บทความพิเศษ/ “เนติวิทย์” ก้าวหน้าหรือ “ก้าวร้าว”

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

“เนติวิทย์” ก้าวหน้าหรือ “ก้าวร้าว”

กรณีนายเนติวิทย์ นิสิตจุฬาฯ ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ประกาศจะเปลี่ยนวิธีถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า (ร.5) บริเวณลานพระราชวังดุสิตซึ่งกระทำกันทุกปี โดยระบุว่าจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ไม่อยากกราบ ใช้วิธียืนถวายความเคารพแทนได้ นั้นกลายเป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าล้ำเส้น “เกินไป” แล้ว

นายเนติวิทย์อ้างว่าต้องการเปลี่ยนวิธีถวายความเคารพ เพราะต้องการทำตามพระราชประสงค์ ร.5 ที่ไม่อยากให้มีการหมอบกราบ ซึ่งฟังแล้วก็ดูดี แต่เนื่องจาก “พฤติกรรมสะสม” ที่ผ่านมาของนายเนติวิทย์หลายครั้ง ทำให้สังคมไม่เชื่อและเริ่มสงสัยว่านายเนติวิทย์แค่อยากเปลี่ยนวิธีถวายบังคม

หรือว่าจะไต่ระดับขึ้นไปอยู่ในระนาบเดียวกับ อั้ม เนโกะ, ตั้ง อาชีวะ, หรือโกตี๋

เริ่มจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีงานปั่นเพื่อพ่อ หรือ Bike for Dad นายเนติวิทย์ใส่ “เสื้อแดง” (นอกเหนือจากใส่แว่นแดงอยู่แล้ว) ไปยืนอยู่ท่ามกลางประชาชนที่ใส่เสื้อเหลืองอร่ามเต็มถนนแล้วก็ถ่ายภาพตัวเองโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แล้วก็อ้างแบบยียวนว่าที่ใส่เสื้อแดงเพราะเสื้อสีอื่นซักหมด

ซึ่งใครจะไปเชื่อว่านายเนติวิทย์ไม่มีเจตนาแอบแฝง

พอมาถึงเดือนกรกฎาคม 2559 เมื่อเข้าเป็นนิสิตใหม่จุฬาฯ เนติวิทย์ได้จงใจป่วนพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล (ร.5 และ ร.6) ภายในจุฬาฯ โดยได้ลุกขึ้นยืนไม่ยอมถวายบังคม ขณะที่นิสิตใหม่คนอื่นๆ กำลังถวายบังคม

ซึ่งหลายคนตำหนิว่าหากไม่ต้องการแสดงความเคารพก็ควรจะเดินออกไปก่อนพิธีจะเริ่ม แต่การทำเช่นนี้ถือว่าจงใจท้าทาย กวนประสาทคนอื่น

ก่อนหน้านี้ เนติวิทย์เคยใช้คำว่า “ทำตัวเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน” สำหรับคนไทยที่ยังมีการหมอบกราบ เท่านั้นยังไม่พอ เนติวิทย์ยังลามปามดูถูกคนที่ยังทำพิธีบูชาเสด็จพ่อ ร.5 ว่าไร้สาระ (มีคนไทยจำนวนมากที่นิยมบูชาท่าน)

เหตุการณ์ในเดือนกรกฎาคม 2559 ยังไม่เท่าไหร่ เพราะถือว่ายังอยู่ในรั้วของจุฬาฯ แต่เมื่อนายเนติวิทย์ประกาศจะเปลี่ยนวิธีถวายความเคารพพระบรมรูปทรงม้าที่ลานพระราชวังดุสิต ประกอบกับการพูดจาเหยียดหยามผู้ที่ทำพิธีบูชาเสด็จพ่อ ร.5 ว่าไร้สาระ จึงถือว่าครั้งนี้เนติวิทย์ได้ล่วงล้ำ รุกราน ละเมิด ความเชื่อศรัทธาของคนอื่นที่อยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย เพราะ ร.5 นั้นเป็นที่เคารพของคนทั้งแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของนายเนติวิทย์และคนบางกลุ่มในจุฬาฯ

นายเนติวิทย์อ้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การใช้เสรีภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพผู้อื่น ต้องใช้อย่างรับผิดชอบและระมัดระวัง โดยเฉพาะในเรื่องที่ละเอียดอ่อน

เสรีภาพนั้นยิ่งใช้มาก ก็ยิ่งรุกราน ละเมิดและทำร้ายเสรีภาพของคนอื่นมากเช่นกัน เหมือนกับเรายื่นเท้าไปถีบคนอื่น คนอื่นก็จะถีบเรากลับหลายเท่า

การชอบอ้างเสรีภาพพร่ำเพรื่อ เป็นความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำตามใจตัวเอง ไม่ยอมร่วมมืออะไรในสังคมหรือในการอยู่ร่วมกับคนอื่นทั้งนั้น

พฤติกรรมครั้งล่าสุดของนายเนติวิทย์ ในลักษณะที่ดูถูกเหยียดหยามความเชื่อและศรัทธาของคนอื่น ได้สร้างความไม่พอใจ จนเกิดเหตุการณ์ที่มีวัยรุ่น 2 คนขี่จักรยานยนต์เข้าไปในจุฬาฯ ถามหานายเนติวิทย์

นายเนติวิทย์ไปแจ้งความตำรวจว่าถูกคุกคามจากการแสดงความเห็นต่าง เนติวิทย์พูดอย่างดูดีว่า ตัวเองนั้นไม่มีอาวุธอะไรไปต่อสู้ มีเพียงความคิดเป็นอาวุธ พร้อมกับขอให้อย่าใช้ความรุนแรง (กำลัง) กับตน

เนติวิทย์พูดตามสูตรสำเร็จของ “แฟชั่นทางวิชาการ” เป๊ะๆ โดยคิดว่า “ความรุนแรง” เป็นเรื่องทางกายภาพเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง “คำพูด” ที่ดูถูกเหยียดหยามคนอื่น ก็เป็นความรุนแรงได้เช่นกัน และอาจทำร้ายคนได้มากกว่าความรุนแรงทางกายภาพ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคำพูดที่ว่า “ฆ่าได้ หยามไม่ได้”

ดังนั้น ก็น่าตั้งคำถามว่าคนที่ใช้คำพูดหรือพฤติกรรมดูถูกความเชื่อของคนอื่นอย่างเนติวิทย์ควรมีความผิดด้วยหรือไม่ ควรเอากฎหมายข้อไหนมาดำเนินคดี

อันที่จริงนายเนติวิทย์ได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะหลายครั้งซึ่งออกไปในแนวทางต่อต้านวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ความเป็นชาติ ฯลฯ

เรียกได้ว่าต่อต้านเกือบทุกอย่างที่เป็นของเดิมหรือสิ่งที่ปฏิบัติกันมา

เป็นที่เข้าใจได้ว่าเด็กวัยเดียวกับเนติวิทย์ซึ่งเกิดในยุคนี้ที่เรียกว่ายุคมิลเลนเนียล มักจะคิดว่าการทำตัวกบฏ ทำอะไรสวนทาง หักหน้าคนอื่นเป็นเรื่องเจ๋ง เท่ เหนือกว่าคนอื่น เด็กวัยเนติวิทย์จะรู้สึกพึงพอใจ สะใจ เมื่อได้ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับคนอื่น เช่น คนอื่นบอกว่าอันนี้ดี อันนี้อร่อย เด็กแบบเนติวิทย์จะต้องพูดว่า “ไม่ดี ไม่อร่อย”

เด็กแบบนี้มักจะมาจากครอบครัวที่ขาดความรัก ความอบอุ่น จึงมีแนวโน้มเป็นคนก้าวร้าว ต่อต้านสังคมสุดขั้ว ไม่พึงพอใจสังคมรอบข้าง หากไม่ปรับตัวก็มีแนวโน้มจะขาดความสุขไปตลอดชีวิต เนื่องจากเขาจะเสียเวลาทั้งชีวิตไปกับการต่อต้านทุกสิ่งอย่าง ทำตาขวางใส่โลกตลอดเวลา

เด็กแบบเนติวิทย์ คือลักษณะของคำโบราณว่า รวงข้าวอ่อนจะชูช่อชี้ขึ้นฟ้า เพราะข้างในยังลีบเบา ไม่มีเนื้อข้าว ต่อเมื่อรวงข้าวแก่พร้อมเก็บเกี่ยวนั่นแหละจึงจะโน้มลงดิน เด็กวัยนี้มักทะนงตน อหังการหลงคิดว่าตัวเองนั้นเจนจบรอบรู้ทุกอย่าง ดีกว่า เหนือกว่าคนรุ่นก่อนตัวเอง

เนติวิทย์ยังไม่เข้าใจว่าสังคมและประเทศมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน สังคมไม่ได้อยู่กันด้วยกฎหมายอย่างเดียว แต่อยู่ด้วยวัฒนธรรม ขนบประเพณี มารยาทสังคม ซึ่งเป็นเช่นนี้ทุกประเทศในโลก แม้แต่ประเทศที่มีความเจริญทางวัตถุกว่าใครก็ยังมีประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่หลายอย่างที่ปฏิบัติสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้ และไม่เห็นว่าประเพณีนั้นจะไปถ่วงความเจริญตรงไหน

การจะแสดงตัว อวดตัวว่าเป็นคนหัวก้าวหน้า ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง รื้อทิ้ง ของเก่าไปทั้งหมด อันไหนสามารถปล่อยไว้ในสถานะเดิมได้ก็เว้นๆ ไปเสียบ้าง สะพานที่เราใช้ข้ามแม่น้ำมาแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำลายทิ้ง

ไม่เสียหายอะไรถ้าเราจะรู้จักแสดงความขอบคุณคนรุ่นก่อนที่เขาเหนื่อยยากสร้างชาติให้เราอยู่มาทุกวันนี้ เพราะการรู้จักขอบคุณคืออารยธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์

เนติวิทย์และพวกควรมองไปรอบตัวว่าประเทศไทยตอนนี้ มีอะไรบ้างที่เนติวิทย์ได้สร้าง ได้ทำขึ้นมามากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ที่ยังเต็มใจจะถวายบังคม ถ้าไม่มั่นใจว่าได้สร้างคุณูปการอะไรต่อประเทศมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า ก็อย่าหลงเหลิงตัวเองเผลอคิดไปว่าประเทศไทยตอนนี้ควรเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่อย่างเนติวิทย์เท่านั้น

เด็กคนนี้บอกว่าการหมอบกราบ กราบไหว้ เป็นเครื่องหมายแสดงถึงความไม่เท่าเทียม เพราะมนุษย์ควรสามารถยืนตัวตรงได้ นี่ก็คือวิธีคิดผิวเผินแบบเด็กๆ คิดว่าการยืนตัวตรงจับมือทักทายกันแบบฝรั่งแสดงถึงความเท่าเทียม ทั้งที่ว่าไปแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับประกันความเท่าเทียม มันเป็นเพียงวิธีแสดงออกของคนในสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น

ของฝรั่งนั้นเวลาทักทายหรือแสดงความขอบคุณใคร ก็ใช้แค่วิธีจับมือ หรือพูดว่าขอบคุณ ส่วนของไทยการทักทาย การแสดงความขอบคุณ-เคารพมีหลายแบบ ถ้าเป็นคนที่เราเคารพปกติ เป็นคนที่เราต้องทักทายตามมารยาทสังคม เราก็แค่ยกมือไหว้ แต่ถ้าเป็นคนที่เราเคารพสูงสุด ซาบซึ้งในบุญคุณมาก เราก็ใช้วิธีกราบเท้า เช่น กราบเท้าพ่อแม่

การแสดงความนอบน้อม เคารพผู้อื่น ไม่ได้หมายถึงว่าเราด้อยกว่า หรือขาดความคิดเป็นของตัวเอง แต่ตรงข้ามมันหมายถึงการให้เกียรติคนอื่น หมายถึงเรามีความกล้าหาญในการกำจัดอัตตาอันโป่งพองของตัวเอง

ดังนั้น การจับมือแบบฝรั่งหรือการกราบแบบไทย (โค้งแบบญี่ปุ่น-เกาหลี) จึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมโดยเนื้อแท้ ความเท่าเทียมเนื้อแท้ต้องมาจากโครงสร้าง เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจที่จะทำให้ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำมากเกินไป การให้โอกาสทุกคนเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล เป็นต้น

ประเทศฝรั่งอย่างอเมริกา ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำสูงโดยเฉพาะโอกาสทางเศรษฐกิจที่มีคนเพียง 1% อยู่บนยอดสุดของรายได้ ทั้งที่ยืนตัวตรงเช็กแฮนด์และมีเลือกตั้งมาโดยตลอด

การเป็นคนหัวก้าวหน้าไม่จำเป็นต้องต่อต้านนั่นนี่ไปหมด คนหัวก้าวหน้าของแท้นั้นเขาจะเคารพคนอื่น ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่หลงตัวเอง