2021 กับวิธีเรียนที่จะเปลี่ยนไป / Cool Tech – จิตต์สุภา ฉิน(ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Girl in blue jeans and black sneakers writing lecture in big textbook, sitting on the floor with college friends. Young man typing message on phone while other students working with laptops.

Cool Tech
จิตต์สุภา ฉิน
@Sue_Ching
Facebook.com/JitsupaChin

2021 กับวิธีเรียนที่จะเปลี่ยนไป

2020 ที่ผ่านมาเป็นปีที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้คุ้นเคยกับอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน
ไม่เคยสั่งข้าวมากินที่บ้านก็ต้องสั่ง
ไม่เคยประชุมผ่านจอในห้องนั่งเล่นตัวเองก็ต้องประชุม
ไม่เคยเรียน ส่งงาน หรือสอบออนไลน์ ก็ต้องผ่านกันมาแล้วทั้งหมด
ดังนั้น ก็ไม่น่าจะผิดคาดอะไรที่ปี 2020 จะกลายเป็นปีที่สร้างมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของอะไรหลายๆ อย่างใหม่ รวมถึงการเรียนรู้ออนไลน์ด้วย
โรงเรียนหลายแห่งทั่วโลกย้ายการเรียนการสอนไปอยู่บนออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์และต้องเจออุปสรรคหลายอย่าง แต่แม้จะล้มลุกคลุกคลานแค่ไหน ทั้งครู ผู้ปกครอง และเด็ก ก็ต้องปรับตัวกันไป
เพราะในวันที่สถานการณ์พลิกผันและทุกอย่างแย่ลง การเรียนออนไลน์ก็อาจจะเป็นเพียงวิธีเดียวที่เหลืออยู่ก็ได้
ผลการสำรวจล่าสุดในฝรั่งเศสแสดงให้เห็นว่า 69% ของนักเรียนที่ร่วมตอบแบบสอบถามได้เคยเรียนหรือนัดคุยกันผ่านการประชุมวิดีโอออนไลน์มาแล้ว
แต่มีเพียงแค่ 39% เท่านั้นที่รู้สึกพึงพอใจกับทรัพยากรการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีอยู่
ส่วนในสหรัฐ นักเรียนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมก็รู้สึกแฮปปี้กับการเรียนออนไลน์ว่าได้รับการสนับสนุนที่ดี
แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าการเรียนทางไกลไม่ได้ช่วยให้เรียนรู้ได้ละเอียดถี่ถ้วนขนาดนั้น
ดังนั้น ปี 2021 จึงจะเป็นปีที่ครูต้องปรับรูปแบบการสอนออนไลน์ใหม่ทั้งหมด เรียนสู้ออฟไลน์ไม่ได้ แต่ถ้าจำเป็นก็จะต้องทำให้ใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด ครูจะดึงทุกมัลติมีเดียทั้งหมดที่มีมาใช้ ทั้งภาพนิ่ง เสียง และวิดีโอ อะไรก็ได้ที่ช่วยให้การเรียนออนไลน์ดีขึ้นได้
แล้วแพลตฟอร์มอะไรบ้างที่จะกลายเป็นเทรนด์ที่ครูและนักเรียนจะวิ่งเข้าหามากขึ้นยิ่งกว่าเดิมในปีนี้

แพลตฟอร์มที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากอยู่แล้ว อย่าง YouTube หรือ NetFlix จะยิ่งทวีความสำคัญและมีบทบาทเป็นอย่างมากในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กและวัยรุ่น
อันที่จริง เด็กๆ ก็ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ในการดูรายการที่เป็นบันเทิงเชิงสาระกันอย่างคล่องแคล่วอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน
แต่ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ครูก็จะหันมาใช้เพิ่มขึ้นด้วยเหมือนกัน
ข้อมูลที่น่าสนใจจากการศึกษาของ Pearson คือเด็กๆ ในยุคเจเนอเรชั่น Z จะชอบวิธีการเรียนรู้แบบรวดเร็วและเด็กๆ กลุ่มนี้จะไม่ลังเลเลยที่จะนั่งดูคอนเทนต์การเรียนรู้ออนไลน์แบบรวดเดียวเยอะๆ
มากกว่าครึ่งของเด็กๆ ที่เข้าร่วมการสำรวจบอกว่าชอบใช้ YouTube เป็นเครื่องมือในการเรียน ในขณะที่อีก 55% บอกว่า YouTube มีส่วนช่วยในการได้รับการศึกษาของพวกเขา
ในระหว่างการล็อกดาวน์ วิดีโอได้กลายเป็นเครื่องมือการสอนที่ช่วยชีวิตครูเอาไว้ได้ เพราะการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แรกๆ ค่อนข้างวุ่นวายโกลาหล ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะจับนักเรียนทุกคนมานั่งอยู่หน้าจอและเรียนไปพร้อมๆ กัน
ดังนั้น การส่งคลิปวิดีโอบทเรียนให้เด็กๆ ไปดูบน YouTube หรือ Dailymotion จึงช่วยทำให้การเรียนออนไลน์มีความสนุกและท้าทายมากขึ้น
ปีนี้ครูจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมว่าจะใช้วิดีโอเหล่านี้ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กให้ดีขึ้นได้อย่างไร
อย่างเช่น ครูจะต้องอธิบายวัตถุประสงค์ของสิ่งที่ส่งให้เด็กได้ดูก่อนล่วงหน้า และจะต้องหาวิธีที่จะวัดผลลัพธ์ที่ได้และเสียงตอบรับหลังการเรียนด้วย
ซึ่งทั้งหมดก็จะมาจากการได้ลองผิดลองถูกมาโดยตลอด จนกลายเป็นโมเดลการเรียนรู้แบบใหม่ในปี 2021

อีกหนึ่งอย่างที่จะถูกหยิบมาใช้ในการสอนหนังสือมากขึ้นก็คือเกม เกมได้ถูกพิสูจน์มาแล้วหลายต่อหลายครั้งว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น นับตั้งแต่ช่วงปี 2010 เป็นต้นมานักวิจัยก็ยกย่องประโยชน์ของการเรียนรู้ผ่านเกมมาโดยตลอด
โรงเรียนในบางประเทศผนวกเอาวิดีโอเกมเข้ามารวมอยู่ในหลักสูตรเลย อย่างเช่นเกม Minecraft ซึ่งเป็นเกมที่ใช้ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ การวางผังเมือง ไปจนถึงภาษาต่างประเทศ และนี่ก็เป็นหนึ่งในเกมที่เด็กไทยชื่นชอบมากเหมือนกัน
น่าเสียดายที่โรงเรียนจำนวนไม่น้อยปฏิเสธวิดีโอเกมด้วยเหตุผลว่ากลัวเด็กเล่นแล้วจะติด จะนิยมความรุนแรง หรือจะทำให้เด็กมองจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป ซึ่งหากได้รับการจัดการที่ดี วิดีโอเกมจะช่วยเพิ่มทักษะและพัฒนาการทั้งทางด้านอารมณ์และการเข้าสังคมของเด็กๆ ได้ดี
วิดีโอเกมช่วยให้ครูสามารถสอนหัวข้อยากๆ ที่มีความซับซ้อนให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือการศึกษาของ University of Udine ที่ใช้แอพพลิเคชั่นมือถือสอนให้เด็กเข้าใจมาตรการความปลอดภัยเมื่อเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน พบว่าเมื่อเก็บข้อมูลจากการเล่นเกมมาแล้วพบว่าเด็กๆ สามารถคาดประเมินได้ดีขึ้นว่าอะไรคือภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุรูปแบบต่างๆ และจะต้องตัดสินใจอย่างไรจึงจะสามารถเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัยที่สุด
วิธีการสอนที่นักวิจัยใช้ในการศึกษานี้คือการให้เด็กได้ลองผิดลองถูกและมีปฏิสัมพันธ์ไปกับทุกๆ การตัดสินใจของตัวเอง เพื่อให้เด็กได้เห็นว่าถ้าหากทำผิดพลาดไปจะเกิดผลกระทบแบบไหนขึ้นบ้าง หรือก็คือการสร้างสถานการณ์สมมติขึ้นนั่นเอง
นักวิจัยบอกว่าเด็กๆ อยากรู้ว่าเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นพวกเขาจะนำทักษะที่เรียนรู้มาใช้งานจริงได้อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อสอบไม่ว่าจะเป็นข้อเขียนหรือตัวเลือกไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ แต่การเรียนรู้ผ่านเกมสามารถทำได้
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ เราจึงน่าจะได้เห็นเกมถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือในการสอนเด็กกันมากขึ้น

ทว่า เทรนด์การเรียนรู้ที่ทันสมัยขึ้นก็ต้องมาพร้อมกับความเสี่ยงในตัวของมันด้วยเหมือนกัน เพราะปัญหาที่จะตามมาในปีนี้ก็คือการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว เพราะเด็กต้องไปอยู่บนพื้นที่ออนไลน์กันมากขึ้น แต่ด้วยวัยที่ยังมีประสบการณ์ไม่เยอะ ก็จะทำให้เด็กๆ ไม่รู้วิธีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตัวเองให้ปลอดภัย จึงต้องเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องช่วยระมัดระวังให้เป็นพิเศษ และปกป้องทั้งข้อมูลของตัวเองและข้อมูลของเด็กนักเรียนในความรับผิดชอบให้ดีที่สุด
ทิ้งท้ายด้วยการเรียนนอกห้องเรียน ปี 2020 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ทำให้เรามองโลกใบนี้แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง และเป็นปีที่ทำให้เทรนด์ถือกำเนิดขึ้นใหม่ในทุกวงการ ทุกอย่างเปลี่ยนผัน ทุกคนต้องปรับตัว
จึงถือเป็นปีที่เราทุกคนได้ทั้ง “เรียน” และได้ทั้ง “สอบ” นอกห้องเรียนพร้อมๆ กันถ้วนหน้า