ผลกระทบโควิด-19 / ระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่ง่ายเหมือนเดิม

สถานการณ์ที่ท้าทาย

ที่สุดสถานการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้น การกลับมาระบาดของ “โควิด-19”

ครั้งก่อนที่ลามจากสนามมวยที่ของทหารที่ถนนรามอินทรา เพราะความละเลยของผู้บริหารสถานที่ไม่ควบคุมตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ

และร้านเหล้าย่านทองหล่อ ที่ปล่อยให้เมากันจนเป็นเหตุขาดความระมัดระวัง

มาครั้งนี้ลามมาจาก “เมียนมา” ประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดการระบาดอย่างหนักมาระยะหนึ่งแล้ว

มีเสียงเตือนจากผู้รู้ที่หวังดีว่าให้ประเทศไทยเราระวัง เนื่องจากมีชายแดนที่เชื่อมต่อกันระยะทางยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้

โอกาสที่จะเล็ดลอดเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติมีมาก

แต่เสียงเตือนนั้นดูจะไม่มีความหมาย

ครั้งแรกที่เจอเชื้อโควิดจากกลุ่มหญิงสาวชาวไทยที่ไปใช้ชีวิตในบ่อนชายแดนท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เจ้าหน้าที่ปล่อยกลับเข้าประเทศโดยไม่มีการกักตัวตามระเบียบควบคุมการระบาด

หญิงสาวกลุ่มนี้กลับมาแล้วไปเข้าร่วมกิจกรรมบันเทิงในพื้นที่ภาคเหนือจนเป็นเหตุให้เกิดการระบาดไปในหลายจุด

ที่หนักกว่านั้นเกิดการระบาดซ้ำครั้งใหญ่ที่ตลาดอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าส่ง

ติดมาจากแรงงานชาวเมียนมาที่เข้าไปซื้อของในตลาด และกระจายเชื้อสู่พ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อของไปขายในหลายจังหวัด

คราวนี้ตรวจพบการติดเชื้อรวดเดียว 6-7 ร้อยคน คราวเดียวมากกว่าที่สะสมมาตั้งแต่ครั้งแรกทั้งหมด

แต่หากถามว่าประชาชนเกิดความตื่นตัวมากแค่ไหน

“กรุงเทพโพล” น่าจะให้คำตอบได้

การสำรวจเรื่อง “ความกังวลใจของคนไทยต่อสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ลักลอบเข้าประเทศ” จาก 10 คะแนน ความกังวลใจเฉลี่ยอยู่ที่ 7.48 คะแนน

สิ่งที่อยากเห็นจากภาครัฐที่ให้ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ร้อยละ 85.9 ให้เข้มงวดเรื่องตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะตะเข็บชายแดน และช่องทางธรรมชาติ

ร้อยละ 74.5 ให้ลงโทษเด็ดขาดกับผู้ฝ่าฝืนมาตรการป้องกัน

ร้อยละ 68.3 ให้กลับมาเข้มงวดการสวมหน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างทางสังคม

ร้อยละ 64.8 รณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ ถึงโทษการหลบหนีเข้าเมืองและผู้ที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

ร้อยละ 59.7 รายงานความคืบหน้าการตรวจเชื้อผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยและกลุ่มเฝ้าระวังให้ประชาชนรับทราบ

ร้อยละ 53.4 ให้สาธารณสุขลงพื้นที่พ่นยาฆ่าเชื้อตามสถานที่ต่างๆ เพื่อการันตีความปลอดภัย

การเผชิญกับโควิด-19 ครั้งนี้ต่างจากครั้งที่แล้ว คือ ประชาชนเริ่มคุ้นชิน และการไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากครั้งที่แล้วทำให้ความตื่นตัวน้อยกว่า และท่าทีของรัฐบาลดูจะไม่เร่งร้อนการประกาศมาตรการเด็ดขาดเหมือนช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ย่อมแตกต่าง

ครั้งแรกนั้นรัฐบาลมีความพร้อมมากกว่าที่จะออกมาตรการช่วยเหลือ แม้จะต้องใช้เงินกู้มหาศาล แต่ฐานะการคลังยังมีความสามารถที่จะกู้ได้

ครั้งนี้ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น

ระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากครั้งแรก เมื่อต้องรับภาระอีกครั้งเป็นเรื่องไม่ง่ายเหมือนเดิม

ที่รัฐบาลต้องเตรียมรับมือคือ การจัดการกับปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้สร้างความสามารถให้กับกิจการธุรกิจให้แข็งแรงพอที่จะรับภาระจากผลกระทบได้

สิ่งที่รัฐบาลทำเกือบทั้งหมดคือการแจกเงินให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยตรง ซึ่งนั่นเป็นการสร้างความเคยชินให้เกิดขึ้น

เกิดความคิดที่เมื่อได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลจะต้องมีเงินมาแจกเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการประคองชีวิต

ครั้งก่อนหน้านั้นทำได้ แต่ครั้งนี้จะยังทำเช่นนั้นไหวหรือไม่

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่กดดันให้รัฐบาลต้องเอาใจประชาชน เพื่อรักษาความรู้สึกของประชาชนว่าพึ่งพาได้ไว้ การบริหารประเทศให้เกิดความยอมรับว่ามีความสามารถพอจึงหนักอึ้ง

ชนิดเสี่ยงต่อการสติแตกได้ หากถูกกดดันมากๆ