อนุช อาภาภิรม / นิเวศวิทยาที่ยั่งยืนกับขบวนการสิ่งแวดล้อม (ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

จอห์น มูเยอร์ (John Muir 1838-1914)

วิกฤติศตวรรษที่ 21607
อนุช อาภาภิรม

วิกฤตินิเวศ
เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (7)

นิเวศวิทยาที่ยั่งยืนกับขบวนการสิ่งแวดล้อม

 

ขบวนการโดยทั่วไปประกอบด้วยสี่ส่วนคือ

ก) องค์กรหรือสถาบันจำนวนหนึ่งเป็นการรวมตัวของบุคคลและกลุ่มบุคคล เกิดพฤติกรรมที่ต่างกับของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยลำพัง
ข) บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีสถานะและบทบาทต่างกันในขบวนการบางคนเป็นผู้นำส่วนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานอีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนทั้งสองส่วนแรกอาจเรียกรวมกันว่าเป็นผู้กระทำ
ค) การจัดกิจกรรม การแสดงหรืออีเวนต์ต่างๆ ที่สะท้อนวิสัยทัศน์ จุดประสงค์ นโยบายและยุทธศาสตร์ขององค์กรและกลุ่มบุคคลเป็นเครื่องมือในการก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ
ง) ผลสะท้อนกลับที่มีต่อองค์กรและบุคคลในขบวนการ และในชุมชนสังคมที่มีการเคลื่อนไหว มีทั้งด้านบวกและด้านลบ
ขบวนการสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่เริ่มมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สะท้อนถึงความคงทน ความสำคัญจำเป็นของขบวนและมีการยกระดับเป้าหมายและคุณภาพการต่อสู้ขึ้นด้วย
การเคลื่อนไหวของขบวนการสิ่งแวดล้อมอาจแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเชื่อมโยงกับบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้ง 4 ที่มีการใช้แหล่งพลังงานต่างกัน ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ ข้อตกลงปารีสระดับโลก (ลงนามและบังคับใช้ 2016) ก็มีเป้าหมายจะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และมีเป้าหมายความพยายามทำให้อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงไม่เกิน 1.5 องศาเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรมเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับตัวอย่าง จะยกกรณีในสหรัฐและองค์การสหประชาชาติที่เป็นผู้แสดงสำคัญ อนึ่ง ตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 จีนมีบทบาทในด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด แต่ข่าวสารถูกครอบงำโดยภาครัฐ จึงกล่าวถึงได้อย่างจำกัด
ในฉบับนี้จะกล่าวถึงช่วงต้นน้ำก่อน

ขบวนการสิ่งแวดล้อมช่วงต้นน้ำ เป็นการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย วางรากฐานการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมในบริบททางอุตสาหกรรม อยู่ในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง ซึ่งบางคนเห็นว่าการปฏิวัติสองครั้งแรกนี้ เป็นการปฏิวัติที่ทรงพลัง มีผลต่อการสร้างอารยธรรมใหม่และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งหลาย
การปฏิวัติอุตสาหกรรมหลังจากนั้น ไม่ได้ก่อผลดีเท่า เกิดผลเสียสูงขึ้น สร้างความเปราะบาง หรือผลตอบแทนตกอยู่ในชนชั้นสูงกลุ่มน้อยเป็นสำคัญ เป็นไปตามกฎผลตอบแทนลดถอย (Diminishing returns)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่หนึ่ง เกิดในช่วง ค.ศ.1765-1825 มีปรากฏการณ์เด่นคือ การใช้เครื่องจักรไอน้ำ ทดแทนแรงงานคนและแรงงานสัตว์ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินแทนท่อนฟืน ทำให้การผลิตและการขนส่งทำได้เป็นปริมาณมาก ปลดแรงงานที่ติดที่ดินหรือสังกัดมูลนาย กลายเป็นแรงงานเสรี เกิดการขยายตัวของเมืองและการศึกษา ขับเคลื่อนให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ สร้างจิตใจแห่งความก้าวหน้า ในช่วงนี้ได้มีการพูดจากันกว้างขวางในวงวิชาการถึงผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง นิยมถือกันว่าเกิดระหว่างปี 1870-1914 ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บางแห่งขยายเวลาออกไประหว่างปี 1850-1970 โดยเห็นว่าตั้งแต่ปี 1850 ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแล้ว และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามไม่ได้เกิดจริงจังจนกระทั่งทศวรรษ 1970 (กว่าอินเตอร์เน็ตจะใช้กันกว้างขวางจริงจังก็ย่างเข้าปี 1991 ที่มีการใช้เทคโนโลยี เวิลด์ไวด์เว็บ)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองนี้ ประกอบด้วยการใช้วัสดุใหม่ ที่สำคัญคือเหล็กกล้าและเคมีภัณฑ์ การใช้แหล่งพลังงานใหม่คือน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และยังมีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานใหม่ เกิดหลอดไฟ โทรเลข วิทยุ วิทยุโทรเลข โทรศัพท์ มีการใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในใช้น้ำมันทั่วไปและเครื่องยนต์ดีเซล
ด้านการขนส่ง มีรถยนต์ รถไฟ เรือกลไฟ เรือเดินสมุทร อุตสาหกรรมเบ่งบาน เช่น การเกษตรและการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องใช้ในบ้านสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุข
ผลกระทบต่อสังคมที่สำคัญได้แก่ การเป็นเมืองทันสมัย ครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว การงานเป็นเชิงอุตสาหกรรม ไม่เป็นแบบฤดูกาลเหมือนยุคการเกษตร ขับเคลื่อนให้เร็วขึ้นโดยเครื่องจักร สตรีเริ่มออกมาทำงานนอกบ้าน
ในท่ามกลางความเจริญอยู่ดีของผู้คนดังกล่าว ได้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการใช้ทรัพยากรมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สัตว์ป่า พรรณพืช หน้าดิน ไปจนถึงมลพิษในน้ำและอากาศ การใช้สารเคมีในการเกษตร มีการเสนอปัญหาประชากรล้นโลก ก๊าซเรือนกระจกและความหมดไปของแหล่งพลังงาน เกิดเป็นขบวนการสิ่งแวดล้อมที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
กดดันให้ภาครัฐบาลต้องปรับตัวออกกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลด้านนี้ขึ้นจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมใหม่ได้แก่ สหรัฐใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในปี 1945 ซึ่งเห็นได้ว่าอาวุธนี้อาจทำลายโลกได้ เกิดขบวนการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ขึ้น มีบุคคล องค์กร
และเหตุการณ์ที่จะกล่าวถึงในช่วงต้นน้ำนี้ ได้แก่

1.จอห์น มูเยอร์ (John Muir 1838-1914) ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งอุทยานแห่งชาติ”
เขาเกิดในสกอตแลนด์ อพยพมาอยู่สหรัฐเมื่ออายุได้ 11 ปี เป็นนักธรรมชาติวิทยา นักเขียน นักปรัชญาสิ่งแวดล้อม นักพฤกษศาสตร์ นักสัตววิทยา การอนุรักษ์ชีวิตในธรรมชาติ มีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างอุทยานแห่งชาติโยเซมิตี (1890)ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และอุทยานแห่งชาติอื่น
เขาได้เขียนบทความชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงแกะและวัวมีส่วนสำคัญในการทำลายทุ่งหญ้า และป่าเขา
ในปี 1902 เขาก่อตั้งสโมสรเซียรา ซึ่งยังเคลื่อนไหวจนถึงขณะนี้ แต่นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มเห็นว่า สโมสรนี้ใกล้ชิดกับรัฐบาลและบรรษัทมากไป
มูเยอร์เป็นข่าวใหญ่เมื่อเขาและประธานาธิบดี ทีโอดอร์ โรสเวลต์ (ดำรงตำแหน่ง 1901-1909) ตั้งแคมป์พักแรมในปี 1903 เป็นเวลาสามคืนที่อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี
กล่าวกันว่า เมื่อโรสเวลต์กลับไปทำงานที่ทำเนียบขาว เขามีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นในการอนุรักษ์ผืนป่าและชีวิตในธรรมชาติ ขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาตินี้ออกไป (ดูบทความของ Ellen Terrell ชื่อ Roosevelt, Muir and the camping trip ใน blogs.loc.gov 11/04/2016)
คำกล่าวที่เป็นที่จดจำของมูเยอร์คือ “จงปีนขึ้นขุนเขาและรับสัมผัสที่ดีของมัน ความสงบของธรรมชาติจะอาบตัวคุณ เหมือนแสงตะวันอาบหมู่ไม้”

2.จอร์จ เบิร์ด กรินเนลล์ (1849-1939)
นักมานุษยวิทยา นักธรรมชาติวิทยา และนักเขียน มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อการคุ้มครองนก โดยตั้งสมาคมโอดูบองแห่งนิวยอร์กในปี 1886
ต่อมาขยายมาเป็นสมาคมโอดูบองแห่งชาติ ในปี 1905 เพื่อเป็นเกียรติแก่จอห์น เจมส์ อูโดบอน (1785-1851) ศิลปินวาดภาพนกในสหรัฐ
เขาเห็นว่าการคุ้มครองสัตว์ป่าต้องคุ้มครองถิ่นที่อยู่ของมัน
กรินเนลล์ได้รับแรงบันดาลใจจากโอดูบองในด้านความมีจิตใจมุ่งมั่น อีกด้านหนึ่งเกิดจากความวิตกจากการที่นกในอเมริกาถูกล่าอย่างหนัก เพื่อป้อนตลาดเนื้อนก และอีกส่วนหนึ่งเพื่อใช้ขนเป็นเครื่องประดับ
กรณีล่านกเป็นอาหารที่โดดเด่นคือการสังหารหมู่ฝูงนกพิราบเดินทาง ซึ่งมีอยู่มากมายนับพันล้านตัว และอยู่ร่วมกับชนพื้นเมืองอเมริกากว่าหนึ่งหมื่นปี
มีการศึกษาพบว่าการใช้ที่ดินและการล่านกเป็นอาหารของชนพื้นเมือง มีส่วนช่วยรักษากระทั่งเพิ่มจำนวนขึ้น
ประมาณกันว่าเมื่อชาวตะวันตกเข้าไปตั้งอาณานิคมในอเมริกาเหนือ มีนกพิราบนักเดินทางราว 3 ถึง 5 พันล้านตัว คิดเป็นร้อยละ 25 ถึง 40 ของประชากรนกในอเมริกาเหนือ
นกพิราบป่านี้ชอบอพยพ จึงได้ชื่อว่านกพิราบนักเดินทางที่บินข้ามฟ้าเป็นฝูงใหญ่แบบมืดฟ้ามัวดิน
ผู้คนเริ่มล่านกพิราบนักเดินทางนี้เป็นการใหญ่ ตั้งแต่ปี 1777 การล่าทวีความเข้มข้นขึ้นในทศวรรษ 1850
ประมาณว่าในปี 1878 ในพื้นที่หนึ่งคณะล่านก สังหารนกถึง 50,000 ตัวในวันเดียว นานเป็นเวลา 5 เดือน จำนวนนกพิราบมหาศาลลดลงเหลือศูนย์ในเวลาเพียง 50 ปี
นกพิราบนักเดินทางตัวสุดท้ายเสียชีวิตในสวนสัตว์ ปี 1914

3.ปรากฏการณ์ชามฝุ่น (Dust bowl 1930-1940) คำนี้ประดิษฐ์ในปี 1935 โดยนักข่าวเอพีคนหนึ่ง อธิบายปรากฏการณ์พายุฝุ่นรุนแรงในความแห้งแล้งของที่ราบใหญ่ทางตอนใต้ของสหรัฐ
พายุฝุ่นพัดกระหน่ำตั้งแต่รัฐเท็กซัส ไปจนถึงเนบราสกา
มีเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องเกษตรกรไม่สนใจเรื่องอนุรักษ์ดินอย่างเดียว
สาเหตุอาจสรุปได้ว่า เกิดจากราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ ราคาเครื่องจักรกลการเกษตรพุ่งสูง
ชาวนาขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังที่ไม่เหมาะ ละเลยหลักการอนุรักษ์ดิน ดินเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (เริ่ม 1929) ความแห้งแล้ง และพายุฝุ่น ส่งผลให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่อันเนื่องจากภัยธรรมชาติสมัยใหม่
ทางภาครัฐบาลได้ออกกฎหมายหน้าดินปี 1935 ชี้ว่า “การสูญเสียทรัพยากรหน้าดินและความชื้นในพื้นที่การเกษตร ฟาร์มเลี้ยงสัตว์และในป่า…เป็นการคุกคามต่อความอยู่ดีของชาติ”
ตั้งสำนักงานอนุรักษ์ดินขึ้นในกระทรวงเกษตร (ต่อมาขยายเป็นสำนักงานอนุรักษ์ทรัพยากรในปี 1994)
สังเกตกันว่านโยบายนิวดีลของประธานาธิบดีแฟรงกลิน โรสเวลต์ (ปี 1933) ถือเอางานอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นงานสำคัญ

4.ขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ เป็นขบวนการสิ่งแวดล้อมใหญ่ เริ่มเมื่อมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกที่ญี่ปุ่น 1945 ผู้บุกเบิกการต่อสู้ได้แก่ “กระดานข่าวนักวิทยาศาสตร์ปรมาณู” รวมกลุ่มกันต่อต้านการทดลองนิวเคลียร์
สมาชิกผู้เขียนในกระดานข่าวนี้ส่วนหนึ่งร่วมในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ
องค์กรนี้สร้างนาฬิกาวันหายนะโลกในปี 1947 สมมุติเวลาเที่ยงคืนเป็นวันโลกาวินาศ มีการปรับเข็มนาฬิกาเป็นครั้งคราว คิดหน่วยเป็นนาที เช่น เหลืออีกสองนาทีจะถึงเที่ยงคืน
ต่อมาองค์กรนี้ได้ปรับภัยที่จะก่อให้เกิดความหายนะโลกเป็นสองประการ
นอกจากภัยสงครามนิวเคลียร์แล้ว ได้แก่ ภัยภาวะโลกร้อน
การปรับเวลาครั้งสุดท้ายในปี 2020 ใช้หน่วยเป็นวินาที เหลือเวลาอีก 100 วินาทีจะถึงเที่ยงคืน
แสดงถึงความเฉียดฉิวต่อการเกิดภัยล้างโลกมากขึ้น
โดยให้เหตุผลใหญ่สามข้อได้แก่
ก) การถอนตัวจากการควบคุมอาวุธ (ของสหรัฐ)
ข) การตอบสนองอย่างไม่เพียงพอต่อภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ค) การเพิ่มขึ้นของภัยคุกคามจากสงครามข่าวสาร รวมทั้งเทคโนโลยีที่พลิกโลก ได้แก่ เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม และปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น ซึ่งจะทำลายความมั่นคงและความเหนียวแน่นทางสังคม
(ดูเอกสารชื่อ Closer than ever: It’s 100 seconds to midnight บรรณาธิการโดย John Mecklin ใน thebulletin.org 23/01/2020)

5.กลุ่มกรีนพีซ (สันติภาพสีเขียว) ก่อตั้งปี 1971 เริ่มต้นจากการต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ตั้งแต่ปี 1969 มีวิธีการต่อสู้หลายรูปแบบ
แต่ที่ทำให้องค์กรนี้เป็นที่จดจำอยู่ที่การใช้ปฏิบัติการเผชิญหน้า สมาชิกของกลุ่มผู้ปฏิบัติการต้องเสี่ยงชีวิต และการถูกจับกุมคุมขัง เกิดเป็นข่าวใหญ่ ส่งผลสะเทือนสูง
ในปัจจุบันกิจกรรมของกลุ่มที่มีสาขาทั่วโลก ได้รณรงค์ในประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างค่อนข้างครอบคลุม
นอกจากการต่อต้านนิวเคลียร์แล้ว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า การจับปลามากเกินไป โดยเฉพาะการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ การดัดแปรพันธุกรรม เป็นต้น
การปฏิบัติเผชิญหน้านี้ได้เป็นต้นแบบสำหรับการเคลื่อนไหวในช่วงปลายน้ำ
เพียงแต่ในช่วงหลังนี้มีลักษณะมวลชนที่ตื่นตัวแล้วมากขึ้น

6.เหตุการณ์สำคัญบางประการ ในทศวรรษ 1970 มีเหตุการณ์ใหญ่ที่ปลุกและสะท้อนจิตสำนึกสิ่งแวดล้อมในหมู่สาธารณชนหลายประการ ได้แก่
ก) การจัดงานวันโลกครั้งแรก กระตุ้นความต้องการที่จะรักษาโลกใบนี้ไว้
ข) การเผยแพร่เอกสารที่เตือนให้เห็นในความจำกัดของความเติบโต
ค) วิกฤติน้ำมัน ที่ก่อกระแสการผลิตน้ำมันถึงขีดสูงสุดและการแสวงหาแหล่งพลังทดแทน
ง) การรณรงค์เพื่อให้ชีวิตกลับไปสู่พื้นฐาน การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ รัฐบาลสหรัฐสั่งเลิกการใช้ดีดีที
จ) บริษัทผลิตรถยนต์ในสหรัฐ เช่น เจเนอรัลมอเตอร์สตอบสนองแรงกดดัน ผลิตรถยนต์ที่ปลอดมลพิษยิ่งขึ้น
ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงนิเวศวิทยาที่ยั่งยืนช่วงกลางน้ำและปลายน้ำ