อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ / มองโลกในปี 2021 ผ่าน “นาโต้รีพอร์ต 2030” ยุทธศาสตร์ต่อไปคืออะไร?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเป็นใครระหว่างนักการเมืองพลเรือนหรือนักการเมืองในเครื่องแบบ ผู้นำการเมืองไทยย่อมมีโลกทรรศน์และชีวทัศน์เหมือนกัน

ดังนั้น ผู้นำใหม่หรือเก่าย่อมทำอะไรไม่ได้มากนักภายใต้โครงสร้างการเมืองเดิม

ในเวลาเดียวกัน ชนชั้นนำก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม ที่ประกอบด้วยชนชั้นนำทางการเมืองส่วนบนพีระมิดอำนาจและพันธมิตรทุนใหญ่

ถึงกระนั้นก็ตาม เราควรมองไปข้างนอกและมองไปข้างหน้าอย่างน้อยในปีหน้าว่า โลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้าง

หากมองโลกข้างนอก อาจช่วยให้รัฐเล็กๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทบทวนตัวเองในสภาพของรัฐที่มีศักยภาพต่ำลง ทรัพยากรสูญสลาย ทว่า เป็นรัฐอันอุดมไปด้วยโรค ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาดใหญ่โควิด

และโรคติดหล่มอุดมการณ์การเมืองก่อนกำเนิดรัฐชาติ

 

นาโต้รีพอร์ต 2030

อันว่า นาโต้รีพอร์ต หรือ NATO Report 2030 ที่ว่านี้เป็นรายงานที่จัดเตรียมโดยกลุ่มคนที่เป็นคนมีปัญญา และข้อเสนอจำนวน 138 ชุดที่ผลิตขึ้นมาในช่วงระหว่างการเพิ่มขึ้นของปัญหามากมายต่อข้อเสนอและความสำคัญขององค์การ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ปีที่แล้ว (2019) จากประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ที่ถูกกล่าวหาว่า สมองตาย

จากนาโต้รีพอร์ตฉบับนี้ ตั้งต้นกันว่า จีนไม่ได้เป็นคู่ค้าผู้อ่อนโยน ดังที่ชาติตะวันตกคาดหวังไว้ในเวลาเดียวกัน

รายงานชี้ว่า การทะยานขึ้นแห่งศตวรรษของสหภาพยุโรป (Century of EU) และองค์การนาโต้ที่ต้องปรับเปลี่ยน เนื่องจากกิจกรรมของจีนในทวีปอาร์กติก (Arctic) (ขั้วโลกเหนือ) และแอฟริกาและการลงทุนอย่างหนักด้านโครงสร้างพื้นฐานในยุโรป

มีรายงานเสนอว่า การตอบสนองบางส่วนของนาโต้ที่ควรทำคือ นาโต้ควรรักษาความได้เปรียบทางเทคโนโลยีเหนือจีน ปกป้องโครงข่ายคอมพิวเตอร์และโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศพันธมิตร ประเทศสามารถผลักดันความผูกพันใกล้ชิดมากขึ้นกับประเทศที่อยู่นอกนาโต้ (non-NATO) หรือเช่น ออสเตรเลีย และเน้นการต่อต้านมากขึ้นในอวกาศที่ที่จีนกำลังพัฒนาทรัพย์สินของตนในห้วงอวกาศ

มีปฏิกิริยาต่อรายงานนาโต้รีพอร์ตที่น่าสนใจได้แก่ คำวิจารณ์ของเลขาธิการ Jens Stoltenberg กล่าวว่า

“…การทะยานขึ้นของจีนได้ถามแก่เรา เป็นความท้าทายสำคัญต่อความมั่นคงของเรา…จีนกำลังลงทุนอย่างมหาศาลด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ โดยอาวุธนั้นมีความใกล้เคียงต่อนาโต้ ทั้งที่จากทวีปอาร์กติกถึงทวีปแอฟริกา จีนนั้นไม่ได้แบ่งปันคุณค่าใดๆ ของเทคโนโลยีอาวุธแก่นาโต้…และ (จีน ขยายความโดยผู้เขียน) พยายามขู่ขวัญประเทศอื่นๆ…”

น่าสนใจมาก มีการเสนอให้นาโต้ศึกษาค้นคว้าเอกสารสำคัญต่างๆ หลายชิ้น เอกสารสำคัญอ้างถึงเอกสารทางยุทธศาสตร์หลักของนาโต้ชื่อว่า Strategic concept ซึ่งปรากฏในรายงานนาโต้รีพอร์ตซึ่งประเมินว่าอาจนำมาใช้กับการทะยานขึ้นของจีนในยุโรป

 

นานาความตึงเครียด

ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจอื่นๆ ในนาโต้รีพอร์ต ซึ่งแนะนำว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของนาโต้พบปะกันบ่อยขึ้นและจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งต่อบทบาทของเลขาธิการนาโต้ให้เป็น ผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ แม้ว่ายุคสมัย America First ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สิ้นสุดลง

อีกทั้งชาวยุโรปทั้งหลายให้การต้อนรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ได้ Atlanticist หรือผู้นิยมแอตแลนติสอย่างนายโจ ไบเดน ทว่า ความตึงเครียดต่างๆ ในประเด็นความสามารถของนาโต้ที่จะกระทำการต่างๆ ยังคงมีอยู่ต่อไป

การที่มีความโกรธแค้นของผู้นำชาติต่างๆ ในยุโรปต่อการตัดสินใจของตุรกีในการจัดซื้อระบบอาวุธของรัสเซียเมื่อไม่นานนี้ จนมาถึงข้อสงสัยต่างๆ นานาต่อสหรัฐอเมริกาด้านความผูกพันและยึดมั่นของประเทศต่างๆ ในยุโรปด้านร่วมการป้องกันตนเอง

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า ความมั่นคงของยุโรปสั่นคลอนมากในช่วงนี้เพราะพันธมิตรสำคัญของนาโต้อย่างตุรกีกลับแปรพักตร์ไปใกล้ชิดกับรัสเซีย โดยการสั่งซื้อระบบอาวุธต่างๆ ของรัสเซีย แทนที่จะซื้อจากสหรัฐอเมริกา

ในเวลาเดียวกัน ข้อสงสัยความผูกพันระหว่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่อระบบป้องกันทางทหารร่วมก็ยังเกิดขึ้นในแวดวงผู้นำทางนโยบายในยุโรปมาตลอด

อาจกล่าวได้ว่า บทบาทหลักของนาโต้ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1949 เพื่อสกัดกั้นการคุกคามทางทหารของสหภาพโซเวียตสมัยสงครามเย็นถูกตั้งคำถามมากๆ ในช่วงหลังนี้

จนกระทั่งนาโต้เรียกร้องตรงไปที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ให้ทำอะไรมากขึ้นในยุโรป แทนที่จะทำอะไรมากมายในตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรของนาโต้ในยุโรปตะวันออกซึ่งกำลังหวาดกลัวรัสเซียเมื่อรัสเซียทำการผนวกดินแดนไครเมีย (Crimea) จากประเทศยูเครน (Ukraine) มาเป็นของรัสเซีย

ผลอันนี้เท่ากับได้ปรับย้ายทรัพยากร (กำลังทหารและบุคลากรด้านการทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีทางการทหาร และงบประมาณ ฯ เป็นต้น) ออกจากหน้าที่หลักของนาโต้ในการป้องกันทวีปยุโรป

 

ยุโรปและอื่นๆ ในอนาคต

กล่าวโดยสรุป ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ การแบกรับภาระทั้งงบประมาณและทรัพยากรต่อองค์การนาโต้ของชาติใหญ่ในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ปัญหาคนต่างชาติและการย้ายถิ่น อีกทั้งความไม่แน่นอนเมื่อ Brexit เกิดขึ้นเต็มที่ ยุโรปในปัจจุบันและอนาคตยุ่งยากอยู่ไม่น้อย

ทว่า สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของยุโรปหนักหนาสาหัสกว่าที่คิด และระบบต่างๆ จะรองรับได้เมื่อโรคระบาดใหญ่โควิดเข้าโจมตียุโรปอย่างรุนแรง

รัฐมนตรีคลังของอังกฤษคนปัจจุบันเพิ่งแถลงต่อสื่อมวลชนว่า เศรษฐกิจอังกฤษตกต่ำที่สุดในรอบ 300 ปี

เศรษฐกิจฝรั่งเศสก็ยิ่งย่ำแย่แล้วโรคระบาดใหญ่ยิ่งทำให้ฝรั่งเศสทรุดหนักยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง องค์การระหว่างประเทศด้านความมั่นคงทางทหารซึ่งมีประเทศสมาชิกถึงประเทศอย่างนาโต้จึงต้องทบทวนตัวเองและปรับวิสัยทัศน์ใหม่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปีคือปี 2030

ทว่า ข้อเสนอต่างๆ ที่ผลิตด้วยกลุ่มคน ที่เรียกว่า “คนฉลาด” ได้หยิบยกเรื่องที่องค์การระหว่างประเทศด้านการทหารต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด คือ การทะยานขึ้นของจีนในยุโรปและต่อยุโรปที่มิได้มีแค่สงครามการค้าและเทคโนโลยีเท่านั้น

ดังนั้น โลกในปี 2021 นาโต้กลไกการทหารของยุโรปคงต้องทำงานหนักทีเดียว

บทความของผมไม่ได้ต้องการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะไทยกับความเปลี่ยนแปลงและบทบาทของนาโต้และยุโรป

ทว่า เราควรทบทวนยุทธศาสตร์และกิจการต่างประเทศของไทยในภูมิภาคเอเชียที่มีจีนเป็นผู้เล่นหลักอย่างเข้าใจและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค

โลกในปี 2021 ท้าทายไทย ยิ่งพลวัตภายในดังว่า ยิ่งท้าทายครับ