เศรษฐกิจ / เปิดแนวคิด ‘อธิบดีอุตุฯ’ ป้ายแดง รมว.ดีอีเอสคัดเอง… ส่งตรงจากกระทรวงอุตฯ ยกระดับพยากรณ์…ไม่ใช่แค่ลมฟ้าอากาศ?

เศรษฐกิจ

 

เปิดแนวคิด ‘อธิบดีอุตุฯ’ ป้ายแดง

รมว.ดีอีเอสคัดเอง…

ส่งตรงจากกระทรวงอุตฯ

ยกระดับพยากรณ์…ไม่ใช่แค่ลมฟ้าอากาศ?

 

ไม่ว่าจะพยากรณ์อากาศได้แม่นยำดังตาเห็นหรือไม่ แต่ ‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่หัวกระไดไม่เคยแห้ง มีเจ้าสำนักมากหน้าหลายตาแวะเวียนมานำทัพอยู่ตลอดๆ

ล่าสุด ได้แต่งตั้งนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม

ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แทน น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาคนก่อนที่เกษียณอายุราชการ

ซึ่งถือเป็นการปาดหน้าคนในวงการที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะได้กลับมาผงาดอีกครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้น งานนี้มีพรายกระซิบว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส 1 ใน 3 รัฐมนตรี ที่มีผลงานเด่นเข้าตาประชาชน จากผลสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เป็นเถ้าแก่ทาบทามให้เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว

และเพื่อไม่ให้เคลือบแคลงสงสัยถึงการข้ามห้วย หนอง คลอง บึง มารับตำแหน่งครั้งนี้

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเปิดใจกับ “มติชนสุดสัปดาห์” ยืนยันว่า ไม่ได้มาจากสายทหาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอสมีวิสัยทัศน์ต้องการคนเข้ามาทำงานจริงๆ

 

หากศึกษาประวัติการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยาจะพบว่าเป็นหน่วยงานที่มีความเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เดิมอยู่ในการดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่งบังเอิญว่าคุณตาของอธิบดีกรมอุตุฯ ใหม่ป้ายแดง เคยเป็นเจ้ากรมอุทกศาสตร์นานถึง 8 ปี ก่อนที่จะแยกหน่วยออกมา

อธิบดีณัฐพลกล่าวติดตลกว่า ที่ผ่านมามักมีการพูดกันว่า เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศอย่างไร ให้แทงว่าสภาพอากาศจะออกไปในทางตรงข้ามเสมอ

ถ้าพยากรณ์อากาศว่า วันนี้ฝนตก ก็ให้แทงว่าวันนี้ฝนไม่ตก เป็นต้น ซึ่งการเป็นแบบนี้บ่อยๆ ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ฉะนั้น สิ่งที่จะดำเนินการจากนี้

ประกอบด้วย

 

1.ทำให้การพยากรณ์อากาศมีความแม่นยำมากขึ้น

ซึ่งหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยานอกจากจะติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์ พยากรณ์แล้ว ในพันธกิจที่สร้างขึ้นต้องมีการพยากรณ์อากาศอย่างถูกต้อง

แต่ถูกต้องอย่างเดียวคงไม่พอ จะต้องมีความแม่นยำมากขึ้นด้วย

วันนี้ที่บอกว่ามีฝนร้อยละ 30% ต้องสามารถบอกได้ว่า ตกที่ไหน ตกเมื่อไร ตกเวลาไหน

ที่ผ่านมาทำไมเราไม่สามารถพยากรณ์อากาศได้เหมือนประเทศอื่น

ทำไมไม่สามารถตั้งเป้าให้กับประชาชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

 

2.เครื่องมือและอุปกรณ์

ซึ่งเบื้องต้นตอนนี้เครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างเป็นเครื่องมือที่โบราณ ทั้งเครื่องตรวจวัดน้ำฝน เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ

ซึ่งจากสถานีอุตุนิยมวิทยา 125 สถานี ยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อไปดูค่าปริมาณน้ำฝนในแต่ละจุด

ถามว่า ทำไมจะต้องลงพื้นที่เพื่อไปอ่านค่าวันละ 3 รอบ ไม่สมเหตุสมผล ทำไมต้องให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อไปดูค่า ทำอย่างไรที่จะให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องลงไปดู แต่สามารถอ่านค่าได้บ่อยขึ้น ซึ่งเนื่องจากเป็นเทอร์โมมิเตอร์ที่ต้องอ่านด้วยตาคนเท่านั้น

ดังนั้น สามารถเปลี่ยนเป็นกล้องวงจรปิดแทนได้หรือไม่ ให้เจ้าหน้าที่นั่งประจำการอยู่ที่กรม แต่สามารถจดค่าผ่านกล้องวงจรปิด ขณะเดียวกัน ก็สามารถเพิ่มความถี่ได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อไปดูค่า

“ในฐานะที่เป็นคนนอกมองเข้าไป พบว่ามีหลายเรื่องที่น่าจะทำในรูปแบบอื่นได้ เข้าใจคนที่เป็นช่างเทคนิค คนที่มีหน้าที่ในกรมอยู่กับที่มาเป็นเวลานาน มีความคุ้นเคยกับรูปแบบวัฒนธรรมที่ถูกสอนมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกที่ เหมือนจากที่ก่อนหน้านี้ทำงานในสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นเวลานาน 10 กว่าปี ปัญหาก็จะวนอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเดิมๆ แต่พอถอยออกมา เราก็จะพบมุมมองที่แตกต่าง ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะนำมุมมองที่แตกต่างใส่เข้าไป แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้ดีกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่ บางทีเครื่องไม้เครื่องมือซื้อมาเป็นจำนวนมาก บางตัวเกิดล้าสมัย จำเป็นจะต้องตั้งงบประมาณใหม่ เพื่อให้เกิดการพัฒนายิ่งขึ้น ซึ่งก็มีการตั้งงบประมาณ สำหรับอุปกรณ์เครื่องมือในการวัดค่าน้ำฝน วัดความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งต้องค่อยๆ เปลี่ยนตามงบประมาณที่ได้รับ แต่หากไม่ได้รับ ก็ต้องกลับมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานภายใต้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องใช้เทคนิคต่างๆ ที่เราคิดว่าพอจะให้คำแนะนำได้”

นายณัฐพลกล่าว

 

3.นอกจากการพยากรณ์อากาศให้แม่นยำแล้ว ต้องไปต่อว่า การพยากรณ์นั้นมีคนนำไปใช้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

ไม่ใช่แค่พยากรณ์อากาศว่า ฝนจะตกหนักบริเวณ 12 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พายุระดับ 2 ระดับ 3 จะเข้า

แต่สิ่งที่ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยากทราบคือ น้ำจะท่วมหรือไม่ แล้วใครจะเป็นคนดูแลเรื่องนี้

“ปัจจุบันไม่มีใครบอกว่า หน้าที่การเตือนภัยเป็นของใคร เพราะบางคนบอกว่าเป็นหน้าที่ของกรมชลประทาน แต่หากมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะสามารถบอกแบบนั้นได้ ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย อยากแจ้ง หรือกรมชลประทานอยากแจ้งก็ไม่เป็นไร แต่กรมอุตุนิยมวิทยายินดีจะเป็นคนป้อนข้อมูลให้ เชื่อว่าเครื่องไม้เครื่องมือมีศักยภาพ เพราะว่าเรื่องเหล่านี้จะช่วยป้องกันการเกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้กับพี่น้องประชาชนได้”

นายณัฐพลกล่าว

 

4.การนำการพยากรณ์อากาศไปใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงด้านการท่องเที่ยว โดยใช้บิ๊กดาต้าจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ ให้สามารถบอกหรือแจ้งเตือนเกษตรกรได้ล่วงหน้าว่า ปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมาก หรือปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะน้อย มีโมเดลอะไรที่เราสามารถพัฒนาขึ้นมา ซึ่งแม้จะไม่แม่นยำ 100% เนื่องจากสภาวะอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลง แต่หากมีข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่าปริมาณน้ำฝนปีนี้จะเยอะ เกษตรกรจะสามารถวางแผนได้ว่า จะเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่างไร ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อเตรียมการวางแผนในการเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะนำร่อง 5 โครงการหลวง จากทั้งหมด 39 โครงการ ในการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ วัดความชื้นสัมพัทธ์ โดยเป็นการขอจัดสรรงบประมาณปี 2565 เพื่อซื้ออุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน สร้างโปรแกรมในการวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพของข้อมูล ซึ่งหากทำได้จะเห็นการพัฒนาที่เชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร ให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิต การขนส่งสินค้าเกษตร รวมถึงวางแผนรับมือกับโรคระบาดในพืชต่อไป

อย่างไรเสีย สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่สู้มือคลำ ดังนั้น จากนี้ต้องจับตาว่า ใต้ปีกอธิบดีคนใหม่ จะไฉไลกว่าเดิม สามารถเคาะสนิมกรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานเก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี ตอบโจทย์คนไทย ที่กลัวที่สุด

   คือ “น้ำรอระบาย” วันไหน…ที่ไหน