สมหมาย ปาริจฉัตต์ : นักเรียนเขียน ครูอ่าน ครูเปลี่ยน มหัศจรรย์แห่งการเขียน (8)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การนำเสนอบทสรุปเนื้อหาและบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่ละห้องในภาคบ่ายเวทีเพาะพันธุ์ปัญญาปีที่ 4 ยังคงคึกคัก ทั้งผู้บริหาร ครู อาจารย์ นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่คิดว่ายังเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ตั้งใจเก็บเกี่ยวสิ่งที่ได้ฟังเพื่อนำไปเป็นแนวทางปรับปรุงการปฏิบัติของตัวเองอย่างใจจดใจจ่อ

จากห้องแรก ปาฏิหาริย์ของการ “ถามคือสอน” มาสู่ “มหัศจรรย์ของการอ่านและเขียน” ห้องที่สอง ภายใต้หัวข้อ การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากการทำโครงงาน

ผู้แทนของห้องย้ำว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกอย่าง มีทั้งความรู้ คุณธรรม ความพอดี

เธอเล่าถึงแนวทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งนักเรียนและครู จากที่เคยเน้นการท่องจำมาเป็นทำให้เกิดความคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างสรรค์ ด้วยการเขียน เริ่มจากการเขียนล็อกบุ๊ก (Logbook)

“เราทำกัน ดูตัวอย่างจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวลาพระองค์ท่านเสด็จไปที่ใดจะเห็นท่านบันทึก ท่านเขียนตลอด สงสัยอะไรพระองค์ท่านก็ทรงถาม”

“การเขียนเป็นการสะท้อนคิดกิจกรรมที่เราทำ AAR (After Action Review) ทักษะการเขียนเป็น Skill สำคัญ จะทำอะไร เขียนสคริปต์ กลั่นกรองความคิดของเราก่อนทำ”

เธอสรุปก่อนลงจากเวที

 

ผมมาอ่านพบจากบันทึกคำสัมภาษณ์ สะท้อนคิดของเธอในหนังสือรอยจารึกบนเส้นทางครูเพาะพันธุ์ปัญญา

ครูรัชนก สุวรรณจักร์ ครูแกนนำเพาะพันธุ์ปัญญาโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จ.ลำปาง วิธีสอน ฝึกทักษะกระบวนการคิดให้เด็ก โดยปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างสม่ำเสมอ จนเด็กทำตามแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง

คิด เขียน คิด เขียน คิด เขียน

“เราให้เขียนแผนที่เดินทางของงาน บน Flip chart บ้าง ใช้การเขียนล็อกบุ๊กบ้าง เขียนทบทวนความคิดและงานที่ทำกับเพื่อนกับครู เรียกว่าสอนให้ประเมินตนเองตลอดเวลา การเขียนล็อกบุ๊กของนักเรียนโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยจะเป็นกึ่งไดอารี่ กึ่งการบันทึกผลการทดลอง โดยครูจะให้อิสระในการออกแบบการเขียนล็อกบุ๊กของตัวเอง”

เราพบว่านักเรียนมีความสุข บางคนจะมีการนำภาพกิจกรรมที่ทำตัดแปะเพื่อให้เห็นถึงขั้นตอนและกิจกรรมที่ทำ ครูจะทราบปริมาณงานของนักเรียน ผลการทำโครงงานและเข้าใจว่านักเรียนแต่ละคนคิดอย่างไร

จากการอ่านก็ทำให้ดิฉันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนความคิดในการจัดการเรียนรู้หลายอย่าง เช่น ดิฉันลดความคาดหวังต่อตัวนักเรียนลง ลดความเครียด เพิ่มความสุขและเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน

เธอเล่าอีกว่า ตอนแรกนักเรียนบางคนไม่สามารถเขียนได้ ครูจะต้องเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเห็น ดิฉันจึงเริ่มเขียนล็อกบุ๊ก นักเรียนบางคนก็สงสัยว่าครูทำอะไร แล้วเด็กๆ ก็บอกต่อกันไปว่า ครูนกก็เขียนล็อกบุ๊ก

จากนั้นดิฉันคัดกรองนักเรียนที่ยังไม่เขียนหรือไม่อยากเขียน ให้เขาดูตัวอย่างเพื่อนและอ่านของเพื่อน ให้เพื่อนช่วย จากไม่เขียนก็เริ่มเขียน 1 บรรทัด ครึ่งหน้า กลายเป็น 1 หน้า เหมือนเขาเห็นตัวอย่างครู ตัวอย่างเพื่อนและได้พูดคุยกับเพื่อน

นักเรียนที่ยังไม่สามารถเขียนได้หรือยังไม่อยากเขียนก็ค่อยๆ เริ่มเขียนตามความคิดของตัวเอง จากนั้นดิฉันก็คอยกระตุ้นให้คำแนะนำและให้กำลังใจเขา ซึ่งตอนนี้นักเรียนโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยทุกคนเขียนล็อกบุ๊ก

“เพาะพันธุ์ปัญญาสอนว่า ถามคือสอน สะท้อนคิดคือเรียน และเขียนคือคิด ใหม่ๆ ดิฉันก็ไม่เข้าใจ มารู้ซึ้งก็ตอนได้ปฏิบัติจริง ครูอย่างเราก็ไม่ค่อยเขียนจริงไหม การเริ่มเขียนมันยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทำไม่ได้”

“เขียนแล้วจะรู้ถึงคุณประโยชน์ จากนั้นไม่ต้องกำกับควบคุมอีกแล้ว ประโยชน์ที่ได้คือทำให้ครูเข้าใจการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนในมุมมองของนักเรียน เป็นกระจกเงาให้ครูผู้สอนได้เป็นอย่างดี เมื่อครูอ่าน ครูก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม”

“มันมีคำกล่าวว่า นักเรียนเขียน ครูอ่าน ครูเปลี่ยน”

 

ครูนกพูดถึงวิชาจิตตปัญญาศึกษาอีกว่า เป็นเครื่องมือที่วิเศษมาก น่าเสียดายที่ครู Hard Core ทั้งหลายไม่รู้จักเครื่องมือตัวนี้ น่าเสียดายจริงๆ มันเปลี่ยนความความสัมพันธ์ในห้องเรียน เรารู้จักฟัง รู้จักการใช้คำพูด ที่ค่อยๆ พูด ค่อยๆ ถาม ใจเย็น เรียนแบบไม่เครียด มีความสุข เพราะนักเรียนรู้สึกปลอดภัยกับเรา

“ส่วนเราก็ลดความคาดหวัง ลดช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียน จากครูกลายมาเป็นพี่ กลายมาเป็นเพื่อน และกลายมาเป็นนักเรียน ทำให้การสอนเรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายไปเลย เช่น สอนกระบวนการคิด นักเรียนมีจินตนาการ คิดไปถึง คิดสร้างสรรค์ได้เลย”

ฟังครูนกแล้ว ผมคิดต่อ คิดตาม เขียนคือคิด ใช้ตอบโจทย์หัวข้อ การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้

ผมคิดถึงการสอน แนะนำเชิญชวนให้เขียน บัญชีครัวเรือน บันทึกการรับจ่ายประจำวัน กิจกรรมส่วนหนึ่งของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

 

ที่น่าคิดและติดใจบางประโยคในหนังสือ “บนเส้นทางการเรียนรู้และขับเคลื่อนงานด้วยสายสัมพันธ์ของครอบครัวเพาะพันธุ์ปัญญา” โดยคณะครูศูนย์พี่เลี้ยง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

“หากเสียงขับขานยังเจื้อยแจ้วอยู่กับข้อความ สามห่วง สองเงื่อนไข สี่มิติ นักเรียนก็ได้เพียงรู้ แต่ไม่ซึมลึกเป็นวิถีของการใช้ชีวิต เพราะนักเรียนทำได้เพียงท่องนิยามของห่วง เงื่อนไขและมิติ”

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การจำได้เพื่อคว้าคะแนน O-Net แต่เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกทรรศน์ให้กระเทือนไปถึงวิถีการใช้ชีวิต ทำอย่างไรนักเรียนจะได้เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนเป็นวิถีชีวิต”

“การเป็นครูสอนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากการปฏิบัติผ่านการทำโครงงาน คือคำตอบ”

 

บทความที่ยกมา และสาระการพูดคุยจากเวทีสัมมนาห้อง 2 ต้องการสื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เรียนรู้จากการปฏิบัติ ลงมือทำจริง ไม่ใช่แต่เพียงท่องจำ

เขียนคือคิด จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเรียนรู้โดยการปฏิบัตินั่นเอง

ฟังแล้ว ก่อนจบเกิดคำถาม แล้วคุณครู นักเรียนทั้งหลายล่ะ ลงมือเขียนหรือยัง

หรือคุณครูหลายคนอยากเขียน อยากบันทึกบัญชีครัวเรือน แต่ก็ไม่กล้า เพราะกลัว กลัวรายการคอลัมน์รายจ่ายหนี้สหกรณ์ หนี้ ฯลฯ สูงกว่ารายรับ (ฮา)