ศัลยา ประชาชาติ : มาตรการสุดปังแห่งปี “คนละครึ่ง” เฟส 2 ฉลุย แห่ชิงสิทธิ์ 2 ชั่วโมงเกลี้ยง!

โครงการ “คนละครึ่ง” ถูกออกแบบขึ้นมาโดยกระทรวงการคลัง ด้วยการพัฒนาต่อยอดมาจากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่รัฐบาลเคยใช้กระตุ้นการบริโภคของประชาชนเมื่อปี 2562 กลายเป็นสุดยอดมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย

โจทย์คือ รัฐบาลต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก ด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนของค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป ในลักษณะการร่วมจ่าย (Co-pay) ระหว่างประชาชนและรัฐบาลไปพร้อมๆ กับการผลักดันสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยต่อยอดการใช้งานแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทยที่เดิมเคยใช้กับ “ชิม ช้อป ใช้” มาก่อนแล้ว

ในเฟสแรก ตั้งงบประมาณไว้ 30,000 ล้านบาท กำหนดจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ไว้ที่ 10 ล้านคน โฟกัสที่กลุ่มเป้าหมาย “ผู้มีรายได้ปานกลาง”

โดยรัฐจะร่วมจ่าย 50% ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนตลอดโครงการ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท หนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเพิ่ม 0.18%

ที่สำคัญ การตีกรอบจำกัดเฉพาะร้านค้ารายย่อย ไม่ยอมให้โมเดิร์นเทรด หรือมินิมาร์ต ธุรกิจของบรรดาเจ้าสัวต่างๆ เข้าร่วมโครงการได้ จุดนี้ยิ่งทำให้เกิดเสียงขานรับ “เชิงบวก” จากประชาชนอย่างมาก แม้ว่าในช่วงแรกๆ ทำท่าจะ “สะดุด ไม่ลื่นไหล” เหมือนกับอีกหลายโครงการของรัฐบาลก็ตาม

แต่พอเข้าที่เข้าทางแล้ว เสียงตอบรับก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2563 พบว่ามีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 9.7 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 9,537,093 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 43,330.80 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่ประชาชนจ่าย 22,156.50 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 21,174.3 ล้านบาท

โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สงขลา, ชลบุรี, เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ

จากเสียงตอบรับในเชิงบวกที่มีหนาหูมากขึ้น รัฐบาลจึงตัดสินใจเร่งเข็น “คนละครึ่ง เฟส 2” ออกมา เพื่อเลี้ยงกระแสคะแนนนิยมให้ต่อเนื่อง โดยขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 5 ล้านคน และเพิ่มวงเงินใช้จ่ายให้เป็น 3,500 บาท รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับสิทธิ์ในเฟสแรกอีก 10 ล้านคนเข้าร่วมโครงการเฟส 2 ได้ด้วย ซึ่งจะได้รับเงินเพิ่มอีก 500 บาท

และชิงเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 แล้วค่อยให้ผู้ได้รับสิทธิ์ไปใช้จ่ายในช่วงไตรมาสแรกปี 2564

 

ซึ่งก็เป็นไปตามคาด คือคนแห่ลงทะเบียนกันอย่างหนาแน่น จนเต็มสิทธิ์ 5 ล้านคนภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ทั้งโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมทั้งการเติมเงินใส่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาท ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม 2564 จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 120,000 ล้านบาท

ซึ่งรัฐบาลใช้งบประมาณจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ในส่วนของที่เป็นวงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมมาดำเนินโครงการดังกล่าว ราว 1 แสนล้านบาท

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการคนละครึ่ง และการเพิ่มกำลังซื้อผ่านการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะส่งผลต่อการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 การบริโภคติดลบน้อยลงที่ -0.6% จากเดิมที่ติดลบค่อนข้างมากในไตรมาสที่ 2

“การกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2564 จะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของประชาชน ทำให้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาเป็นบวกได้ 0.2%” น.ส.กุลยากล่าว

ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 41.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับดัชนีในปัจจุบัน บ่งชี้ว่า แม้ว่าครัวเรือนจะมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะการครองชีพในปัจจุบัน แต่ในระยะข้างหน้าความมั่นใจของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพยังไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากนัก

อีกทั้งครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อภาระการชำระหนี้ภาวะค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมภาระหนี้ และระดับราคาสินค้า

 

ทั้งนี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ จะช่วยหนุนให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงที่เหลือของปีกลับมาคึกคักมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนอีกในหลายด้าน ทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ขณะที่ความหวังเรื่องวัคซีนยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตามอีกมาก ขณะที่ภาคธุรกิจที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมได้เป็นปกติส่งผลให้ตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง ดังนั้น มาตรการต่างๆ ภาครัฐจึงยังมีความจำเป็น

เสียงตอบรับที่ดี ทำให้เชื่อได้ว่า รัฐบาลน่าจะใช้ “คนละครึ่ง” เป็นหัวหอกในการปลุกเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าต่อไปอีก เหมือนกับที่เคยใช้ “ช้อปช่วยชาติ” ติดต่อกันมาหลายปี

และเชื่อว่า “คนละครึ่ง” เฟส 3 ก็อาจต้องตามออกมาในเร็ววันด้วยเช่นกัน