วิเคราะห์ : 5 ปี ‘ข้อตกลงปารีส’ โลกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปถึงไหน?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ต้นเดือนธันวาคมนี้มีเรื่องราวของวงการสิ่งแวดล้อมในมุมบวกๆ ให้ชาวโลกได้ยิ้มออกคลายเครียดจากข่าวร้ายโควิด-19

เรื่องแรกก็คือ นายโจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ และนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ออกมาย้ำแนวทางการต่อสู้ภาวะโลกร้อนตามข้อตกลงปารีส

เรื่องที่ 2 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศแผนพัฒนาประเทศ ผ่านแนวทางการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมดิจิตอล

ทั้งสองเรื่องเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า ผู้นำโลกทั้งสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศหลังวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

 

ช่วงตลอด 4 ปีระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ทำโลกปั่นป่วนอลหม่านเพราะไปสั่งรัฐบาลสหรัฐถอนตัวออกจากกรอบอนุสัญญาประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าข้อตกลงปารีส อ้างว่าโลกร้อนเป็นเรื่องโกหกพกลมและจีนกุข่าวนี้ขึ้นมา

ข้อตกลงปารีสถือว่าสำคัญมาก เพราะมีจุดมุ่งหมายให้นานาชาติร่วมมือสกัดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งทะลุเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส และควบคุมอุณหภูมิโลกไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านั้นก็ยิ่งดี

ข้อตกลงนี้เดินหน้าได้เพียงปีเดียวก็สะดุดกึก เพราะ “ทรัมป์” เททิ้งอย่างที่ว่า

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 5 ปีของข้อตกลงปารีส นายไบเดนประกาศว่า สหรัฐกลับเข้ามาร่วมกับนานาชาติเดินตามข้อตกลงปารีสในทันทีที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า

“ไบเดน” ตระหนักรู้มานานแล้วว่า ภาวะโลกร้อนมีต้นเหตุมาจากการปล่อยก๊าซพิษในปริมาณเข้มข้นสู่ชั้นบรรยากาศ การโค่นป่า และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูง สภาวะภูมิอากาศโลกแปรปรวน เกิดพายุรุนแรง อากาศร้อนจัดแล้งจัด หนาวจัด ฝนตกหนัก กระทบกับชุมชนอเมริกันในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และกระทบต่อความมั่นคงและภาวะเศรษฐกิจ

พายุพัดที่กระหน่ำชายฝั่งสหรัฐ ทำลายบ้านเรือน โรงเรียน สร้างความเสียหายรุนแรงยิ่งกว่าการก่อการร้ายเสียด้วยซ้ำ รัฐบาลอเมริกันต้องส่งกองทหารเข้าไปช่วยกู้ภัย คลี่คลายสถานการณ์

ช่วงระหว่างหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นายไบเดนบอกว่า จะตั้งเป้าหมายให้สหรัฐลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเหลือเป็นศูนย์ไม่เกินปี 2593 มีแผนใช้งบประมาณ 170,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 527,000 ล้านบาทในโครงการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด

“ไบเดน” เชื่อมั่นว่าสหรัฐจะประสบความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์กับแนวทางเศรษฐกิจพลังงานสะอาด โครงสร้างใหม่ของสหรัฐจะเกิดความแข็งแกร่งเพราะเป็นโครงสร้างอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า อาคาร หรือระบบการขนส่งล้วนเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยเพื่อลดการสูญเสียพลังงาน ประหยัดเวลา

รัฐบาลชุดใหม่นำโดย “ไบเดน” ยึดมั่นในหลักวิทยาศาสตร์ ดึงนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐใช้ข้อมูล เครื่องมือและการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาชุมชนเข้าใจในแนวทางต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

นโยบายต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง การค้าหรือการทูตสหรัฐ จะมีประเด็นภาวะโลกร้อนสอดแทรกอยู่ด้วย

ประเทศไหนที่มุ่งมั่นกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การผลิตสินค้าที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซพิษ รัฐบาล “ไบเดน” จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ส่วนประเทศไหนส่งสินค้าที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมจะเจอมาตรการตรวจสอบเข้มข้น

 

ส่วนนายสีจิ้นผิง ผู้นำแดนมังกร ซึ่งเข้ามาแสดงบทบาทเป็นผู้นำโลกแทนนายทรัมป์ในด้านการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนช่วงตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ได้กล่าวคำปราศรัยในวาระครบรอบ 5 ปีข้อตกลงปารีสว่า โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และโควิด-19 เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์และธรรมชาติมีความสัมพันธ์แนบแน่น

ประธานาธิบดีจีนบอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศนั้นเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไงๆ ชาวโลกต้องจับมือกันแก้ไขปัญหา ทุกประเทศต้องยึดหลักการและความรับผิดชอบ ประเทศใหญ่ต้องยื่นมือช่วยประเทศเล็กๆ ให้มีการพัฒนายกระดับศักยภาพและเทคโนโลยี

ทุกฝ่ายต้องหาวิธีการใหม่ๆ ในการฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา สนับสนุนวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการผลิต “คาร์บอนต่ำ”

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นายสีจิ้นผิงเคยประกาศว่า จีนวางเป้าหมายจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับสูงสุดไม่เกินปี 2573 และจากนั้นก็ปรับลดจนเป็นศูนย์ก่อนปี 2603

ปรัชญาใหม่ในการพัฒนาประเทศของจีน จะเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวและพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพสูง

“สวรรค์ไม่ได้พูดแต่จัดแบ่งฤดูกาลให้เราได้อยู่ในสี่ฤดู ดินไม่ได้พูดแต่ให้สรรพสิ่งมีชีวิต” สีจิ้นผิงยกบทกวีจีนมาปิดท้ายในคำแถลงวันครบรอบ 5 ปีข้อตกลงปารีส

 

ข่าวดีอีกเรื่อง มาจากฝั่งนายโยชิฮิเดะ สึกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศแผนพัฒนาประเทศ ผ่านแนวทางการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมดิจิตอลใช้เงินกว่า 2 แสนล้านเยน หรือราวๆ 576,000 ล้านบาทในช่วงระยะ 10 ปีข้างหน้า

“เราจะเห็นพลังงานไฮโดรเยน เป็นแหล่งพลังงานใหม่ เครื่องบินและเรือบรรทุกสินค้า จะใช้ไฮโดรเยนเป็นพลังงานขับเคลื่อน” นายสึกะวาดฝัน

รัฐบาล “สึกะ” ยืนยันจะสนับสนุนในทุกวิถีทางเพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพสูงราคาถูกใช้กับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและเป็นพลังงานทางเลือก เช่นเดียวกับการพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นพลาสติกหรือเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ ยังมีแผนลดหย่อนภาษีให้กับหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนาพลังงานลมและพลังงานความร้อนใต้พิภพ รวมไปถึงการรื้อกฎระเบียบว่าด้วยการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม

ญี่ปุ่นตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ภายใน 30 ปีข้างหน้า และสังคมญี่ปุ่นจะใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ

 

หันกลับมาดูบ้านเรา มีการตั้งเป้าหมายในปี 2563 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามข้อตกลงปารีสให้ได้ 11-20% ในภาคพลังงานและขนส่ง และจะขยับขึ้นเป็น 20% ทุกภาคส่วน ในปี 2573 วางเป้าลดให้ได้ 25%

แต่มีข่าวว่าเป้าที่ตั้งไว้มีปัญหาติดขัด เพราะไม่มีกลไกตรวจวัด การจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซพิษไม่เป็นระบบ ข้อมูลกระจัดกระจาย

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. เลยต้องหาทางออกด้วยวิธีร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อเป็นกลไกให้อำนาจหน่วยงานรัฐเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซพิษจากภาคเอกชน แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่เสร็จ เพิ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความเห็นสาธารณะ

ส่วนโครงการเอารถเก่ามาแลกรถพลังงานไฟฟ้า ที่รัฐบาลเพิ่งออกข่าวโครมๆ ยังไม่ทันเดินหน้าก็เจอกระแสต้านต้องรีบพับเก็บโครงการกะทันหัน ทำให้ชาวบ้านสงสัยว่าถ้ารัฐบาลไม่พร้อมทำไมต้องออกข่าวให้สับสน

ทิศทางแก้ปัญหาการลดโลกร้อนของประเทศไทยยังมีสภาพเป็นอย่างนี้ ทำนายได้เลยว่า อนาคตประเทศจะเจอวิกฤตสิ่งแวดล้อมหนักหน่วงแน่ๆ