เครื่องเคียงข้างจอ : รัฐธรรมนูญไทย / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

รัฐธรรมนูญไทย

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็น “วันรัฐธรรมนูญ”

หนึ่งในข้อเรียกร้องของม็อบในยามนี้ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไข ที่ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับการ “แก้ไข” หรือไม่ หรือ “แก้มากน้อยแค่ไหน” เพราะในสภายังเล่นเกมยื้อกันอยู่เลย

หากรัฐธรรมนูญมีการแก้ไขจริง จัดทำขึ้นใหม่ ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 22 ของราชอาณาจักรไทยแล้ว ห่างจากฉบับแรกเมื่อปี 2475 เกือบ 90 ปี

เฉลี่ยแล้วเราจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ทุกๆ 4 ปีก็ว่าได้ เป็นประเทศที่ใช้กฎหมายสูงสุดในการบริหารบ้านเมืองเปลืองมากที่สุดก็ว่าได้

ที่ต้องสิ้นเปลืองขนาดนี้ ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ หรืออยู่ที่คนร่าง หรือคนใช้ หรือในที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญก็เป็นสิ่งสมมุติขึ้นมาเพื่อใช้ในการวางกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันเท่านั้น

หากคนเรามีจิตสำนึกที่ดี รู้ผิดรู้ชอบ รู้ดีรู้ชั่ว ก็คงไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อะไรมาครอบกันมากมาย มโนสำนึกนั้นจะควบคุมตัวเองได้

แต่ดูแล้วคงจะยาก เพราะคนไทยเรามักมีพฤติกรรมที่ “ขาดสำนึก” อะไรได้ขนาดนั้น ช่างไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย นอกจากเห็นแต่ความพอใจของตนเอง

ไม่อย่างนั้นคงไม่มีคนอย่าง “สาวติดโควิด” แล้วแอบเล็ดลอดเข้ามา แถมยังพาตัวเองไปสำเริงสำราญ เที่ยวเตร็ดเตร่ไปตามที่ต่างๆ ราวกับช่วยสนองโครงการไทยเที่ยวไทยอีกด้วย

แต่น้องเที่ยวไทยทั้งที่ตัวเองติดโควิดอย่างนี้ เป็นการทำไทยฉิบหายมากกว่านะน้อง

ผมเคยฟังบทเพลงหนึ่งของศิลปินโปรดของผม พี่เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ชื่อเพลงเก๋ๆ ยาวๆ ว่า “เนื่องด้วยอากาศมันร้อน ตอนบ่ายวันหนึ่ง” ในอัลบั้มคนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต เมื่อ 33 ปีก่อน แต่เนื้อหาของทั้งอัลบั้มมาฟังตอนนี้ก็ยังทันสมัยอยู่เลย

อย่างเพลงที่ว่านี้มีเนื้อร้องไม่กี่ประโยคที่บอกว่า…

“เพียงคิดๆ ไป บ่ายวันหนึ่ง คิดตอนตำรวจตรวจการณ์ และคนพาลผ่านหน้าไป
ใจคิดไยต้องมีทหาร รบฆ่าฟันประจัญบาน เพื่อให้บ้านเมืองพ้นภัย
ใจคิดไยต้องมีกฎหมาย ให้เรากำหนดลงไป ชี้ให้ทำสิ่งใดๆ
ไยโลกทั้งใบ จึงต้องใช้ ทุกๆ วันที่ผ่านไป ล้วนต้องให้กฎหมายคุม”

นั่นสิครับ ทำไมต้องมีกฎหมายมาคุมด้วยนะ หากคนเรารู้ผิดรู้ชอบที่ว่า

เพราะเหตุนี้กระมัง รัฐธรรมนูญของเราจึงต้องขยันเปลี่ยนบ่อยๆ เพราะคนของเราชอบแหกกฎ แหกคอก ซิกแซ็กเอาผลประโยชน์ โกงได้โกง

เหมือนที่ใครหลายคนไม่ไว้วางใจ “นักการเมือง” ก็คงเพราะอย่างนี้

รวมทั้งมีพวกที่ไม่ไว้ใจ “ทหาร” ที่มาปกครองบ้านเมืองก็มาก ก็อาจจะเพราะอย่างนี้ด้วยก็ได้รึเปล่า ไม่รู้

ย้อนไปรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 คือ 3 วันหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยใช้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” ก่อนจะพระราชทานฉบับจริงที่เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกในวันที่ 10 ธันวาคม ในปีเดียวกัน

หลังจากได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ขณะประทับอยู่ที่สหราชอาณาจักร หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ พระองค์ทรงมีเหตุผลในการตัดสินพระทัย ตามความในพระราชหัตถเลขา ดังนี้

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เปนอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเปนของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เปนพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวง อันเปนของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์”

จากวันนั้นจนมาถึงวันนี้ ก็มิอาจพูดได้เต็มปากว่าอำนาจที่แท้จริงเป็นของประชาชน แม้จะได้มีความพยายามในการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อยู่เนืองๆ ก็ตาม ก็อย่างที่บอกนั่นแหละว่า มันอยู่ที่ “คน” ไม่ใช่อยู่ที่ตัวอักษร

รัฐธรรมนูญที่เป็นหนึ่งของการ “ชักเย่อ” กันอยู่นี้ ไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ อย่างไร กลัวแต่ว่ายิ่งเวลาเนิ่นนานไปแล้วยังไม่มีทางออกที่ดีพอ สุดท้ายอาจต้องถึงขั้นปะทะต่อสู้และปราบปรามขึ้นมาก็ได้ เมื่อนั้นมาถึงเมื่อไหร่ก็เตรียมตัว “ฉิบหาย” กันได้ครับพ่อแม่พี่น้อง

การต่อสู้กันระหว่างคนต่างความคิดแบบสุดขั้ว น่ากลัวที่ไม่รู้ว่าทางออกตรงกลางอยู่ตรงไหน หวังว่าประเทศของเราจะไม่ก้าวล้ำไปถึงขั้นนั้น จนบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองเหมือนที่หลายๆ ประเทศเจอมา

ลำพังแค่สู้กับ “วินัยของคน” ในการหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เล่นเอาเดือดร้อนกันค่อนประเทศ เห็นคนที่ได้รับผลกระทบจังๆ ออกมาระบายแบบอัดอั้นสุดๆ แล้วให้เห็นใจจริงๆ

อย่างคนทำการค้า เตรียมเปิดร้านเพื่อบริการหรือขายสินค้าให้คนมาเที่ยวก็ต้องปิดต้องเลิกเสียอย่างนั้น เพราะคนไม่กล้ามา ที่เป็นความหวังอันริบหรี่อยู่บ้าง ก็พลันดับลงโดยสิ้นเชิง เหมือนเป่าเค้กวันเกิดยังงั้น

ศิลปินนักร้อง ที่พอจะเริ่มหายใจหายคอได้บ้างจากการจ้างงานแสดงหรือโชว์ตัวก็มีอันถูกยกเลิก รวมทั้งคนที่เกี่ยวข้องในทุกตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กจอดรถ เด็กในร้าน ไปจนถึงคนขายวัตถุดิบต่างๆ ในการทำมาค้าขาย

ได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้มีการระบาดรอบสองเหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเลย

แม้จะมีข่าวดีเรื่อง “วัคซีน” ที่เริ่มชัดเจนขึ้น แว่วๆ ว่าประเทศไทยอาจจะมีโอกาสได้รับวัคซีนกันกลางปีหน้าก็ตาม แต่นั่นยังอยู่อีกไกล และไม่ใช่ว่าได้รับวัคซีนปุ๊บ ทุกอย่างดีขึ้นทันตาเสียเมื่อไหร่

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ยังต้องให้ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาและรอต่อไป

แต่วัคซีนที่ป้องกัน “ความเห็นแก่ได้ของใจเรา” นี่ ไม่ต้องรอเวลา ไม่ต้องรอใครพัฒนา เราเองสามารถผลิตมันขึ้นมาได้เลยตั้งแต่วินาทีนี้

โดยการศึกษาหลักธรรมะของพุทธศาสนา และฝึกกำหนดจิตใจเราไม่ให้ยึดติด อยากได้อะไรมากเกินไป เอาเปรียบรังแกคนอื่น เอาประโยชน์เข้าตัว

เพียงเท่านี้ โลกก็จะสุขสงบขึ้นได้ พี่เอก ธเนศก็คงจะไม่ต้องสงสัยว่า “ทำไมต้องใช้กฎหมายคุม” จนร้องถามออกมาเป็นเพลงเหมือนข้างต้น

และเพียงเท่านั้น เราอาจจะไม่ต้องเดือดร้อนตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็โกลาหลในการทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้มีคนคัดค้านออกมาเดินขบวนให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอีกไม่รู้กี่รอบ

เพียงแต่ว่า เราสำนึกเองได้ด้วยความรู้จักผิดชอบชั่วดี

เมื่อนั้นโลกของเราคงจะศิวิไลซ์น่าอยู่อีกมากเลย

เห็นด้วยไหม ถ้าใครเห็นด้วยช่วยยกมือขึ้นหน่อย จะได้นับคะแนน นี่ผมก็ประชาธิปไตยกับเขาเหมือนกันนะครับ