิธี เพียงแต่ “ภชัน” และ “สังกีรตัน” ตามแบบฮินดูนั้นหายไปแล้ว หรือถูกเอาออกไปตอนไหนผมก็ไม่ทราบ

วัฒนธรรมขับร้องทางศาสนาสำคัญเพียงใดในวิถีชีวิตคนฮินดู มีโศลกหนึ่งที่ผมจำได้จากคัมภีร์สันสกฤตตามความเชื่อเขา เล่าถึงพระวิษณุตรัสกับพระฤๅษีนารทถึงความสำคัญของการร้องเพลงสรรเสริญว่า
“นารทเอ๋ย เราจักไม่อยู่ทั้งในไวกุณฑโลก หรือแม้แต่ในดวงใจแห่งโยคี แต่ที่ใดที่สาวกขับร้องสรรเสริญ

เราย่อมสถิต ณ ที่นั้น!”