สมชัย ศรีสุทธิยากร | เดินหน้าประชามติ : ถอดบทเรียนจากสกอตแลนด์

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เดินหน้าประชามติ : ถอดบทเรียนจากสกอตแลนด์

ในตอนที่ผ่านมาได้มีการถอดบทเรียนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ไปแล้ว ว่ามีหลายประเด็นที่เป็นบทเรียนสำคัญหากประเทศไทยจะมีการลงประชามติในอนาคต

สำหรับในตอนนี้จะได้นำเสนอบทเรียนของการทำประชามติในระดับสากลโดยเอาเหตุการณ์การลงประชามติเพื่อแยกสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรมาเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษา

การลงประชามติเพื่อแยกสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร มีขึ้นในวันที่ 18 กันยายน 2557 สองปีก่อนการลงประชามติของไทย มีผู้มาใช้สิทธิราว 3.6 ล้านคน

เห็นควรแยกสกอตแลนด์ 1.6 ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ 44.7

และเห็นสมควรไม่แยก 2.0 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 55.3

เริ่มจากคำถามประชามติ ที่เป็นกลาง

การตั้งคำถามประชามติ เริ่มจากรัฐบาลของสกอตแลนด์เป็นผู้ตั้งคำถามประชามติที่ต้องการ คือ “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าสกอตแลนด์ควรเป็นประเทศเอกราช” (Do you agree that Scotland should be an independent country?)

ซึ่งเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับคำถามมาและมีการทดสอบการใช้ประโยคคำถามดังกล่าวเปรียบเทียบกับการถามในลักษณะอื่นๆ พบว่า การใช้คำว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่” นำหน้านั้น ผลการวิจัยชี้ว่ามีลักษณะเป็นคำถามนำ (leading question) ที่จะนำไปสู่คำตอบในทางที่เห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย

ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้เปลี่ยนคำถามประชามติใหม่เป็น

“สกอตแลนด์ควรเป็นประเทศเอกราชหรือไม่” (Should Scotland be an independent country?)

กรอบเวลาในการทำประชามติ

รัฐบาลของสกอตแลนด์ประกาศเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ให้มีการทำประชามติ ในวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2557

เท่ากับว่า ประชาชนได้รู้ล่วงหน้าและมีเวลาที่จะรับทราบข้อมูลจากฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่คัดค้านถึง 1 ปี 6 เดือน

ซึ่งเป็นเวลาที่มากเพียงพอสำหรับการลงประชามติในเรื่องที่สำคัญที่สุดนี้

องค์กรรณรงค์ในการทำประชามติ

มีองค์กรเอกชนที่เป็นทางการในการรณรงค์ประชามติของแต่ละฝ่าย ได้แก่ กลุ่มที่เห็นด้วยกับการแยกสกอตแลนด์เป็นเอกราช

ใช้การรณรงค์โดยใช้สีฟ้าภายใต้หัวข้อ “Yes Scotland” (ใช่เลย สกอตแลนด์)

โดยก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2555 หรือประมาณสองปีเศษก่อนการลงประชามติ

ได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาตินิยมสก๊อต (SNP : Scottish National Party) พรรคกรีน และพรรคสังคมนิยม

ในขณะที่ฝ่ายที่รณรงค์เห็นต่าง ต้องการให้สกอตแลนด์ยังอยู่กับสหราชอาณาจักร

ใช้การรณรงค์โดยใช้สีแดงภายใต้หัวข้อ “Better together” (ดีกว่า หากเราจะอยู่ร่วมกัน) และด้วยข้อความ “No Thanks” (ไม่ ขอบคุณ)

โดยก่อตั้งในเวลาใกล้เคียงกันคือ วันที่ 25 มิถุนายน 2555

ได้รับการสนับสนุนจากพรรคอนุรักษนิยม พรรคแรงงาน และพรรคเสรีประชาธิปไตย

การสนับสนุนทางการเงินในการรณรงค์

ในเดือนธันวาคม 2556 กลุ่มผู้รณรงค์ “Better together” เปิดเผยว่าได้รับเงินบริจาค 2.8 ล้านปอนด์ จากนักธุรกิจใหญ่ 6 ราย และจากประชาชนรายย่อยที่บริจาคต่ำกว่า 7,500 ปอนด์ จำนวนประมาณ 27,000 ราย

และต่อมาในเดือนสิงหาคม 2557 ได้มีการประกาศยุติการรับบริจาคด้วยเหตุผลว่ามียอดบริจาคที่เพิ่มขึ้นถึงจำนวนเงินที่ใช้สูงสุดในการรณรงค์แล้ว

ในขณะที่กลุ่มผู้รณรงค์ “Yes Scotland” ได้เปิดเผยในเดือนพฤษภาคม 2557 ว่ามียอดเงินบริจาครวม 4.5 ล้านปอนด์

จากนักธุรกิจใหญ่จำนวนหนึ่ง และจากประชาชนรายย่อยกว่า 18,000 คน

การเปิดกว้างสำหรับการถกเถียงในทุกประเด็น

ประเด็นผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่างๆ หากมีการแยกสกอตแลนด์เป็นประเทศเอกราชได้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในหมู่ประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ รายการโทรทัศน์ หน้าสื่อมวลชน ตลอดจนเวทีการประชันความคิด (Debate) ต่างๆ มากมายนับรวมกว่า 20 หัวข้อ

เช่น ความเป็นพลเมืองของชาวสก๊อตที่จะเปลี่ยนสัญชาติจากอังกฤษเป็นสกอตแลนด์ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่อาศัยในสกอตแลนด์หรือไม่

เรื่องเศรษฐกิจที่จะเกิดผลกระทบอย่างไรตามมา

การใช้สกุลเงิน (Currency) ที่จะเปลี่ยนจากปอนด์อังกฤษเป็นปอนด์สกอตแลนด์หรือจะเปลี่ยนเป็นเงินยูโร

เรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำมันในเขตทะเลเหนือซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของสกอตแลนด์และสามารถนำความมั่งคั่งสู่ประเทศ

การร่วมกับอียูในฐานะประเทศเอกราชที่จะมีศักดิ์และสิทธิที่มากกว่าเดิม

ถกกันทุกเรื่องทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การศึกษา การวิจัย สิทธิสวัสดิการ เงินบำนาญรัฐ และสาธารณสุข ไปจนถึงเรื่องการกีฬา เช่น เรื่องทีมแข่งขันฟุตบอลในอนาคต

ไม่เว้นแม้กระทั่งในเรื่องละเอียดอ่อน เช่น หลังจากแยกเป็นเอกราชแล้ว เรายังมีราชินีองค์เดียวกันหรือไม่ หรือควีนยังเป็นควีนอลิซาเบธที่สองหรือไม่

กระบวนการถกเถียงดังกล่าว กระทำกันโดยกว้างขวาง และมีการสรุปรวบรวมเหตุผลทั้งฝ่ายเห็นด้วย (Pro) และฝ่ายเห็นต่าง (Con) ไว้อย่างเป็นระบบให้คนมาตามอ่าน มาตามสืบค้นได้

กรรมการการเลือกตั้งที่วางตัวเป็นกลาง

บทบาทของ กกต.สกอตแลนด์มีหน้าที่ในการกำกับการลงประชามติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยออกกฎกติกาในการรณรงค์ของฝ่ายต่างๆ พร้อมทั้งจัดสรรเงินสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม

แม้ในเอกสาร (Leaflet) ที่ส่งทางไปรษณีย์ถึงเจ้าบ้านเพื่อชี้แจงรายละเอียดของการออกเสียงลงประชามติ กรรมการการเลือกตั้งยังได้จัดสรรหน้ากระดาษให้ฝ่ายที่รณรงค์ Yes Scotland และ Better together ฝ่ายละ 2 หน้าอย่างเท่าเทียมกัน

โดยทั้งสองฝ่ายสามารถใส่ข้อความ ภาพ หรือการจัดหน้า art work ลงในเอกสารของ กกต.ตามรูปแบบและเนื้อหาที่ฝ่ายตนต้องการได้

บรรยากาศของความสมานฉันท์

แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในทางตรงข้าม

แต่กลับไม่มีความแตกแยกของประชาชน

การแขวนป้ายผ้าสนับสนุนแต่ละฝ่ายที่หน้าต่างกระจกของบ้านติดกันหรือตรงข้ามกันอาจเป็นคนละป้ายโดยไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง

ชายหนุ่มหญิงสาวที่เป็นคู่รักที่เดินคู่กันมาอาจติดเข็มกลัดรณรงค์คนละฝ่ายที่เสื้อของตนเอง

ในเวทีรณรงค์ที่ฝ่ายหนึ่งจัดเราอาจเห็นขบวนรณรงค์ของอีกฝ่ายหนึ่งเดินฝ่าเข้ามาโดยได้รับเสียงปรบมือต้อนรับ

ไม่ใช่การโห่ร้องขว้างปาเหมือนในบางประเทศ

ผลการลงประชามติซึ่งเป็นที่ยอมรับ

ทันทีที่การลงประชามติเสร็จสิ้นและผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมาชัดเจนว่า ประชาชนชาวสกอตแลนด์ประมาณร้อยละ 55 ลงประชามติเลือกชีวิตของตนที่จะอยู่กับสหราชอาณาจักรต่อไป

Alex Salmond ผู้นำพรรค SNP ที่อยู่ในฝ่ายรณรงค์ให้แยกสกอตแลนด์เป็นประเทศเอกราช ได้ออกมายอมรับผลการลงประชามติ

และกล่าวว่า จากนี้สกอตแลนด์และอังกฤษจะเดินหน้าร่วมกันต่อไปในฐานะประเทศเดียวกัน (as one nation) และกล่าวชื่นชมการลงประชามติว่าเป็นชัยชนะของกระบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

การลงประชามติของสกอตแลนด์นั้น ถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการลงประชามติครั้งสำคัญในโลก ผลการลงประชามติคือการตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกอนาคตของเขาด้วยตัวเองว่าจะเดินหน้าอย่างไรมิใช่ให้นักการเมืองเป็นผู้กำหนดหรือชี้ชะตา

การลงประชามติมีต้นทุนที่ต้องใช้มหาศาล และสิ้นเปลืองเวลามากมายของผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่คือความคุ้มค่าที่จะได้นำพาประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่คนในสังคมต้องการ หากการลงประชามตินั้นมาจากความจริงใจของผู้ปกครองประเทศ ไม่ใช้การลงประชามติเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือจัดการลงประชามติแบบฉ้อฉลสร้างความได้เปรียบแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว

ประชาชนจะได้ตัดสินอนาคตของเขาเอง มิใช่ฝากอนาคตไว้กับใครบางคนเท่านั้น