อนุช อาภาภิรม : ขงจื้อสอนอะไรเกี่ยวกับเรื่องนิเวศวิทยา

วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (2)
ความรู้และท่าทีของมนุษย์ต่อระบบนิเวศ

ธรรมชาติและระบบนิเวศด้านหนึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ทางภววิสัย ไม่ขึ้นอยู่กับใจปรารถนาของเรา แต่ในอีกด้านหนึ่งเรื่องทางจิตวิสัย เป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของมนุษย์ ในการเข้าใจ กำหนดท่าทีและการปฏิบัติต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ

การสะสมความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ช่วยให้มนุษย์มีความรู้ลึกรู้รอบเห็นความสัมพันธ์ในธรรมชาติและระบบนิเวศใกล้กับความเป็นจริงมากขึ้น

จนคล้ายกับว่ามันเป็นข้อเท็จจริงหรือความเป็นจริง แต่ก็ควรถือว่ามันเป็นความรู้และท่าทีของมนุษย์

ในทางปฏิบัติหรือการเป็นจริงที่สังเกตเห็น ก็คือสัตว์ในธรรมชาติมีด้านที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัว

เช่น ปลวกสร้างจอมปลวก มดสร้างรัง ผึ้งสร้างรวง บีเวอร์สร้างเขื่อน ปะการังสร้างแนวเกาะ เป็นต้น

คนก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกับสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ตั้งแต่เริ่มแรกมีทั้งด้านนับถือยำเกรงธรรมชาติ เช่น การบูชาแม่น้ำ ภูเขา ป่าดง ไปจนถึงสัตว์ต่างๆ ได้แก่ งู นกอินทรี เสือ รวมทั้งสัตว์ในจินตนาการ เช่น มังกร

แต่ก็มีด้านที่เป็นผู้ล่าและเก็บของป่ามาเลี้ยงชีพ ควบคุมธรรมชาติและใช้ประโยชน์เพื่อชีวิตที่เป็นสุขขึ้นของตน จนสร้างตึกระฟ้าและสถานีอวกาศขึ้น

ความรู้และท่าทีของมนุษย์ต่อธรรมชาติ อาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง/ชุดใหญ่

ช่วงแรก ในสังคมเกษตรที่เริ่มต้นเมื่อราวหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว ความรู้และท่าทีของมนุษย์ในช่วงนี้ มีลักษณะให้ความยำเกรงต่อธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็เปิดให้มนุษย์เข้ามาจัดการกับธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สุขของสังคมและผู้คน โดยผ่านการติดต่อและขออนุญาตจากฟ้าและดิน ไปจนถึงวีรชนบรรพบุรุษ

ความรู้ในชุดนี้ปรากฏทั่วโลก แต่จะยกความคิดลัทธิขงจื่อของจีนเป็นตัวอย่าง เนื่องจากความคิดนี้มีการพัฒนาไปอย่างสูง มีความต่อเนื่องหลายพันปี ที่สำคัญ ผู้นำจีนปัจจุบันได้รื้อฟื้นลัทธินี้ว่าเป็นรากทางวัฒนธรรมของจีน (ต่างกับสมัยประธานเหมาที่รังเกียจลัทธินี้ และชื่นชมลัทธิกฎหมายนิยมหรือลัทธิเนติธรรมในสมัยจักรพรรดิจิ๋นซีมากกว่า) ดังนั้น ลัทธินี้ยังมีชีวิตทางการเมือง-วัฒนธรรมอยู่ ซึ่งย่อมมีผลต่อความเป็นไปในโลกในระดับที่แน่นอน

ช่วงที่สอง ตั้งแต่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมหรือยุคสมัยใหม่ของตะวันตกเมื่อราว 500 ปีมาแล้ว ความคิดชุดนี้เลิกการยำเกรงต่อธรรมชาติ เน้นความเข้าใจธรรมชาติจากความรู้เชิงประจักษ์ เพื่อการควบคุมจัดการธรรมชาติแวดล้อม โดยปัจเจกบุคคลร่วมสร้างชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีขึ้น

นักวิชาการบางคนเรียกว่า “นิเวศวิทยาแบบจักรวรรดิ” (Imperial Ecology)

ผู้วางรากฐานความคิดนี้เริ่มจากฟรานซิส เบคอน (1561-1621) นักปรัชญาชาวอังกฤษ แนวคิดนี้ขึ้นสู่กระแสสูงในจักรวรรดิอังกฤษระหว่างปี 1895-1945

ช่วงที่สาม เป็นช่วงหลังสมัยใหม่ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น มองธรรมชาติและระบบนิเวศแบบเป็นตัวมัน มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการวิจัยและสะสมความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศยาวนาน รวมทั้งเครื่องมือและวิธีการศึกษาก็ได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก

ความคิดชุดนี้ถือระบบนิเวศและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลาง

มนุษย์จำต้องปรับท่าทีและพฤติกรรมให้สอดคล้องกับหลักการของธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความคิดนี้กล่าวได้ว่าเริ่มจากกิลเบิร์ต ไวต์ (1720-1793) นักธรรมชาติและนิเวศวิทยาชาวอังกฤษ มาจนถึงขบวนการนิเวศเชิงลึก และขบวนการก่อกบฏภาวะโลกร้อนแบบอารยขัดขืน หรือกลุ่ม เอ็กซ์ติงชั่น รีเบลเลียน

การกล่าวถึงความรู้และท่าทีเป็น 3 ช่วงดังกล่าว เป็นเพียงการจำแนกเพื่อให้เห็นลักษณะเฉพาะในแต่ละช่วง ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเข้ามาแทนที่เป็นลำดับไป เช่น ลัทธิขงจื่อก็มีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ไปจนถึงการฟื้นฟูความรู้และท่าทีของชนพื้นเมืองส่วนน้อยหรือชนเผ่าต่างๆ ในการดูแลอนุรักษ์ธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งเห็นกันว่ามีแก่นเนื้อหาที่ยังใช้ได้ในปัจจุบัน

หรือลัทธินิเวศวิทยาเชิงจักรวรรดิ แม้ว่าถูกโจมตีว่าเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก แต่ก็ยังคงต้องปฏิบัติต่อไป เพราะว่ามนุษย์จำเป็นต้องดัดแปลงและใช้ธรรมชาติเพื่อความอยู่ดีของตน

อย่างไรก็ตาม นิเวศวิทยาแบบยั่งยืนที่ดูดี และมีขบวนการสิ่งแวดล้อมจำนวนมากปฏิบัติอย่างเข้มแข็งจริงใจ ส่งผลสะเทือนระดับหนึ่ง แต่ก็ยังน้อยเกินไปกว่าที่จะแก้วิกฤตินิเวศอย่างทันกาล

 

ลัทธิขงจื่อกับนิเวศวิทยา

ขงจื่อเป็นปราชญ์ใหญ่ของจีนมีชีวิตระหว่าง 551-479 ก่อนคริสตกาล เขาให้ความสำคัญสูงต่อมนุษย์ เห็นว่ามนุษย์เป็นตัวเชื่อมระหว่างฟ้าและดิน เป็นผู้ทำให้ระเบียบของทั้งฟ้าและดินดำรงอย่างได้สมดุล มนุษย์เป็นศูนย์กลางผู้จัดการทั้งฟ้าและดิน

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม มนุษย์มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและรัฐบาล

ฮ่องเต้ หรือสถาบันฮ่องเต้เป็นตัวแทนรับผิดชอบในการจัดระเบียบนี้ ภายใต้วงใหญ่ของธรรมชาติ

ประเทศจีนที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ได้ประสบปัญหาทางนิเวศรุนแรงยิ่ง คล้ายกับประเทศอื่นทั่วโลก เกิดมลพิษทางอากาศ ทำให้เมืองใหญ่ที่งามตระการ อย่างเช่นเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งหมดความน่าอยู่เป็นอันมาก

จีนได้มีความคิดที่จะฟื้นฟูความรู้และท่าทีการปฏิบัติต่อธรรมชาติจากลัทธิขงจื่อ

ในปี 2013 มีการจัดตั้งองค์การพันธมิตรระหว่างประเทศทางนิเวศวิทยาแบบขงจื่อ (ICEA) ที่ขุนเขาซงซานอันศักดิ์สิทธิ์ในมณฑลเหอหนาน (ที่ตั้งวัดเส้าหลิน) โดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐ และมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีนเป็นแกน

ในเดือนกรกฎาคม 2013 องค์การพันธมิตรระหว่างประเทศทางนิเวศวิทยาแบบขงจื่อ ได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมพันธมิตรทางศาสนาและการอนุรักษ์ (ARC) และได้เสนอ “คำแถลงว่าด้วยคำสอนของขงจื่อด้านนิเวศวิทยา” ในการประชุมของสมาคมที่ประเทศนอร์เวย์ เดือนกรกฎาคม 2013

สรุปคำสอนของขงจื่อว่าด้วยนิเวศวิทยาไว้ ว่ามี 8 ประการดังนี้

 

1)การมีชีวิตที่ใส่ใจ รับผิดชอบและดีงาม ขงจื่อกล่าวว่า “เมื่อชีวิตของบุคคลได้รับการอบรมและจัดระเบียบโดยครอบครัว เมื่อครอบครัวถูกจัดระเบียบรัฐที่ถูกปกครอง เมื่อมีรัฐถูกปกครองแล้วเท่านั้นจึงจะเกิดสันติสุขแก่ทุกคนภายใต้ฟ้า ดังนั้น จากโอรสสวรรค์สู่สามัญชน ทุกคนจะต้องยึดถือการอบรมตนเองเป็นรากฐาน”

2) การโน้มน้าวไปสู่ความรับผิดชอบและความใส่ใจ หรือความคิดแบบมนุษยนิยมที่ถือหลักที่กระทำต่อผู้อื่นเหมือนกระทำต่อตัวเอง ขงจื่อกล่าวว่า “เมื่อปฏิบัติต่อผู้คนอย่างให้เกียรติ พวกเขาก็จะให้ความนับถือ เมื่อเป็นบุตรที่ดีและบิดาผู้เมตตา พวกเขาก็จะมีความภักดีเลี้ยงดูผู้ปฏิบัติดีและฝึกฝนผู้ขาดความสามารถ พวกเขาจะมีความขยันขันแข็ง”

3) การทำงานโดยผ่านโครงสร้างของโลก ไม่ใช่อยู่เหนือโลก ให้ความสำคัญแก่ความสำเร็จที่ก้าวพ้นจากความเห็นแก่ตัว การเล่นพวก การจำกัดแต่ในศาสนา การยึดถือชาติพันธุ์ ลัทธิชาตินิยม ลัทธิภูมิภาคนิยม และลัทธิถือมนุษย์ เป็นศูนย์กลาง

4) มนุษย์ชาติเป็นส่วนหนึ่งหรือหุ้นส่วนของฟ้าและดิน

5) โลกนี้มีชีวิต เม่งจื๊อปราชญ์ใหญ่ในลัทธิขงจื่อกล่าวบรรยายว่า แม้หมู่ไม้บนเขาวัวถูกตัดทำลาย แต่สายลมเย็นที่พัดโชยทั้งวันและคืนกับความชุ่มชื้นจากสายฝนก็ทำให้เกิดพืชพันธุ์ใหม่ แม้ฝูงวัวและแกะจะเคี้ยวกลืนทุ่งหญ้าเหี้ยนหาย ผู้คนคิดว่าเขาวัวนี้เตียนโล่งแล้ว แต่ความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง

6) โลกนี้เป็นมรดกอันล้ำค่า

7) ความสัมพันธ์ที่สอดประสานระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผู้นับถือลัทธิขงจื่อเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์ได้มาจากสวรรค์ และบุคคลสามารถเข้าถึงทางแห่งสวรรค์ได้โดยการรู้จักตนเอง พวกเขายังเชื่อว่าการเข้าใจโองการสวรรค์ บุคคลจะต้องฝึกอบรมตนเองอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเข้าถึงหลักสามประการคือสวรรค์ โลก และมนุษย์ ธรรมชาติเป็นกระบวนเปลี่ยนผ่านที่ไม่รู้จบ ให้แรงบันดาลใจถึงสันติ ความมีชีวิตชีวา และการสร้างสรรค์ของสวรรค์

8) ขงจื่อกล่าวว่า “ทำสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม แล้วทุกสิ่งจะดีเอง”

(ดูบทความชื่อ What does Confucianism teach about ecology? ใน arcworld.org 2013)

 

การฟื้นฟูลัทธิขงจื่อของจีน ที่ปฏิบัติก่อนหน้านั้นอย่างกว้างขวาง และก่อความรู้สึกขัดแย้งสูง ได้แก่ การตั้งศูนย์และห้องเรียนขงจื่อในนานาประเทศ เริ่มครั้งแรกในประเทศเกาหลีใต้ในปี 2004 ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อการสอนภาษา และการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน

เมื่อถึงปี 2017 มีรายงานว่าจีนได้ตั้งสถาบันนี้มากกว่า 530 แห่ง และห้องเรียนขงจื่อกว่า 1,100 แห่ง ใน 149 ประเทศตั้งแต่อาร์เจนตินาไปจนถึงซิมบับเว

ทางการสหรัฐเห็นในด้านลบมากว่า สถาบันขงจื่อซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลจีน (ผ่านหน่วยงาน “ฮั่นปั้น” ของกระทรวงศึกษาธิการ) ได้เข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยวิธีที่ร้ายกาจและเผด็จการขึ้นเรื่อยๆ

นายเท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกสหรัฐ กล่าวว่า “จีนคอมมิวนิสต์กำลังแทรกซึมเข้ามาในมหาวิทยาลัยของอเมริกัน เพื่อก้าวก่ายหลักสูตรของเรา ปกปิดการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบปกครองของจีน ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และผลงานวิจัยแบบใช้ได้สองทางที่ละเอียดอ่อน”

(ดูบทความของคณะบรรณาธิการฟอรัม ชื่อ “การเผยแพร่แนวคิดด้วยโฆษณาชวนเชื่อ” ใน ipdefenseforum.com 11/11/2019)

การระแวงต่อสถาบันขงจื่อยังได้ลามไปถึงอินเดีย

สำนักข่าวซินหัวภาษาไทยได้รายงานข่าวเดือนสิงหาคม 2020 ชื่อ “สถานทูตจีนร้องอินเดียงดเว้นการโยงสถาบันขงจื่อเอี่ยวการเมือง” ความว่า จีนมีความกังวลที่อินเดียประกาศทบทวนโครงการความร่วมมือการศึกษาจีน-อินเดีย รวมทั้งสถาบันขงจื่อเสียใหม่ โดยหวังว่าทางอินเดียจะปฏิบัติต่อโครงการนี้อย่าง “เป็นกลางและยุติธรรม…(และ) หลีกเลี่ยงการนำความร่วมมือมาโยงเข้ากับการเมือง”

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการทบทวนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีกรณีปะทะกันที่หุบเขากาลวาน ภูมิภาคลาดักห์ เทือกเขาหิมาลัย ชายแดนจีน-อินเดีย ที่ทหารอินเดียเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง คาดว่าความหวาดระแวงกันคงไม่จบง่าย

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการฟื้นฟูลัทธิขงจื่อโดยรวมและนิเวศวิทยาแบบขงจื่อ 4 ประการได้แก่

ก) การฟื้นลัทธิขงจื่อ มีผลดีต่อการนำและเกียรติภูมิของชาติจีนหลายประการได้แก่ ทำให้จีนย้อนรากทางอารยธรรมของตนไปหลายพันปี ไม่ใช่มีแต่จีนใหม่หลังการปลดปล่อยไม่ถึง 100 ปี

ข) ทำให้จีนสามารถก้าวกระโดดขึ้นมามีบทบาทสูงในด้านวิชาการและหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยรวมเอาความรู้สมัยใหม่จากตะวันตกและการศึกษาของตนเองเข้ามา เช่น การเสนอเรื่องอารยธรรมนิเวศ เคียงคู่กับแนวคิดและการเคลื่อนไหวของตะวันตกหลายสำนัก เช่น อารยธรรมหลังอุตสาหกรรม อารยธรรมหลังทุนนิยม

ค) แม้ลัทธิขงจื่อจะมีคำสอนที่ดีงามจำนวนมาก แต่ลัทธินี้เกิดขึ้นเพื่อธำรงรักษาสังคมที่มีลำดับชั้นแบบสังคมเกษตร แต่สังคมปัจจุบันมีลักษณะเป็นสังคมโครงข่าย มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั่วโลก การฟื้นฟูลัทธิขงจื่อจึงไม่ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นภายในพรรคและประเทศ รวมทั้งความขัดแย้งของมหาอำนาจในการชิงความเป็นใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ได้มากนัก

ง) โควิด-19 แสดงชัดเจนว่า วิกฤตินิเวศมีความรุนแรงและไม่อาจรับมือได้ด้วยวิธีการปรกติ ทั้งจีนเองต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเพื่อให้ไล่ทันประเทศร่ำรวย ซึ่งย่อมต้องก่อมลพิษและของเสียเพิ่มขึ้น จากเหตุปัจจัยเหล่านี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จีนจะประสบความสำเร็จในการเติบโตทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดีเหมือนที่ผ่านมา

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงนิเวศวิทยาเชิงจักรวรรดิ