E-DUANG : บทบาท “คสช.” ในสถานะแห่ง “พรรคทหาร”

การออกมาแสดงความสงสัยของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ถึงการดำรงอยู่ของ “พรรคทหาร”

แหลมคม น่าสนใจ

“พรรคของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศจะตั้งขอถามสื่อมวลชนกลับว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นทหารหรือไม่”

เหมือนกับจะมีเพียงบางพรรคเท่านั้นเป็น “พรรคทหาร”

อย่างเช่นพรรคเสรีมนังคศิลาเพราะมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า

อย่างเช่นพรรคชาติสังคมเพราะมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า

อย่างเช่นพรรคสหประชาไทยเพราะมี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า

เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

 

ถามว่ารากฐานพรรคเสรีมนังคศิลามาอย่างไร ถามว่ารากฐาน พรรคชาติสังคมมาอย่างไร

ล้วนมาจาก “รัฐประหาร”

พรรคเสรีมนังคศิลามาจากรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2490 พรรคชาติสังคมมาจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2500

พรรคสหประชาไทยมาจากรัฐประหารเดือนตุลาคม 2501

ขณะที่พรรคสามัคคีธรรมแม้จะมี นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็มีพื้นฐานมาจากรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534

เมื่อเกิดสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรมก็ถูกมองว่าเป็น “พรรคทหาร”

เพราะตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฐานให้กับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

 

คสช.อาจยังมิได้รับการเรียกขานว่าเป็น “พรรคทหาร” เหมือนกับพรรคเสรีมนังคศิลา หรือพรรคสหประชาไทย ในอดีต

แต่ถามว่า “รากฐาน” ของคสช.คืออะไร

คำตอบเด่นชัดอย่างยิ่งว่า มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 “คสช.” จึงมีบทบาทเหมือนกับ “คณะปฏิวัติ”

ไม่ว่าจะเป็นคณะปฏิวัติโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเดือนตุลาคม 2501 ไม่ว่าจะเป็นคณะปฏิวัติโดย จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514

อันพัฒนาเป็นพรรคชาติสังคม พรรคเสรีมนังคศิลา

“รัฐประหาร” จึงเป็นฐานที่มาแห่ง “พรรคทหาร”