“อิทธิพล คุณปลื้ม” ตอบคำถาม นั่ง รมว.วัฒนธรรมปีครึ่ง ทำไม “ข่าวเงียบ”

หลายคนคงอยากรู้ว่า “นายอิทธิพล คุณปลื้ม” นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เป็นเวลาปีกว่าแล้ว มีผลงานอะไรบ้าง เพราะดูเหมือนเป็นกระทรวงที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยจะปรากฏข่าวตามสื่อต่างๆ เหมือนกระทรวงอื่น

“มติชนสุดสัปดาห์” ได้มีโอกาสสนทนากับ รมว.วัฒนธรรม วัย 47 ปีผู้นี้ ในโอกาสไปเป็นประธานเปิดเสวนา “โครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค” จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ อ.บางแสน จ.ชลบุรี เมื่อไม่นานมานี้

ได้พูดคุยกันในหลากหลายประเด็น

: ช่วงปีกว่ามีผลงานอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจนบ้าง

งานด้านวัฒนธรรมของชาติเป็นงานที่อยู่กับทุกคนที่เป็นคนไทย ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมเน้นนโยบายในเรื่องการสืบสานงานด้านวัฒนธรรม เรื่องของการรักษาทางด้านภูมิปัญญา รวมถึงศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ

อีกส่วนคืองานต่อยอดนำวัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจ ในช่วงปีเศษที่ผ่านมา กระทรวงได้นำชุมชนที่มีความพร้อมเสริมศักยภาพ และสามารถต่อยอดในทางเศรษฐกิจได้

อีกส่วนหนึ่งนโยบายที่ขับเคลื่อนมาตลอดคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เรื่องชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปัญญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการนำสินค้าทางด้านวัฒนธรรมของชุมชนที่ได้รับการพัฒนามานำเสนอ เช่น ทำพิพิธภัณฑ์ชุมชน ทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

แต่เดิมกระทรวงวัฒนธรรมจะเน้นในเรื่องของการเก็บฐานข้อมูลและทำงานในเชิงอนุรักษ์ค่อนข้างมาก แต่ในช่วงปีที่ผ่านมามีปัญหาโควิดและปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ จึงนำวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจ

ยกตัวอย่างการยกระดับกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีทั้งระดับจังหวัดเป็นระดับประเทศ เช่น งานจังหวัดลพบุรี งานจังหวัดเพชรบูรณ์ อุบลราชธานี สกลนคร นราธิวาส นครศรีธรรมราช และจังหวัดหลักๆ เพื่อให้คนต่างภูมิภาครู้จักมากขึ้น

รวมถึงการให้ชุมชนที่มีการศึกษาเรียนรู้ทางด้านวัฒนธรรม เฉพาะพื้นถิ่น เฉพาะภาคอยู่แล้ว มีการเดินทางเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่กระทรวงดำเนินการต่อเนื่องมา คือการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งได้นำรายการมรดกวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 356 รายการ หยิบยกมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปสู่การเป็นวิสาหกิจและไปต่อยอดเป็นเศรษฐกิจได้ อย่างเช่น เรื่องของผ้าไทยพื้นถิ่น ผ้าทอ และงานหัตถกรรมที่จะพัฒนาเป็นสินค้าระดับภูมิภาคและระดับสากล

นอกจากนี้ เป็นเรื่องของการศึกษา เน้นเรื่องงานวัฒนธรรมศึกษา รวมถึงชุดหนังสือองค์ความรู้ในประเพณีสำคัญ พร้อมต่อยอดจากการที่ได้ขึ้นทะเบียนในมรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชาติ เช่น เรื่องของนวดแผนไทย เป็นต้น และยังมีงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีการพัฒนาข้อมูลในรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ประชาชนควรรับรู้ ควรรักษาอนุรักษ์และเดินทางท่องเที่ยว

“สรุปคือ ช่วงปีเศษที่ผ่านมาได้เน้นในเรื่องของพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่บ้านเรามีความแข็งแกร่งอยู่แล้วให้ประชาชนเกิดการรับรู้ โดยเชื่อมโยงทั้งในตลาดในประเทศไทย และในต่างประเทศ แม้อยู่ช่วงโควิด แต่ใช้เทคโนโลยีประชุมทางไกลใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์”

รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แหล่งท่องเที่ยวที่ภาคเอกชนทำขึ้น เช่น พิพิธภัณฑ์เอกชน หรือวัดวาอารามที่เป็นนิติบุคคลที่มีคนดูแลแล้วกระทรวงเข้าไปประสานงาน

ในภาพรวมคือ จะนำวัฒนธรรมไปต่อยอดทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งรัฐบาลเน้นเรื่องแผนบูรณาการร่วมกัน ไม่ใช่แค่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอย่างเดียว ตอนนี้มีทั้งท่องเที่ยว กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และกระทรวงมหาดไทย บางส่วนที่เป็นวิสาหกิจก็จะขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย และองค์การมหาชนด้วย เช่น สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และมีบางส่วนที่ทำร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมอยู่แล้ว อย่างหอภาพยนตร์ จะมีวัตถุดิบส่วนหนึ่งที่เก็บสะสมกันอยู่แล้ว จะนำมาเพื่อให้เกิดการเผยแพร่ และถ้าสามารถเผยแพร่ทางต่างประเทศแล้วเกิดการสร้างรายได้ก็จะดี

ดังนั้น ช่วงปีที่เศษที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมเน้นวัฒนธรรมเศรษฐกิจ วัฒนธรรมทำเงินมากขึ้น

อาจเป็นช่วงเวลาของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และเรื่องของการยกระดับ เรื่องของผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมในระดับประเทศเพื่อขยายฐานและสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน

: เท่าที่ฟังกระทรวงวัฒนธรรมทำเยอะ แต่ดูเหมือนผลงานจะไม่ค่อยปรากฏต่อสาธารณะ

มองว่าก็มีปัจจัยแวดล้อม อาจเป็นภาวะที่ประชาชนประสบปัญหาเรื่องของโควิดส่วนหนึ่ง และเรื่องของการดำเนินการเศรษฐกิจช่วงนี้อาจจะไม่เด่นชัดเพราะเศรษฐกิจเองก็มีปัญหาหลายด้าน ประเด็นวัฒนธรรมอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นหลัก แต่ถือเป็นงานสำคัญของประเทศ ต้องทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง คือวัฒนธรรมใดที่เริ่มมีคนสืบสานน้อยจะไม่ให้สูญหายไป ในขณะที่วัฒนธรรมที่มีศักยภาพมากจะยกระดับขึ้นมาโดดเด่นสร้างรายได้ก็ดำเนินการควบคู่กันไปด้วย ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโขน เรื่องการทักทาย น้ำใจไมตรีของไทย ยังเป็นชื่อเสียงระดับโลกก็จะรักษาสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้สูญหายไป

: ในปี 2564 มีโครงการอะไรใหม่ๆ บ้างไหม

มีทั้งเรื่องของหอศิลป์แห่งชาติที่จะเป็นเวทีกลางให้ศิลปินรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่อย่างศิลปินแห่งชาติ ใช้เป็นศูนย์ในการจัดแสดงงานด้านวัฒธรรม

งานด้านต่างประเทศก็ยังมีการเชื่อมโยงทั้งเทศกาลภาพยนตร์ นิทรรศการที่จะนำมาจัดแสดงในประเทศ และถ้าวิกฤตโควิดยังไม่คลี่คลาย ชาวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางมาได้

จะลงนามร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เพื่อนำมรดกภูมิปัญญาและงานทางด้านวัฒนธรรมที่อยู่ในพื้นถิ่นนั้นๆ มายกระดับ มาสร้างรายได้

: การทำงานที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคตรงไหน

ปัญหาก็คล้ายหน่วยราชการอื่น อาจมีบุคลากรไม่เพียงพอ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของเครือข่ายที่ยังขาดปัจจัยสนับสนุน ขณะเดียวกันเรื่องของการประยุกต์ศิลปะแขนงใหม่ๆ ที่เข้ามาในโลกโลกาภิวัตน์

กระทรวงเองไม่ต่อต้านวัฒนธรรมใหม่ เพียงแต่ต้องนำมาผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมไทยให้ได้ และไม่ให้เกิดการเสื่อมถอยทางด้านวัฒนธรรมด้วย

ว่าด้วยการเมือง

แบ่งขั้ว

ในพื้นที่ชลบุรี

: หลายคนมองว่านักการเมือง จ.ชลบุรี โดยเฉพาะนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน สนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลือง

คงไม่ได้สื่อในส่วนของทั้งจังหวัด เนื่องจากชลบุรีมีจำนวนประชากรที่หลากหลาย และใกล้กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมที่ประชาชนแสดงออกหลากหลาย ทั้งความเห็นทางการเมืองและความเห็นต่าง รวมถึงกิจกรรมที่เทิดทูนสถาบันด้วย แต่ก็ไม่สื่อว่าคนทั้งจังหวัดชลบุรีมีความเห็นต่างทางการเมือง หรือเกิดบรรยากาศความรุนแรง

ผมคนหนึ่งอยากรณรงค์ ถ้าเป็นประเด็นเรื่องการเมืองชลบุรีก็ไม่อยากให้ไปเพิ่มความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจระดับชาติ เพราะว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจนำอยู่แล้ว ถ้าถามประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปโดยไม่มีอุปสรรค เพราะฉะนั้น เรื่องของการแตกแยกทางการเมือง พวกเราไม่ปรารถนาให้เกิดอยู่แล้ว เพราะแนวทางการทำงานของตัวผมและการเมืองทางชลบุรี ต่างหลีกเลี่ยงเรื่องการขัดแย้งอยู่แล้ว

เรื่องความเห็นต่างที่จะนำไปสู่ความรุนแรง จะไม่นำการเมืองและตัวเองไปเป็นเงื่อนไขตรงนั้น

: ที่ผ่านมาคำสัมภาษณ์ของนายสุชาติ ชมกลิ่น เหมือนกับสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อเหลือง

อันนั้นเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลของท่าน เขาเป็น ส.ส.ก็อยากให้ประชาชนที่มีความรักและอยากจะแสดงออกต่อความคิดเห็นและจุดยืนของเขา แต่เรื่องความขัดแย้งของคนสองกลุ่มนั้นไม่อยากให้การเมืองหรือตัวบุคคลเป็นตัวเชื่อมในการสร้างความรุนแรง แต่อยากให้เป็นกรรมการแยกความรุนแรงมากกว่า

: มองอย่างไรที่ปัจจุบันมี 2 ฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแบ่งขั้วชัดเจน

ในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีสถาบันการศึกษา มีมหาวิทยาลัย มีโรงเรียนค่อนข้างมาก ทำให้กลุ่มคนที่อยู่ในวัยเรียนก็จะแสดงออกทางการเมือง และที่นี่ก็มีพื้นที่สาธารณะที่เปิดค่อนข้างมากทั้งพื้นที่ทางกลางแจ้ง พื้นที่ชายหาด พื้นที่ที่เป็นสะพาน รวมถึงพื้นที่ที่สามารถแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ได้ แต่ก็ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง

ดังนั้น นโยบายการจัดกิจกรรมในจังหวัดก็จะดูเรื่องความเหมาะสม และพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานที่อยู่ใกล้กันหรืออยู่ในเวลาเดียวกันเพราะจะทำให้เกิดปัจจัยนำไปสู่ความขัดแย้งได้

: กรณีกลุ่มราษฎรเรียกร้องอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก

ข้อเรียกร้องนี้อยากให้เป็นวิธีการที่ถูกต้อง ส่วนจะนำไปสู่การปฏิบัติมากแค่ไหน มันมีเงื่อนไขทางการเมืองและเงื่อนไขในเชิงปฎิบัติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็น้อมรับในความเห็นแตกต่าง แต่ด้านวิธีการและเรื่องของเงื่อนเวลาต้องมีจุดเหมาะสมลงตัว เราอยู่ในรัฐบาล มีแผนมาตรการการชุมนุมต่างๆ ก็ไม่อยากให้เกิดการกระทบกระทั่งกับภาพรวมเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ก็สามารถแสดงความคิดเห็นกันได้

: กังวลไหม เพราะมีการชุมนุมเรียกร้องกันอย่างต่อเนื่อง

ผมก็กังวลคล้ายประชาชนทั่วไป อยากให้สถานการณ์ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ข้อเรียกร้องก็สามารถเสนอข้อเรียกร้องกันไป แต่อยากให้เสนอข้อยุติ คงจะต้องขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายลดความขัดแย้ง ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็มีความเข้าใจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ก็มีขึ้นลงตามสถานการณ์ ไม่อยากให้สถานการณ์ยืดเยื้อ อยากให้ประชาชนทุกคนช่วยกันดูแลภาพรวม ไม่อยากให้เกิดเหตุรุนแรงเกินไป

ซึ่งครอบครัวเองก็มีส่วนสำคัญในการช่วยลดระดับความรุนแรง