ต่างประเทศ : มาตรฐาน “ฮาลาล” กับการปฏิเสธวัคซีนในโลกมุสลิม

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังรอคอยการมาถึงของวัคซีนโควิด-19 ที่หลายบริษัทยาและรัฐบาลทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาในช่วงปีที่ผ่านมา

เรื่องที่คนทั่วโลกกังวลเกี่ยวกับการรับวัคซีนอาจนึกถึงเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หลังวัคซีนถูกเร่งรัดขั้นตอนให้ผ่านการทดลองเชิงคลินิกอย่างรวดเร็วในปีนี้

แต่อีกหนึ่งเรื่องที่กลายเป็นเรื่องน่ากังวลโดยเฉพาะกับโลกมุสลิมก็คือ วัคซีนโควิด-19 เหล่านั้นผ่านมาตรฐาน “ฮาลาล”

และได้รับอนุญาตให้ใช้ภายใต้กฎหมายอิสลามหรือไม่?

 

กรณีดังกล่าวถูกพูดถึงเมื่อคณะทูตและผู้นำศาสนาจากประเทศอินโดนีเซียเดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อเจรจาทำข้อตกลงซื้อวัคซีนเพื่อให้ประชาชนในประเทศได้ใช้อย่างทั่วถึง

แต่สิ่งที่กลุ่มผู้นำศาสนาจากชาติที่มีประชากรเป็นมุสลิมมากที่สุดในโลกกังวลก็คือ ส่วนผสมในวัคซีนที่อาจมีผลิตภัณฑ์จาก “สุกร” อยู่

และข้อกังวลนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นอุปสรรคกับโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน

ปัญหาดังกล่าวอยู่ที่การใช้ “เจลาติน” ที่สกัดจาก “สุกร” ที่ปัจจุบันถูกนำมาใช้เป็นวัตถุกันเสียในวัคซีนอย่างกว้างขวางเพื่อให้วัคซีนสามารถเก็บไว้ได้และมีประสิทธิภาพยาวนาน

ความห่วงกังวลจากโลกมุสลิม ทำให้ก่อนหน้านี้มีหลายบริษัทยาที่ใช้เวลาหลายปีคิดค้นวัคซีนที่ปราศจากเจลาตินจากสุกรขึ้นมาได้หลายชนิด

เช่น บริษัท Novartis ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบไร้ผลิตภัณฑ์จากสุกรได้สำเร็จ

เช่นเดียวกับบริษัท AJ Pharma บริษัทที่มีสำนักงานในซาอุดีอาระเบียและมาเลเซีย ก็กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบไร้เจลาตินจากสุกรของตัวเองอยู่

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนมองว่า หากพิจารณาจากความต้องการวัคซีน ห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุน และธรรมชาติของวัคซีนที่เสียง่ายนั้นจะยังคงทำให้เจลาตินจากสุกรจะยังคงถูกใช้ผสมอยู่ในวัคซีนส่วนใหญ่ต่อไปอีกหลายปี

 

แม้บริษัท Pfizer, Moderna รวมถึง AstraZeneca ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ยักษ์ใหญ่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกจะออกมาระบุว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตออกมาไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากสุกร

แต่ด้วยจำนวนวัคซีนที่ผลิตออกมาได้จำกัด บวกกับข้อตกลงในการซื้อวัคซีนกับบริษัทนอกเหนือจากนี้ในมูลค่ามหาศาล นั่นหมายความว่าในบางประเทศที่มีประชากรมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเช่นอินโดนีเซีย ก็อาจจะได้รับวัคซีนที่ยังไม่ได้มีการยืนยันว่าปราศจาก “เจลาตินจากสุกร” ด้วยเช่นกัน

นั่นจะส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นในสังคมที่ยึดหลักศาสนาซึ่งปฏิเสธการบริโภคสินค้าจากสุกร

ไม่เฉพาะในประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง “ชาวยิวเคร่งศาสนาแบบดั้งเดิม” ในอิสราเอลที่ไม่บริโภคสุกรด้วยเช่นกัน

ประเด็นของวัคซีนที่มีส่วนผสมของสุกรนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงของนักวิชาการอิสลาม ว่าการรับเอาเจลาตินจากสุกรที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางเคมีมาแล้วอย่างมากมายนั้น จะยังคงถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรรับเข้าสู่ร่างกายตามแนวคิดทางศาสนาหรือไม่?

 

การถกเถียงเรื่องการฉีดวัคซีนที่มี “เจลาตินจากสุกร” เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และ “เกิดฉันทามติ” ในประเด็นนี้แล้วว่าสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายอิสลาม เนื่องจากหากไม่มีการฉีดวัคซีนแล้วจะเกิด “อันตรายที่ใหญ่หลวง” มากกว่าขึ้น

เช่นเดียวกันกับชุมชนชาวยิวเคร่งศาสนา ที่ก็มีฉันทามติในแบบเดียวกัน โดยมองว่าข้อห้ามนั้นเข้าข่ายในลักษณะของการ “กิน” ตามธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้น การฉีดเข้าสู่ร่างกายที่ไม่ได้เป็นการกินผ่าน “ปาก” จึงไม่เป็นการขัดต่อหลักการทางศาสนาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ใน “อินโดนีเซีย” มีกลุ่มที่คัดค้านการฉีดวัคซีนที่มีผลิตภัณฑ์จากสุกรอยู่ ซึ่งก็เคยส่งผลให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุขระดับประเทศมาแล้ว

 

ย้อนไปเมื่อปี 2018 สภาศาสนาแห่งอินโดนีเซีย (Indonesian Ulema Council) หน่วยงานศาสนาที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและอนุมัติตรา “ฮาลาล” ให้กับสินค้าต่างๆ ภายใต้กฎหมายอิสลาม ได้บัญญัติให้วัคซีนโรคหัดและโรคไอกรน ซึ่งมีส่วนผสมของ “เจลาตินจากสุกร” เป็น “ฮะรอม” หรือ “ต้องห้าม”

นั่นส่งผลให้ยอดผู้ป่วยโรคหัดในประเทศอินโดนีเซียพุ่งสูงขึ้นจนติดอันดับ 3 ของโลก

ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้หน่วยงานศาสนาของประเทศต้องออกมาแก้กฎหมายดังกล่าวเปิดทางให้การฉีดวัคซีนนั้นสามารถทำได้

แต่ความเชื่อฝังรากในระดับวัฒนธรรมไปแล้ว ส่งผลให้อัตราการรับวัคซีนในกลุ่มชาวมุสลิมในประเทศอินโดนีเซียก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำอยู่ดี

ล่าสุดผลวิจัยของ Research Partnership กลุ่มวิจัยตลาดด้านสาธารณสุข พบว่าชาวมุสลิมในประเทศอินโดนีเซีย บางส่วนก็ยังคงรู้สึกไม่สบายใจหากต้องฉีดวัคซีนที่มีส่วนผสมของ “เจลาตินจากสุกร” อยู่ แม้ภาครัฐจะให้แนวปฏิบัติว่าสามารถทำได้แล้วก็ตาม

ในมาเลเซีย ชาติที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมก็มีปัญหาดังกล่าวเช่นกัน จนรัฐบาลต้องออกกฎหมายเข้มงวด บังคับให้ผู้ปกครองต้องฉีดวัคซีนให้กับลูกๆ ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษปรับหรืออาจถึงขั้นจำคุก

ขณะที่ในปากีสถานก็มีการตัดสินลงโทษจำคุกผู้ปกครองที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนโปลิโอให้กับลูกมาแล้วเช่นกัน

 

สําหรับวัคซีนโควิด-19 นั้นรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้บรรจุเอาตัวแทนทางศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดหาและการตรวจสอบวัคซีนที่จะนำมาใช้ในประเทศด้วย โดยล่าสุดมีการส่งตัวแทนเข้าเยี่ยมชมโรงงานของบริษัท Sinovac Biotech ในจีนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่วัคซีนของ Sinovac Biotech เองก็อยู่ระหว่างการทดสอบเชิงคลินิกกับชาวอินโดนีเซียจำนวน 1,620 คนด้วย

สำหรับบริษัทจีนผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 อย่าง Sinovac Biotech, Sinopharm รวมถึง CanSino Biologics นั้นยังไม่ได้มีการเปิดเผยส่วนประกอบในวัคซีน ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการทดลองเชิงคลินิกในเฟสที่ 3 ออกมาแต่อย่างใด

หลังจากนี้ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชากรโดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียคงจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลและบริษัทยาที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

ที่จะทำอย่างไรให้พวกเขายินดีที่จะถกแขนเสื้อเพื่อฉีดยา นำไปสู่การหยุดยั้งวิกฤตโรคระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกครั้งนี้ลงให้ได้