ตำนาน “รัฐบาลขิงแก่” : บันได 9ขั้น สู่ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ สนองความต้องการฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

88 ปีระบอบทหารไทย (22) หลังรัฐประหาร 2549-2550

“ความแตกต่างพื้นฐานที่สำคัญระหว่างระบอบที่เป็นประชาธิปไตย กับระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็คือ การประท้วงมีความเสี่ยงในระบอบการปกครองแบบหลังมากกว่าในแบบแรก”

Xavier Marquez (2017)

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีส่วนอย่างสำคัญต่อการสร้างภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองไทย รัฐประหารครั้งนี้ทำลายความเชื่อเดิมทั้งหมดที่มองว่า รัฐประหารน่าจะหมดไปจากการเมืองไทยแล้ว เพราะเกิดความเปลี่ยนแปลง 2 ประการที่สำคัญในระดับโครงสร้าง

ได้แก่ ปัจจัยภายนอกคือ ภาวะ “โลกล้อมรัฐ” ของกระแสประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์

และขณะเดียวกันมีปัจจัยภายในคู่ขนานคือ กองทัพทั้งในเชิงสถาบันและเชิงตัวผู้นำมีบทเรียนอย่างมีนัยสำคัญจากความพ่ายแพ้ทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนหลายฝ่ายในสังคมไทยขณะนั้น เชื่ออย่างมั่นใจว่า รัฐประหาร 2534 “น่าจะ” เป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายในการเมืองไทย

ว่าที่จริงแล้วรัฐประหารครั้งใหม่ในปี 2549 ทิ้งระยะเวลาห่างจากรัฐประหารครั้งก่อนนานถึง 15 ปี

ซึ่งถ้าคิดในแบบของ “ทหารกับการเมืองไทย” แล้ว ก็อาจจะเป็นระยะเวลาพอสมควร จนอาจทำให้คนบางส่วนลืมเรื่องรัฐประหารไปแล้ว

ในอีกด้านหนึ่งก็แทบไม่น่าเชื่อว่าชนชั้นนำและผู้นำทหารใช้ระยะเวลา 14 ปีหลังจากความพ่ายแพ้ประชาชนบนท้องถนนที่กรุงเทพฯ เพื่อฟื้นสถานะของทหารใหม่

จนสามารถพากองทัพกลับเข้าสู่การคุมอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง

แต่ก็เป็นการเมืองที่ต่างไปจากเดิมอย่างมาก

ชื่อนั้นสำคัญไฉน!

การกลับเข้ามาเป็น “ผู้พิทักษ์” ในการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 ไม่ใช่เรื่องง่ายในแบบเดิม เพราะภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับนับตั้งแต่ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในเวทีโลกจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นอย่างเป็นทางการในปี 2534 และตามมาด้วยการขยายตัวของกระแสประชาธิปไตยในโลกาภิวัตน์ที่พัดไปทั่วทุกมุมของโลก

เช่นเดียวกับที่การเมืองไทยในปี 2535 และในปี 2540 บ่งบอกถึงชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยเช่นเดียวกับในเวทีโลก และในปี 2544 ภูมิทัศน์ยังถูกเปลี่ยนด้วยชัยชนะของพรรคไทยรักไทย

แต่ชนชั้นนำและผู้นำทหารตัดสินใจที่จะยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถ “ตีโต้กระแสประชาธิปไตย” ได้เสมอ

ชื่อของผู้ยึดอำนาจมาในแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อนคือ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คปค.)

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าพวกเขาจะแปลชื่อคณะรัฐประหารให้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเวทีสากลได้อย่างไร เพราะในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศแล้ว “รัฐประหารก็คือรัฐประหาร” ไม่ว่าจะถูกประกอบสร้างในชื่ออะไรก็ตาม

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือผู้นำทหารล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นเอง… ชื่อของคณะรัฐประหารไม่มีผลต่อการเปลี่ยนทัศนะของประชาคมโลกต่อการยึดอำนาจของทหารไทย

แต่กระนั้นก็เป็นความพยายามในการ “สื่อสารการเมือง” กับสังคมภายในเอง

แม้การยึดอำนาจจะโค่นรัฐบาลที่ฝ่ายตนไม่ปรารถนาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเข้าคุมการเมืองได้โดยง่าย

แต่ “โมเมนตัมของความเปลี่ยนแปลง” ที่ขับเคลื่อนการเมืองไทยมาก่อนแล้ว กลายเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับระบอบทหาร และมีความพยายามในการสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นข้ออ้างเรื่องนักการเมืองทุจริต นักการเมืองใช้อำนาจมิชอบในการครอบงำองค์กรอิสระ

ประเด็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

และปัญหาความรุนแรงที่อาจเกิดจาก “ม็อบชนม็อบ”

ซึ่งข้ออ้างเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองที่ขยายตัวในหมู่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยม และชุดความคิดเช่นนี้ยังสอดคล้องกับ “จริต” ทางการเมืองของชนชั้นกลางเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและ “ความไม่สะอาด” ของนักการเมือง

ชุดความคิดเช่นนี้ล้วนพุ่งเป้าหมายไปที่ “นักการเมือง-พรรคการเมือง-การเลือกตั้ง” ว่าเป็นต้นตอของปัญหา

ซึ่งทัศนะเช่นนี้ไม่ต่างจากผู้นำทหารและกลุ่มปีกขวาในละตินอเมริกาในยุคที่รัฐประหารเฟื่องฟู ว่าที่จริงแล้วชนชั้นนำและผู้นำทหารไทยไม่กล้าประกาศว่า พวกเขาต่อต้านประชาธิปไตย… รังเกียจประชาธิปไตย และไม่ต้องการที่จะยอมรับกระบวนการประชาธิปไตย

ความเสแสร้งเช่นนี้ทำให้พวกเขายังต้องใช้ชื่อคณะรัฐประหารที่มีคำว่า “ประชาธิปไตย” อยู่ด้วย

อย่างน้อยก็ทำให้สามารถ “สร้างภาพ” ทางการเมืองให้แก่บรรดาผู้สนับสนุนการรัฐประหารว่า พวกเขาไม่ได้รังเกียจประชาธิปไตย

รัฐบาลขิงแก่

รัฐบาลทหารถูกจัดตั้งขึ้นโดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี น่าแปลกใจว่าทำไมหัวหน้าคณะรัฐประหารคือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ไม่ได้เป็นผู้นำรัฐบาลในครั้งนี้ แม้แกนนำหลักจะมาจาก “นักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 6” ก็ตาม

และทุกอย่างดำเนินไปตาม “สูตรสำเร็จ” ของทหารไทย ที่หลังจากการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้แล้ว กลุ่มผู้ยึดอำนาจจะดำเนินการนิรโทษกรรมการกระทำต่างๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะรัฐประหาร

ซึ่งในอดีตได้เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 นาย ได้ฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจร กับคณะรัฐประหาร 2514 มาแล้ว แต่คดีไม่ถึงศาล เพราะจอมพลถนอมได้สั่งจำคุกผู้ฟ้องร้องในคดีดังกล่าว

แต่แม้คำฟ้องจะถึงศาล ก็คงถูกตีตกด้วยข้ออ้างว่า การยึดอำนาจได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว จึงไม่เป็นความผิด ผู้นำทหารสามารถอยู่รอดได้เสมอ

ในทุกการยึดอำนาจ สถาบันตุลาการจึงมีบทบาทอย่างสำคัญในการรับรองสถานะแห่งอำนาจ ที่สำคัญก็คือ

การรับรองเช่นนี้ทำให้ทุกฝ่ายเชื่อว่า “อำนาจ (ที่ยึดมาได้) คือความถูกต้อง”

ทั้งที่รัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น

แต่สุดท้ายในวงจรแห่งอำนาจ สถาบันตุลาการพร้อมที่จะเป็นผู้รับรองอำนาจรัฐใหม่ของทหารว่า เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วสังคมไทยก็รอการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยอิทธิพลของคณะรัฐประหาร อันนำไปสู่การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเวลาต่อมา

การดำเนินการทางการเมืองของผู้นำทหารเป็นสูตรสำเร็จในตัวเอง ซึ่งสามารถจัดลำดับเป็น “บันได 9 ขั้น” คือ

1) ทำรัฐประหาร

2) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

3) ประกาศนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร

4) จัดตั้งรัฐบาลทหาร

5) ตั้งสภานิติบัญญัติ

6) ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

7) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่

8) จัดการเลือกตั้งทั่วไป

9) จัดตั้งรัฐบาลใหม่…

ทุกคณะรัฐประหารดำเนินการในแบบแผนเดียวกัน เว้นแต่จะมีลำดับที่ 10 เพิ่มเติม เพราะสิ่งที่ผู้นำทหารมีความคาดหวังต่อจากการขึ้นบันไดทั้ง 9 ขั้นแล้ว คือ ผู้นำการยึดอำนาจกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่

รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ได้รับสมญาว่าเป็น “รัฐบาลขิงแก่” เพราะคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่มีอายุมาก และว่า ที่จริงแล้วรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในเชิงนโยบายมากนัก ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับความสำเร็จของรัฐบาลทักษิณที่ถูกโค่นลงอย่างเห็นได้ชัด

รัฐบาลทหารจึงมักพยายาม “ขายภาพลักษณ์” ของตัวผู้นำ เช่น ภาพของความเป็นนายทหารผู้ซื่อสัตย์

ภาพของการเป็นผู้สมานฉันท์ทางการเมือง เช่น การนำเสนอทิศทางใหม่ของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “ผมมาในวันนี้ ผมขอโทษแทนรัฐบาลที่แล้ว ผมขอโทษแทนรัฐบาลนี้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นความผิดส่วนใหญ่ของรัฐ…”

ซึ่งในที่สุดแล้ว คำกล่าวเช่นนี้ไม่ได้ส่งผลให้ความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวลดลงได้จริงแต่ประการใด แต่ก็สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของผู้นำทหารที่พยายามแสดงออก ในเชิงนโยบายภาคใต้ให้ต่างจากรัฐบาลทักษิณ

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ร่างเสร็จ และออกประกาศใช้เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งแล้ว พล.อ.สุรยุทธ์ตัดสินใจที่จะไม่กลับเข้าสู่เวทีการเมืองด้วยการสืบทอดอำนาจในแบบที่ผู้นำรัฐประหารเช่น จอมพลถนอม หรือ พล.อ.สุจินดาได้กระทำมา และนำไปสู่ความล้มละลายทางการเมืองมาแล้ว

การยอม “ลงจากหลังเสือ” มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ไม่ประสบกับความบอบช้ำทางการเมืองเช่นนายทหารทั้งสอง

และเป็นโอกาสให้เขาดำรงตำแหน่งองคมนตรีหลังเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว เช่นเดียวกับ พล.อ.เปรม และนายธานินทร์

ปืนผนึกค้อน!

ก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดในเดือนธันวาคม 2550 นั้น ได้เกิดความพยายามในการทำลายฝ่ายตรงข้ามด้วยการใช้อำนาจของสถาบันตุลาการ ให้เกิดการยุบพรรคไทยรักไทย และยังรวมถึงการยุบพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย

แม้มีความพยายามที่จะสร้างภาพของความเป็น “ตุลาการภิวัตน์” เพื่อโฆษณาว่าสถาบันตุลาการได้แสดงบทบาทในการเป็นผู้ปกป้อง “ความถูกต้องทางการเมือง” และการแสดงบทบาทเช่นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาทางการเมืองของประเทศ อันจะทำให้ประเทศ “ไม่ล่มจม” ตุลาการกลายเป็นผู้ชี้ขาดทางการเมือง

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ตุลาการธิปไตย” ที่มีนัยหมายถึงการขยายบทบาททางการเมืองของสถาบันตุลาการ และใช้อำนาจทางกฎหมายของสถาบันนี้เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ

มิได้มีความหมายถึงการใช้อำนาจของสถาบันดังกล่าวในการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด

ซึ่งก็สอดรับกับความเป็นอนุรักษนิยมของสถาบันตุลาการในฐานะผู้รับรองความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร

เพราะฝ่ายตุลาการจะไม่เป็นผู้ท้าทายฝ่ายบริหารที่ได้อำนาจมาด้วยการยึด แต่จะแสดงบทบาทเป็น “ผู้รับรอง” ทางกฎหมายเพื่อให้เกิดความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร

อำนาจของสถาบันตุลาการในการเป็น “ผู้เปลี่ยนแปลง” ทางการเมืองนั้น สอดรับกับอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองอย่างดียิ่ง เพราะการใช้อำนาจเช่นนี้จะทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยสามารถมี “อำนาจพิเศษ” ในการควบคุมพรรคการเมือง

และที่สำคัญยังมีนัยถึงอำนาจตุลาการในการควบคุมการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยอีกด้วย

อำนาจเช่นนี้บ่งบอกว่ากลุ่มอนุรักษนิยมในการเมืองไทยสมัยใหม่มีอำนาจในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทั้ง “เสนาธิปไตย” ที่พลังสูงสุดคือการทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ไม่ต้องการ

และในอีกด้านคือ “ตุลาการธิปไตย” ที่สามารถถอดถอนรัฐบาลที่ไม่พึงปรารถนาได้ด้วยกระบวนการทางศาล อันทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในการใช้อำนาจเช่นนี้ โดยเฉพาะในเวทีสากล เพราะการล้มรัฐบาลไม่ได้กระทำด้วยการยึดอำนาจ

พลังพิเศษของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เป็นการผนึกกำลังระหว่าง “ปืนและค้อน” เช่นนี้ ส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทย และผลพวงจากการประสานพลังเช่นนี้ทำให้การสร้างความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองไทยเกิดขึ้นได้ยาก

แต่อำนาจเช่นนี้ก็ตอบสนองต่อความต้องการของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี ดังเช่นการโค่นรัฐบาลในปี 2549 และการยุบพรรคในปี 2550!