ต่างประเทศ : วัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก คืบหน้าถึงไหน ใครได้ฉีดแล้วบ้าง

ความพยายามของมนุษยชาติที่จะยุติวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่คร่าชีวิตคนไปแล้วกว่า 1.8 ล้านคนทั่วโลกยังคงเดินหน้าไปไม่หยุดยั้ง

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เป็นเหมือนกับ “กระสุนเงิน” ที่ช่วยให้มนุษย์ก้าวผ่านสถานการณ์แพร่ระบาดครั้งนี้ไปได้ ถูกพัฒนาขึ้นและผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขในหลายๆ ประเทศ และถูกฉีดให้กับประชากรโลกไปบ้างแล้ว

ล่าสุดมีวัคซีนจำนวน 13 ล้านโดสใน 33 ประเทศได้ถูกฉีดให้กับประชากรโลกไปแล้ว

An illustration picture shows vials with Covid-19 Vaccine stickers attached and syringes with the logo of US pharmaceutical company Pfizer and German partner BioNTech, on November 17, 2020. (Photo by JUSTIN TALLIS / AFP)

ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุดมีการฉีดไปแล้วเกือบ 5 ล้านโดส มีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว 1.4 เปอร์เซ็นต์

สหรัฐใช้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท “ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค” และวัคซีนของ “โมเดอร์นา” วัคซีน 2 ชนิดที่ต้องฉีดกระตุ้นภูมิจำนวน 2 เข็มด้วยกัน โดยวางแผนที่จะกระจายฉีดวัคซีนให้ได้ 20 ล้านโดสภายในต้นเดือนมกราคมนี้

เวลานี้วัคซีนของ “ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค” ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ 95 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการรับรองให้ใช้ได้ในภูมิภาค “อเมริกาเหนือ”, “ยุโรป” และ “ตะวันออกกลาง” แล้ว

ส่วนวัคซีนของ “แอสตร้าเซเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด” ได้รับการรับรองจากรัฐบาล “อังกฤษ” เมื่อวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วน “จีน” ก็รับรองการฉีดวัคซีนของบริษัท “ซิโนฟาร์ม” บริษัทยาในท้องถิ่นให้ฉีดกับประชาชนทั่วไปได้แล้วเช่นกัน

โดยมีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้คน 50 ล้านคนภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์

จีนและรัสเซีย เป็นสองประเทศที่มีการอนุมัติให้ฉีดวัคซีนเป็นประเทศแรกๆ ของโลกในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา ในช่วงระหว่างที่มีการทดลองเชิงคลินิก อย่างไรก็ตาม สองประเทศนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศเท่าใดนัก

An illustration picture shows vials with Covid-19 Vaccine stickers attached and syringes with the logo of US pharmaceutical company Pfizer and German partner BioNTech, on November 17, 2020. (Photo by JUSTIN TALLIS / AFP)

ล่าสุดจากการเก็บข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก พบว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนให้พลเมืองมากที่สุดที่เกือบ 5 ล้านโดส ตามมาด้วยจีนที่ 4.5 ล้านโดส สัดส่วนประชากร 0.32 เปอร์เซ็นต์

ส่วนประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดในโลกคือ อิสราเอลที่ 1.22 ล้านโดส ฉีดให้ประชากรไปแล้วถึง 13.52 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ “บาห์เรน” ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 61,612 โดส คิดเป็นสัดส่วนประชากร 4.15 เปอร์เซ็นต์

นอกจากวัคซีนของ “ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค”, “โมเดอร์นา” ของสหรัฐแล้ว “แอสตร้าเซเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด” ของอังกฤษที่เป็นวัคซีนที่สามารถคาดหวังถึงประสิทธิภาพได้เนื่องจากผ่านการทดลองเชิงคลินิกกับประชากรระดับ 30,000 คนขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว ยังมีวัคซีนที่มีแนวโน้มประสิทธิภาพและความปลอดภัยอีกหลายชนิด

เช่น วัคซีนของบริษัท “โนวาแวกซ์” ของสหรัฐที่อยู่ระหว่างการทดลองเชิงคลินิกเฟสที่ 3 กับประชากร 45,000 คนเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยเช่นเดียวกับวัคซีนของ “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน”

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนของจีนที่ผ่านการอนุมัติแล้วอย่างวัคซีนบริษัท “ซิโนฟาร์ม” ที่มีประสิทธิภาพระดับ 79 เปอร์เซ็นต์ และยังมีวัคซีนที่อยู่ในขั้นการทดลองในเฟสที่ 3 อย่างวัคซีนของบริษัท “แคนซิโน ไบโอโลจิกส์” รวมถึงวัคซีนของ “ซิโนแวกซ์ ไบโอเทค” ที่มีรายงานว่าอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันผลการทดลองที่ชัดเจนนัก

ด้านรัสเซียเองมีวัคซีนที่ผ่านการทดลองเฟสที่ 3 และได้รับการอนุมัติแล้วอย่างวัคซีนของบริษัท “กามาเลยา” ที่ผลิตวัคซีน “สปุตนิก วี” สำหรับฉีดในประเทศแล้วด้วยเช่นกัน

 

ปัจจุบันด้วยความต้องการวัคซีนมีจำนวนมากทำให้หลายประเทศทำสัญญาล่วงหน้ากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างๆ เพื่อจองวัคซีนสำหรับฉีดให้ประชากรในประเทศของตนเองก่อน นั่นส่งผลให้มีวัคซีนจำนวน 8,250 ล้านโดสถูกทำสัญญาจองซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว

หากวัคซีนจำนวนนี้ถูกกระจายไปสู่ทุกประเทศทั่วโลกอย่างเท่าเทียมจะสามารถฉีดวัคซีนให้มนุษยชาติได้ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่มีวันเป็นจริง

หนึ่ง เพราะการทำสัญญาจองซื้อวัคซีนของประเทศร่ำรวยที่บางครั้งมากเกินจำนวนประชากร เช่น แคนาดา ที่ทำสัญญาวัคซีนเอาไว้เป็นจำนวนมากกว่าประชากรในประเทศถึง 300 เปอร์เซ็นต์

และสอง เพราะวัคซีนบางชนิดมีข้อจำกัดด้านการจัดเก็บและขนส่ง ที่บางชนิดต้องใช้อุณหภูมิติดลบถึง 70 องศาเซลเซียส เป็นต้น

“บริษัทแอสตร้าเซเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด” เป็นผู้ได้รับสัญญาจองซื้อวัคซีนโควิด-19 มากที่สุด โดยวัคซีนที่ถูกจองไว้สามารถฉีดให้ประชากรมากถึง 1,460 ล้านคนจากสัญญาซื้อวัคซีนมากถึง 90 ข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม มีโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเท่าเทียม โดยมีเป้าหมายส่งมอบวัคซีน 2 พันล้านโดสให้ประเทศสมาชิกที่ร่วมโครงการภายในสิ้นปี 2021

โดยวัคซีนทั้งหมดจะต้องผ่านการจดทะเบียนรับรองหรือผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นจากองค์การอนามัยโลกแล้วเท่านั้น

 

สําหรับประเทศไทยเองกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยว่า มีการวางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้คนไทยไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร หรือไม่ต่ำกว่า 70 ล้านโดส

ล่าสุดมีการเจรจาทำสัญญากับ “บริษัทแอสตร้าเซเนก้า” ของอังกฤษเพื่อนำเข้าเทคโนโลยี และนำมาผลิตในไทยจำนวน 26 ล้านโดส เริ่มต้นฉีดให้คนไทยได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ และยังมีการเจรจาทำสัญญาวัคซีนกับโครงการ “โคแวกซ์” สำหรับวัคซีนอีก 20 เปอร์เซ็นต์

ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นการทำข้อตกลงกับบริษัทอื่นๆ ที่มีโอกาสพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ โดยล่าสุด บริษัทซิโนแวกซ์ ไบโอเทค ของจีนจะส่งวัคซีนจำนวน 200,000 โดสเข้ามาในไทยปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นล็อตแรก และจะส่งเข้ามาอีก 2 ล็อตภายในเดือนเมษายน รวม 1.8 ล้านโดส

ขณะที่บริษัทไทยอย่าง “สยามไบโอไซเอนซ์” กำลังรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า เพื่อนำมาผลิตในประเทศไทย เพื่อที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนที่มีกำลังผลิตได้เดือนละ 15 ถึง 20 ล้านโดส หรือราวปีละ 200 ล้านโดสอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คงจะพอบอกได้ว่าวัคซีนโควิด-19 นั้นกำลังเข้าถึงประชากรโลกอย่างช้าๆ เพื่อนำโลกเข้าสู่ภาวะปกติได้ในวันใดวันหนึ่งแน่นอน