วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย/ศิษย์คนสุดท้าย อึ้งเอี๊ยะซือ (88)

เสถียร จันทิมาธร

วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย/เสถียร จันทิมาธร

ศิษย์คนสุดท้าย อึ้งเอี๊ยะซือ (88)

ต่อเมื่อ “เล็กบ้อซัง” ปรากฏเงาร่างขึ้นเท่านั้นแหละ ความเป็นจริงของ “สตรีชุดเขียว” จึงปรากฏออกมาว่าที่แท้นางคือ “เที้ยเอ็ง” มาจากแคว้นกังหนำ แดนใต้ด้วยกัน

“นางเป็นเปียเจ้ข้าพเจ้า เป็นศิษย์คนสุดท้ายของอึ้งเอี๊ยะซือแห่งเกาะดอกท้อ”

เท่านั้นแหละ การแสดงออกตลอดหลายวันที่ทั้ง 2 พำนักอยู่ด้วยกันภายในทับกระท่อมอันสะอาดงามตาก็ค่อยคลี่คลายฐานที่มา

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนอักษรข้อความ “เมื่อพบวิญญูบัณฑิต ไหนเลยไม่คิดยินดี”

อันเป็นข้อความ 2 ประโยคจากหนังสือ “ซีเก็ง” กวีนิพนธ์เล่มแรก ที่นานมาแล้วอึ้งย้งเคยสอนให้เอี้ยก่วยท่องอ่าน ข้อความ 2 ประโยคนี้แปลได้ความหมายว่า

“เมื่อพบพานบุรุษเช่นนี้ เราไหนเลยยังไม่ยินดี”

ยังจำได้ว่า สตรีชุดเขียวหวนกลับมายังห้องยืนชดช้อยริมหน้าต่าง เป่าเทียนไขดับ แสงจันทร์อ่อนจางสาดสอดเข้าทางหน้าต่าง ปูลาดกับพื้น

สตรีชุดเขียวเดินออกไปอย่างแช่มช้า

ชั่วครู่ให้หลังนอกห้องบังเกิดเสียงขลุ่ยอ้อยอิ่งส่งผ่านหน้าต่างเข้ามา ขลุ่ยเลานี้เป็นทั้งอาวุธและเครื่องดนตรี

การบรรเลงของ “สตรีชุดเขียว” ก่อให้เกิดจินตนาการอันบรรเจิดตามมา

ตอนอยู่สุสานโบราณบางครั้งเซียวเล้งนึ่งดีดพิณ เอี้ยก่วยจะอยู่เป็นเพื่อนที่ด้านข้างรับฟังนางบรรยายความหมายของบทเพลง

ยามนี้จำแนกออกว่าขลุ่ยหยกเป่าเป็นท่วงทำนองอันใด

นั่นก็คือ ท่วงทำนอง “บ้อเสี่ยเซียง” ในบทเพลง “คี้ออ” เพลงพิณบทนี้สภาพราบเรียบ เคยได้ยินมาหลายเที่ยว ได้ยินนางเป่าไปเป่ามาล้วนเป็นคำขึ้นต้นทั้ง 5 ประโยคที่ว่า

“ลำน้ำคี้จุ้ยหลั่งไหล ไผ่เขียวโอนอ่อนแช่มช้อย

วิญญูบัณฑิตสง่างาม ปานงาช้างสลักเสลา ราวหยกงามกลึงเกลา”

เสียงขลุ่ยบัดเดี๋ยวสูง บัดเดี๋ยวต่ำ บัดเดี๋ยวเชื่องช้า บัดเดี๋ยวเร่งร้อน ตั้งแต่ต้นจนถึงท้ายวนเวียนแต่ 5 ประโยคนี้

ข้อความ 5 ประโยคนี้ก็มาจากกวีนิพนธ์ “ซีเก็ง”

เด่นชัดยิ่งว่าเป็นคำชมเชยบุรุษหนึ่งอันผ่านการสลักเสลาราวงาช้าง ผ่านการเจียระไนประหนึ่งหยกงาม

สดับฟังเป็นเวลานานอดร้องคลอตามเบาๆ มิได้

“ลำน้ำคี้จุ้ยหลั่งไหล ไผ่เขียวโอนอ่อนแช่มช้อย” ร้องคลอได้เพียง 2 ประโยคเสียงขลุ่ยพลันชะฝักขาดหาย

งงงันวูบหนึ่ง ลอบเสียใจที่อุกอาจ

เมื่อรับรู้จากเล็กบ้อซังว่านางเป็นใคร เมื่อเที้ยเอ็งคารวะด้วยความนอบน้อม ถอดหน้ากากออกเห็นใบหน้ายองใย สีผิวเป็นประกายดั่งหิมะ

ใบหน้ารูปไข่ปรากฏรอยลักยิ้มเล็กๆ รอยหนึ่ง

เอี้ยก่วยครุ่นคิดในใจ “เหตุใดนางอายุยังเยาว์กลับเป็นศิษย์ของอึ้งเต้าจู้ หากนับตามศักดิ์ฐานะโดยเริ่มจากก๊วยแป๊ะบ้อเราไยมิใช่ต่ำกว่านางรุ่นหนึ่ง”

ที่แท้ครั้งกระโน้นเที้ยเอ็งถูกมกโช้วคร่ากุม ประจวบกับประมุขเกาะดอกท้อผ่านทางไปช่วยชีวิตของนาง อึ้งเอี๊ยะซือนับแต่ธิดาแต่งงานก็ออกร่อนเร่ไปทั่วหล้า ถือพสุธาเป็นบ้าน พอล่วงเข้าปัจฉิมวัยอดอ้างว้างเดียวดายมิได้

ยามนี้เห็นเที้ยเอ็งอ่อนเยาว์ไร้ที่พึ่งอดบังเกิดเวทนาจิต หลังจากรักษาอาการบาดเจ็บให้จนทุเลาก็รับนางไว้ข้างกาย

เที้ยเอ็งปรนนิบัติอึ้งเอี๊ยะซืออย่างนุ่มนวลเอาใจ อึ้งเอี๊ยะซือจากรักเวทนากลายเป็นรักเอ็นดูรับนางเป็นศิษย์คนสุดท้าย ความเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องแม้ไม่เทียบเท่าอึ้งย้ง แต่นางมีจิตละเอียดอ่อนศึกษาค้นคว้าตั้งแต่จุดเล็กๆ

กลับร่ำเรียนวิชาความรู้จากอึ้งเอี๊ยะซือไม่น้อย

การพบกับเที้ยเอ็ง โดยมีเล็กบ้อซังเป็นสะพานเชื่อมอย่างสำคัญ จึงเป็นการพบอันทรงความหมาย 1 ต่อเอี้ยก่วย

เท่ากับชักนำให้เอี้ยก่วยเข้าใกล้เกาะดอกท้อมากยิ่งขึ้น

เมื่อเข้าใกล้เกาะดอกท้อจึงเหมือนเป็นการเข้าใกล้อึ้งเอี๊ยะซือ ขณะเดียวกัน ยังนำไปสู่บางข้อมูลอันเกี่ยวกับชีวิตของเอี้ยก่วยอย่างละเอียดอ่อนยิ่ง

นั่นก็คือ นำ “เอี้ยก่วย” ไปสู่ความเป็น “สหาย” กับอึ้งเอี๊ยะซือ