โลกหมุนเร็ว/เมื่อเศรษฐกิจ ได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้เรา

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

เมื่อเศรษฐกิจ ได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้เรา

ในอดีตการค้าขายเกิดขึ้นทางน้ำ ท่าเรือไม่ว่าจะเป็นท่าเรือสำหรับเรือสินค้าใหญ่ที่มาทางทะเล หรือท่าสำหรับเรือเล็กที่ล่องมาตามแม่น้ำ ได้กลายเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

และต่อมาได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่บอกเล่าถึงความเป็นอยู่ของชุมชน

ชุมชนริมน้ำจันทบูร และบ้านหนองบัวที่จังหวัดจันทบุรีคือสองตัวอย่างของท่าเรือที่ว่านี้

ทริปหลักสู่จันทบุรีเพื่อซื้อทุเรียนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้กลายเป็นการเดินทางที่ได้เรียนรู้เรื่องชุมชนริมน้ำทั้งสองแห่งดังกล่าว

แต่ก่อนเรารู้จักที่ท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีแค่ “โบสถ์แม่พระ” หรือชื่อทางการว่า อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ที่ตั้งอยู่ในตัวเมือง เมื่อสิบปีที่แล้ว สภาพแวดล้อมของวิหารยังถูกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

มาวันนี้บริเวณโดยรอบได้รับการปรับปรุงให้เป็นที่ท่องเที่ยวที่เกือบสมบูรณ์แบบ

มีร้านกาแฟให้นั่งพักผ่อน

มีร้านขายของที่ระลึก

มีบ้านโบราณอายุ 100 ปีขึ้นไปหลายหลังที่ยังคงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี

และเมื่อเดินข้ามแม่น้ำจันทบุรีไปก็จะพบ “ชุมชนริมน้ำจันทบูร” ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของ “จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูชุมชนเก่า และตัวอย่างกระบวนการปรับปรุงอาคารเก่า”

ชุมชนแห่งนี้ สำหรับผู้ที่รักจะเฝ้ามองความเติบโตและเปลี่ยนแปลง การได้มาในวันนี้ย่อมไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

เพราะยังจะต้องได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอีกมาก

ขณะนี้ชุมชนยังมีวิถีชีวิตที่เป็นปกติของมัน

ตรงข้ามบ้านเลขที่ 252 ของหลวงราชไมตรี ต้นตระกูลปุณศรี ซึ่งขณะนี้เปิดเป็นโรงแรม ยังมีอาคารเก่าที่อยู่ตรงข้ามที่มีความงดงามซ่อนอยู่ภายใต้ตะไคร่สีดำเป็นส่วนๆ

หญิงคนหนึ่งยังผัดอาหารขายอยู่หน้าบ้าน แขกที่มานั่งเปิดหนังสือพิมพ์ตรวจลอตเตอรี่

ถัดไปทางห้องซ้ายมีคนนำทุเรียนมาตั้งโต๊ะขาย

และอีกร้านที่เราเดินผ่านมาก็เป็นร้านขนมไทยที่มีรสชาติอร่อยดั้งเดิม

นักเดินทางบางคนอาจเลือกที่จะมาเยี่ยมที่นี่ก่อนที่มันจะเปลี่ยนไปมากกว่านี้จนเหมือนกับปายหรืออัมพวา

เมื่อเดินเลยไปอีก ก็จะเห็นร้านกาแฟฮิปๆ แทรกอยู่ห่างๆ เป็นระยะ หลายร้านเปิดด้านหลังไปสู่แม่น้ำ ทำให้การพักผ่อนน่ารื่นรมย์ขึ้นไปอีก

เมื่อมองภาพกว้างจะเห็นว่าที่นี่มีการผสมผสานระหว่างการอยู่อาศัยของเจ้าของเดิม กับการลงทุนของคนต่างถิ่น อาจเป็นคนกรุงเทพฯ หรืออาจเป็นคนในเมืองจันท์เอง

สิ่งที่เป็นหัวใจของชุมชนคือศูนย์กลางของการเรียนรู้ประวัติความเป็นมา

ชุมชนได้เลือกบ้านเลขที่ 69 ของขุนอนุสรสมบัติ ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของเมือง

ถนนสายหลักของที่นี่เป็นถนนสายเล็กๆสมัยร้อยปีที่แล้วที่เคยเป็นถนนดินแล้วเปลี่ยนเป็นคอนกรีตชื่อถนนสุขาภิบาล เป็นที่รวมของสถาปัตยกรรมที่มีลวดลายแกะสลักทั้งแบบฝรั่งเศส จีน และไทย ออกแบบลวดลายต่างๆ กัน สุดถนนสายนี้มีถนนใหญ่ตัดขวาง ในอดีตเป็นท่าเรือที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นมาเยี่ยมราษฎร

ชุมชนได้ทำงานวิจัยรวบรวมเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะสังคมไทยไม่ค่อยบันทึกวิถีชีวิตผู้คนไว้เพื่อการศึกษาสำหรับคนรุ่นหลัง

ในหนังสือนี้จะมีบันทึกการทำงาน ทำให้เรารู้ว่ากว่าจะเป็นชุมชนต้องผ่านการคิด ปรึกษา ดูงาน มีภาพถ่าย ภาพสเก๊ตช์ทางศิลปะและสถาปัตย์ และมีบทสุดท้ายพูดถึงอนาคตที่ทำให้เรารู้ว่าเพียงการมองอดีตและปัจจุบันเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะสร้างความยั่งยืน แต่เพราะคณะทำงานมองถึงอนาคตด้วย จึงสามารถวางแผนงานให้ชุมชนแห่งนี้รักษาอัตลักษณ์ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลง

แผนงานดังกล่าวแสดงให้เห็นแผนที่แสดงเส้นทางพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับเมืองชายทะเลตะวันออกตั้งแต่ ชลบุรี ระยอง มาจนถึงจันทบุรี และตราด

ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงแล่นมาถึงจันทบุรี (คิดเล่นๆ ว่าน่าจะต้องมีคอนเทนเนอร์ขนทุเรียนได้ด้วย)

ในอนาคต ชุมชนริมน้ำจันทบูรจะเป็นสถานที่ที่อยู่ในเส้นทางของการเดินทางที่เป็นเส้นทางสายสำคัญของการเปิดประชาคมอาเซียน หรือ AEC ซึ่งเจาะผ่านไปถึง Souther Coastal Corridor ได้แก่ เกาะกง สีหนุวิลล์ ซาเตียน

จากถนนสุขาภิบาล มีซอยทะลุขึ้นไปยังถนนสายหลักสายปัจจุบันของเมืองที่เราจะพบร้านอาหารจันทร ที่เรามักจะมาแวะทานอาหารรสชาติดั้งเดิมของเมืองจันท์ แต่ไม่เคยมีโอกาสเดินไปจนถึงชุมชนริมน้ำจันทบูรที่ซุกซ่อนอยู่

หากไม่ได้เจ้าของรีสอร์ตที่รักท้องถิ่นและรักการเรียนรู้อย่างคุณทนงศักดิ์ เจ้าของแทมเฮาส์ รีสอร์ท ที่มีพื้นเพอยู่ที่นี่เป็นมัคคุเทศน์พาเราไป เราก็คงไม่ได้ไปรู้จักสถานที่น่าสนใจแบบนี้

และนี่คือโฉมหน้าของคุณทนงศักดิ์ (แทม) และคุณแหม่มภรรยา เจ้าของรีสอร์ตที่น่ารักกับแขกผู้มาเยือนทางขวามือ