วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (4)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เหตุแห่งสามรัฐ เหตุจากราชสำนัก (ต่อ)

ขันทีเหล่านี้พอได้ดิบได้ดีแล้วแทนที่จะนำพาบ้านเมืองจีนให้กลับคืนสู่ความสงบ ก็กลับทำตัวเหมือนเหลือบฝูงใหม่ด้วยการจัดการให้เครือญาติตนได้เข้ามาเป็นขุนนางระดับสูง ทั้งๆ ที่ญาติบางคนบางกลุ่มเคยเป็นอันธพาลมาก่อน

จากเหตุนี้ บ้านเมืองจีนจึงเข้าสู่ความเสื่อมถอยเช่นที่ผ่านมาไม่ต่างกับที่เป็นก่อนหน้านี้ ซ้ำร้ายบางกรณียังป่าเถื่อนยิ่งกว่าอีกด้วย เช่น ใส่ร้ายป้ายสีตระกูลที่ร่ำรวยให้มีความผิดแล้วลงโทษด้วยการฆ่าทิ้ง จากนั้นก็ยึดทรัพย์สินเงินทองของตระกูลนั้นมาเป็นของตน เป็นต้น

แม้บ้านเมืองจะเสื่อมถอยลงจากพฤติกรรมดังกล่าวของเหล่าขันทีก็ตาม แต่พฤติกรรมนี้ก็อยู่ในการเฝ้ามองของขุนนางและศึกษิตกลุ่มหนึ่งโดยตลอด

ขุนนางและศึกษิตกลุ่มนี้มีนับร้อยคนที่ต่างมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง และต่างก็สังกัดสำนักหญูหรือสมาทานลัทธิขงจื่อทั้งสิ้น

โดยที่เป็นขุนนางนั้นหมายถึง ขุนนางในราชสำนักที่มีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ไม่มีอิทธิพลใดๆ เนื่องเพราะเหล่าขันทีกุมอำนาจอยู่

หากเป็นศึกษิตก็จะหมายถึง นิสิตนักศึกษาหรือบัณฑิตที่สังกัดสถานศึกษาเรียกว่า “มหาสิกขาลัยแห่งราชสำนัก” (ไท่เสีว์ย, Imperial University, Imperial Academy, Imperial Central University, Imperial School) ที่ต่างก็มีความรู้สูงและมีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างกับขุนนางในกลุ่มแรก

 

อนึ่ง มหาสิกขาลัยแห่งราชสำนักนี้เป็นสถานศึกษาระดับสูงสุดของจีนในยุคโบราณ ก่อตั้งขึ้นโดยจักรพรรดิฮั่นผิงตี้ (ครองราชย์ ก.ค.ศ.1-ค.ศ.5) แห่งราชวงศ์ฮั่น โดยมีเจตนารมณ์ในการก่อตั้งเพื่อผลิตบัณฑิตระดับสูง ส่วนมากของผู้สำเร็จการศึกษาจะเป็นขุนนางรับใช้ราชสำนักฮั่น

ด้วยเหตุนี้ ราชสำนักฮั่นจึงมีขุนนางที่มีความรู้สูง และความรู้สูงนี้ก็คือความรู้ที่สมาทานลัทธิขงจื่อเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม มหาสิกขาลัยแห่งราชสำนักมีเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) จึงได้เปลี่ยนคำเรียกมาเป็น “กว๋อจื่อเจี้ยน” หรือสำนักศึกษาเพื่อกุลบุตรแห่งรัฐ (School for the Sons of the State) โดยกุลบุตรแห่งรัฐ (กว๋อจื่อ, the Sons of the State) นี้หมายถึง ผู้ที่จะได้เป็นขุนนางต่อไปเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว กว๋อจื่อเจี้ยนจึงไม่ต่างกับมหาสิกขาลัยแห่งราชสำนักในคำเรียกขานใหม่นั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังราชวงศ์สุยไปแล้ว กว๋อจื่อเจี้ยนยังคงมีอยู่สืบมาอีกหลายราชวงศ์ แล้วมายุติบทบาทลงใน ค.ศ.1905 เมื่อราชวงศ์ชิงทำการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นสมัยใหม่

จากเหตุนี้ หากนับแต่แรกเริ่มก่อตั้งจนถึงสิ้นสุดบทบาทลงแล้ว สถานศึกษานี้จึงมีอายุยืนยาวนานเกือบสองพันปี

 

กลับมาที่เรื่องราวของเราอีกครั้งหนึ่ง ทั้งขุนนางและศึกษิตกลุ่มดังกล่าวต่างก็ไม่พอใจการใช้อำนาจของเหล่าขันที แต่ก็มิอาจทำอะไรได้ ในขณะเดียวกัน เหล่าขันทีก็รู้โดยตลอดว่าได้มีบุคคลกลุ่มนี้ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับตนเช่นกัน

จากเหตุนี้ เหล่าขันทีจึงเรียกกลุ่มขุนนางและศึกษิตเหล่านี้ว่า ต่างเหญิน (Partisan) ที่หากแปลตรงตัวจะแปลว่า คณะบุคคล แต่ในกรณีนี้หมายถึง คณะอภิชน

อันที่จริงแล้วการที่เหล่าขันทีเรียกขานกลุ่มบุคคลดังกล่าวว่า ต่างเหญิน หรือคณะอภิชนนั้นมีนัยในเชิงลบ ด้วยเห็นว่าบุคคลกลุ่มนี้เป็นปฏิปักษ์กับตน แต่ที่การศึกษาในที่นี้แปลว่า คณะอภิชน ก็เพื่อให้หมายถึงกลุ่มบุคคลที่ได้รับการศึกษาสูงหรืออยู่ในระหว่างการศึกษาขั้นสูง ซึ่งในสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้น การศึกษาขั้นสูงคือการศึกษาความรู้ผ่านตำราของสำนักหญู (ลัทธิขงจื่อ)

และเมื่อสำเร็จการศึกษาและผ่านการสอบแล้ว ผู้ที่สอบได้โดยมากมักจะรับราชการเป็นขุนนางในราชสำนัก บทบาทนี้แม้จะเป็นไปภายใต้อำนาจของจักรพรรดิก็จริง แต่นโยบายหรือประเด็นปัญหาที่สำคัญล้วนผ่านการปรึกษาหารือระหว่างจักรพรรดิกับบุคคลกลุ่มนี้ทั้งสิ้น

ดังนั้น การแปลคำว่า ต่างเหญิน ว่า คณะอภิชน จึงมีนัยที่เกี่ยวประหวัดไปถึงศัพท์ทางรัฐศาสตร์คำว่า อภิชนาธิปไตย (aristocracy) ที่หมายถึง การปกครองโดยคณะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและคุณธรรม คำว่า คณะอภิชน หรือ อภิชน จึงมีความหมายแตกต่างไปจากคำว่า อภิสิทธิ์ชน โดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ การใช้คำว่าคณะอภิชนในที่นี้ก็ยังเกี่ยวประหวัดไปถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้า และเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์จีน

 

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า แม้คณะอภิชนมิอาจทำอะไรเหล่าขันทีได้ก็จริง แต่คณะอภิชนก็ได้เฝ้ารอวันเวลาที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน และแล้ววันเวลาที่ว่าก็มาถึง

กล่าวคือ ในช่วงปีท้ายๆ ของฮั่นหวนตี้นั้น ได้เกิดมีหมอดูคนหนึ่งที่มีความสนิทสนมกับเหล่าขันทีล่วงรู้มาว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการอภัยโทษให้แก่นักโทษทั่วประเทศ หมอดูคนนี้จึงให้บุตรชายของตนไปฆ่าศัตรูของตน แล้วบุตรหมอดูคนนี้ก็ถูกจำกุมโดยขุนนางชื่อ หลี่อิง หนึ่งในคณะอภิชนที่รับใช้ราชสำนักอยู่ในเมืองหลวง

แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีราชโองการประกาศอภัยโทษแก่นักโทษเกิดขึ้นจริง และบุตรหมอดูผู้นี้ก็ได้รับการอภัยโทษด้วย

การอภัยโทษครั้งนี้สุดที่หลี่อิงจะยอมรับได้ ด้วยว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ผลคือ หลี่อิงได้ฝืนราชโองการอภัยโทษด้วยการสั่งให้ประหารชีวิตบุตรหมอดู จากเหตุนี้ หมอดูผู้บิดาจึงอาศัยขันทีที่สนิทกับตนให้จัดการหลี่อิง

ส่วนเหล่าขันทีที่ได้รับการร้องขอจากหมอดูนั้นก็เห็นเป็นโอกาสที่กลุ่มตนจะได้กำจัดคณะอภิชนเช่นกัน จึงได้เข้าเฝ้าพร้อมเพ็ดทูลต่อฮั่นหวนตี้ให้ทรงลงโทษหลี่อิงในฐานที่ขัดราชโองการ

ที่สำคัญ เพื่อเป็นการขจัดเสี้ยนหนามให้ได้มากที่สุด เหล่าขันทียังได้กล่าวโทษไปถึงบุคคลในคณะอภิชนอีกกว่า 200 คนในฐานที่สมรู้ร่วมคิดกับหลี่อิงอีกด้วย แต่ข้อเพ็ดทูลของเหล่าขันทีไม่เป็นที่ยอมรับของขุนนางที่อยู่ในคณะอภิชน

โดยเฉพาะมหาอำมาตย์ที่ชื่อ เฉินฝาน ได้คัดค้านอย่างเด็ดเดี่ยวและไม่ยอมร่วมในการสอบสวนหลี่อิ

 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของคณะอภิชนทำให้ฮั่นหวนตี้พิโรธเป็นที่ยิ่ง พระองค์จึงทรงให้ปลดเฉินฝานจากตำแหน่งขุนนาง ส่วนหลี่อิงและสมัครพรรคพวกในคณะอภิชนให้จับกุมคุมขัง

แต่หลังจากนั้นอีกไม่นานด้วยแรงบีบคั้นจากสังคม ฮั่นหวนตี้ก็ทรงให้ปล่อยตัวหลี่อิงกับคณะอภิชนกว่า 200 คน แต่ก็ทรงลงโทษต่อด้วยการไม่ให้บุคคลเหล่านี้รับราชการไปตลอดชีวิต

ภายหลังจากเหตุการณ์อื้อฉาวดังกล่าวผ่านไปแล้ว ผลที่ตามมาประการหนึ่งคือ กระแสสังคมได้ฝากความหวังไว้กับคณะอภิชนเหล่านี้ ว่าจะสามารถแก้ปัญหาฟอนเฟะที่หมักหมมอยู่ในราชสำนักมาช้านานได้สำเร็จ

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ขณะนั้นกระแสสังคมได้เสมือนกับพุ่งปลายหอกแห่งการต่อต้านเหล่าขันทีไปทั่วแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์อื้อฉาวครั้งนั้นผ่านไปไม่นาน ฮั่นหวนตี้ก็สวรรคต ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิองค์ต่อมาคือ ฮั่นหลิงตี้ (เลนเต้, ค.ศ.167-189) ซึ่งขณะครองราชย์นั้นทรงมีชันษาเพียง 12 พรรษาเท่านั้น

จากเหตุนี้ โต้วไท่โฮ่ว ผู้เป็นราชชนนีจึงทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เรื่องแรกๆ ที่ราชชนนีทรงทำก็คือ การวางแผนกำจัดเหล่าขันทีเพื่อสลายอิทธิพลทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ให้สิ้นซาก

แต่ปรากฏว่า แผนของราชชนนีรั่วไหลรู้ไปถึงหูเหล่าขันที เมื่อเป็นเช่นนี้เหล่าขันทีจึงไม่รอช้าที่จะชิงลงมือก่อน

หาไม่แล้วฝ่ายตนจะไม่มีที่ยืนในทางการเมืองอีกต่อไป

 

เหล่าขันทีลงมือด้วยการสังหารขุนนางที่อยู่ฝ่ายเดียวกับราชชนนีก่อน

และเมื่อแน่ใจแล้วว่าทั้งราชสำนักตกอยู่ในมือของตน เหล่าขันทีจึงได้ทีเข้ารุกไล่คณะอภิชนทันด้วยการป้ายสีว่าคณะอภิชนกำลังวางแผนก่อกบฏ

ผลคือ หลี่อิงกับสหายในคณะอภิชนถูกจับกุม และถูกสังหารระหว่างการสอบสวนอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตกว่าร้อยชีวิต ที่เหลืออีกราว 600-700 คนถูกจองจำโดยไม่มีกำหนดปล่อย ส่วนบุคคลที่มีปฏิสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับคณะอภิชนก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ครั้นถึง ค.ศ.176 ฮั่นหลิงตี้ยังมีราชโองการออกมาว่า ศิษยานุศิษย์หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของขุนนางเดิม พี่น้องกับเครือญาติในสายเลือดเดียวกันห้าชั่วคนคือ ปู่ พ่อ ลูก หลาน และเจ้าตัวของคณะอภิชนให้ปลดออกจากตำแหน่ง พร้อมกับตัดสิทธิ์มิให้เป็นขุนนางอีกต่อไปทั้งหมด

จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์อันเกี่ยวกับบทบาทของคณะอภิชนนี้ยืดเยื้อยาวนานนับสิบปี ก่อนที่อำนาจจะตกอยู่ในมือเหล่าขันทีอย่างเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง