จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (8)

อะไรๆ ที่มันไม่ถูกต้องชอบธรรม ได้มาจากการเอากำลังเข้าบังคับขู่เข็ญ “แย่งยึด” เขามา ไม่มีทางที่จะจีรังยั่งยืน โดยเฉพาะ “อำนาจอธิปไตย” ซึ่งเป็นของ “ประชาชน” ถึงอย่างไรก็จะต้องคืนให้แก่เจ้าของอำนาจตัวจริง ไม่ช้าก็เร็ว

โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลประชาชนส่วนใหญ่นิยมการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย” โดยเฉพาะกับประเทศที่ได้พัฒนาจนเรียกตัวเองว่าเจริญแล้ว ฉะนั้น คงไม่มีใครสามารถจะแย่งชิงเอาไปได้

ได้ศึกษาและเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 80 ปีหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็ล้มลุกคลุกคลาน มีการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร-ยึดอำนาจ” รัฐบาลที่มาจากประชาชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ แย่งชิงการเข้าสู่อำนาจไม่หยุดหย่อน แต่จนแล้วจนรอดไม่เคยเห็น “เผด็จการ” อยู่ยั้งยืนยง วันที่ลงจากอำนาจล้วนเจ็บปวดสะบักสะบอม

ถ้ามีการ “เลือกตั้ง” เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2561 ตามที่ประชาชนตั้งความหวังว่าจะมีการ “ปฏิรูปการเมือง” กันจริง ดังเงื่อนเวลาซึ่งวางไว้ แต่หาก “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง” ทั้งหลายยังไม่มีความคิดเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยังยึดติดอยู่กับวิธีการเดิมๆ ในการเข้าสู่อำนาจ ไม่มีการพัฒนาจิตใจ ความรู้ ว่ากันว่าประชาชนของประเทศนี้ ซึ่งมีการพัฒนาและเฉลียวฉลาดขึ้นจะสามารถทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปจากเก่า อย่างที่คิดกันแบบเดิมๆ ได้เสมอ

นักการเมืองไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีส่วนเป็นอย่างมากในการเรียกร้องเชื้อเชิญ “เผด็จการทหาร” เข้ามา “ยึดอำนาจ” ในทุกๆ ครั้ง หรือเกือบทุกครั้ง

ผู้แทนราษฎรปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าพฤติกรรมของพวกท่านเมื่อได้เดินเข้าสู่สภาแล้วมักเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนการได้รับเลือกตั้ง?

 

อาจารย์คึกฤทธิ์ในวัยหนุ่มแน่นเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษเดินทางกลับมาเมืองไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แค่ 10 กว่าปี เข้าสู่การเมืองแบบอิสระเป็นนักลัทธิเสรีนิยม เป็นบุคคลที่ถูกเรียนขานว่าเป็น “พวกเจ้า” ไม่ได้ลงรอยหรือมีนโยบายคล้ายคลึงกับกลุ่ม “คณะราษฎร” แต่ต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” โดยตลอดมา

เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎรของกรุงเทพฯ ก็ยึดมั่นในอุดมการณ์ ทำงานเพื่อราษฎรโดยสุจริต ถึงขนาดไม่พอใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากไปเห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนผู้แทนราษฎร และสุดท้ายก็ลาออกจากผู้แทนราษฎร

ที่สุดก็หันหลังให้กับการเมืองมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไปร่วมกับสมัครพรรคพวกก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ใช้เป็นสนามยืนหยัดในการต่อสู้กับ “เผด็จการ” อย่างหนักหน่วงเหนียวแน่นด้วยอุดมการณ์ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมประชาธิปไตย และกลับเข้าสู่การเมืองตามเส้นทางประชาธิปไตยเมื่อบ้านเมืองมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517

เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค “กิจสังคม” ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง การเข้าสู่การเมืองครั้งนี้ห่างจากครั้งแรกถึง 30 ปี

เมื่อได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 13 ของประเทศไทย ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เมื่อปี พ.ศ.2518 ในนามรัฐบาลสหพรรค เนื่องจาก “พรรคกิจสังคม” ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีผู้แทนราษฎรเพียงแค่ 18 เสียงเท่านั้น จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะควบคุมหรือบริหารจัดการยากลำบาก

มีการเรียกร้อง ต่อรองเรื่องต่างๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง ตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ผลประโยชน์อื่นๆ และ ฯลฯ แทบเรียกได้ว่างานบริหารประเทศนั้นหนักหนาสาหัส แต่ก็อาจจะง่ายกว่าการบริหารพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อรัฐบาลจะได้มีเสถียรภาพ

เมื่อตัดสินใจ “ยุบสภา” เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ เป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตยให้รอดพ้นจากเขี้ยวงาทั้งหลายซึ่ง “กระหายอำนาจ” กระทั่งโดนกลเกมการเมืองจน “สอบตก”

 

ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ท่านเคยพูดถึงผู้แทนราษฎรไว้เมื่อร่วม 40 ปีที่แล้ว ว่า–

“มันอาถรรพ์ยังไงไม่ทราบ คนดีๆ นี่แหละพอสมัครเข้าไปเป็นผู้แทนฯ แล้วก็เปลี่ยนไปมาก ชักเห็นว่าตัวเองยิ่งใหญ่ หรือเห็นตัวเองอยู่ในระยะที่จะสร้างฐานะให้มั่นคง ถ้าไม่ได้ตำแหน่งก็วิ่งเต้น ก็ขอใบอนุญาตเปิดร้านขายปืนพร้อมกันทีเดียว 25 ร้าน ก็ถามว่าทำไมมันมากมายอย่างนี้ บอกว่ามันให้เขาร้านละแสนจะได้เงินสองล้านห้า เป็นผู้แทนฯ ตั้ง 6 เดือนแล้วยังไม่เห็นอะไรดีขึ้น ยังยากจนอย่างเก่า ชาวบ้านเขาดูถูก—บางคนมานั่งรออยู่ 3 วัน 7 วัน นั่งอยู่หน้าห้อง ถามว่าจะเอาอะไร บอกว่าจะขอเป็นรัฐมนตรีช่วย เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล ก็บอกว่าจะตั้งได้ไง ก็ว่าไม่เป็นไรหรอกครับ ผมขอเป็น 2 เดือน เขาจะไล่ผมออกก็ไม่ว่า เกิดมากะเขาชาติหนึ่ง ขอให้ได้เป็นสักครั้ง อย่างนี้ก็มี”

“บางคนประชุมพรรค พรรคบอกต้องลงอย่างนั้น ลุกขึ้นพูดว่า ผมไม่ยอมตามมติพรรค จะให้ยกมือลงมติพรรคก็ได้ แต่ต้องเอาเงินมาให้ก่อนซิ คนนี้ได้ปริญญาโทนะ—“?

แม้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีกันขึ้น แต่อาจารย์คึกฤทธิ์ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ประดังประเดมาได้ ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวลือเป็นระยะๆ เรื่องการ “รัฐประหาร” จนทำให้ท้ายที่สุดต้องตัดสินใจยุบสภา ทางหนึ่งเพื่อใช้วิธีแก้ปัญหาแบบประชาธิปไตย แทนที่จะไปเปิดโอกาสให้ทหารมาปฏิวัติรัฐประหาร และอีกทางหนึ่งเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจกลั่นกรองเอา “ผู้แทนฯ ไม่ดี” ออกไป

อาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวว่า บทเรียนที่เกิดจากการยุบสภานั้น แม้โดยตัวมันเองจะมีราคาแพง แต่ก็ทำให้ประเทศได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นอย่างไร และประชาชนจะทำอย่างไรจึงจะกรองเอาผู้แทนฯ ที่ดีมาให้ได้

 

ยังมีอีกบางช่วงตอนที่ท่านแสดงความรู้สึกอันแท้จริงที่มีต่อผู้แทนราษรออกมาทั้งในฐานะหัวหน้าพรรคกิจสังคม และนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2518 เป็นเวลากว่า 40 ปีผ่านเลย ว่า

“ตลอดเวลาที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เป็นเวลาที่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประชาชนมีเสรีภาพทุกอย่างแม้แต่จะไล่ขว้างระเบิดกันกลางถนนหนทางก็ทำได้ นอกจากนี้ ผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรก็มีอำนาจวาสนา จะไล่รัฐบาลออกเมื่อไรก็ได้”?

ถ้าการคืนความสุข คืนอำนาจให้กับประชาด้วยการเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นตอนปลายปี พ.ศ.2561 ซึ่งก็แปลว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันบริหารประเทศจนครบ 4 ปีหรือเกินกว่านั้น กว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดหมายไม่ค่อยจะยากนักสักเท่าไรว่า อาจมีผู้บริหารชุดที่ “ยึดอำนาจ” รัฐบาลเก่ากลับมาแบบถูกต้องอีกครั้งหนึ่งตามกติกาด้วยขั้นตอนการวางแบบแผนของรัฐธรรมนูญ

ระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 3-4 ปี ตัวการที่ถูกมองว่าเป็น “ผู้ร้าย” จนหนีไม่พ้นที่จะทำให้ประเทศต้องตกอยู่ในสภาพการปกครองดังที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ คือ “นักการเมือง” และ “ผู้แทนราษฎร” กลายเป็นกลุ่มบุคคลที่น่ารังเกียจสำหรับฝ่ายที่ไม่ชอบเลือกตั้ง ชอบประชาธิปไตย?

ทั้งๆ ที่ในทุกอาชีพ ในทุกวงการ ในทุกประเทศนั้นไม่มีใครปฏิเสธว่าย่อมมีทั้ง “คนดี-ไม่ดี” ปะปนกันอยู่ เพียงแต่ว่าฝ่ายไหน ซีกไหนจะมากกว่ากันเท่านั้น

นักการเมือง และผู้แทนราษฎร จึงอยู่ในสภาพที่หนีไม่พ้นจะต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงวิธีคิด ก่อนเสนอตัวให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าหากยังยืนหยัดอยู่กับวิธีการเดิมๆ ทุกอย่างก็จะวนเวียนเป็นวัฏจักร เป็นวงจรอุบาทว์ ประชาธิปไตยย่อมล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้กับประเทศของเรา

อาจารย์คึกฤทธิ์เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างที่ภาวการณ์บ้านเมืองกำลังทรุดโทรมลงในทุกทาง กำลังมีปัญหา ว่า “ที่บ้านเมืองพังลงทุกวันนี้เพราะนายกรัฐมนตรีไม่มีความรู้ความชำนาญ ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอจะทำ” และท่านบอกว่า “พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย”

แต่ประเทศของเรากลับมีคนที่พร้อมจะเป็น “นายกรัฐมนตรี” โดยไม่ต้องมาจากการ “เลือกตั้ง” เสมอ?